รีเซต

‘เครือข่ายแรงงาน’ เยือนสภาหน 2 จี้ เยียวยาถ้วนหน้า แรงงานข้ามชาติ โวย รัฐไม่ดูแล แม้เสียภาษี

‘เครือข่ายแรงงาน’ เยือนสภาหน 2 จี้ เยียวยาถ้วนหน้า แรงงานข้ามชาติ โวย รัฐไม่ดูแล แม้เสียภาษี
มติชน
3 กุมภาพันธ์ 2564 ( 18:59 )
72
‘เครือข่ายแรงงาน’ เยือนสภาหน 2 จี้ เยียวยาถ้วนหน้า แรงงานข้ามชาติ โวย รัฐไม่ดูแล แม้เสียภาษี

เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ที่ หน้ารัฐสภา เกียกกาย “เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน” พร้อมด้วยมวลชนส่วนหนึ่ง รวมตัวกันเพื่อเรียกร้องการเยียวยาถ้วนหน้า แก่ผู้ประกันตน ม.33 และ แรงงานข้ามชาติที่อยู่ในระบบประกันสังคม เนื่องจากไม่พอใจนโยบายการเยียวยาที่ไม่ถ้วนหน้าของรัฐบาล โดยเมื่อวันที่ 26 มกราคมที่ผ่านมา เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน ได้รวมตัวเรียกร้องแล้ว 1 ครั้ง แต่ยังไม่มีความคืบหน้าสานต่อข้อเรียกร้อง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตัวแทนเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน ได้ยื่นหนังสือเพื่อติดตามเงินเยียวยาถ้วนหน้า กับ นายสุเทพ อู่อ้น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการแรงงาน โดยนายสุเทพให้สัญญาว่า จะติดตามความคืบหน้าและกดดันต่อนายกรัฐมนตรี ให้สั่งการไปยัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และคลัง ให้เยียวยาประชาชนโดยด่วน

 

สำหรับข้อเรียกร้องของเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน มีดังนี้

1.ข้อเรียกร้องรัฐต้องมีมาตรการเรื่องการแก้ไขละเมิดสิทธิแรงงานสถานการณ์การละเมิดสิทธิแรงงาน ที่นายจ้างกระทำโดยอ้างเหตุโควิด-19

ที่ผ่านมามีการเลิกจ้างผู้นำแรงงานหญิงโดยอ้างเหตุโรคระบาดเพื่อปิดบังเจตนาที่แท้จริงของนายจ้างที่ต้องการขัดขวางกระบวนการจัดตั้งสหภาพแรงงาน ดังนั้น รัฐต้องมีมาตรการในการตรวจสอบการเลิกจ้างที่เข้มงวด ไม่ผลักภาระให้ลูกจ้างเป็นผู้พิสูจน์ความผิด-ถูก

รัฐต้องมีมาตรการแก้ไข ปราบปราม ป้องกันการละเมิดสิทธิแรงงานอย่างเร่งด่วน สร้างความมั่นคงในอาชีพและรายได้ ให้แรงงานทุกกลุ่มอาชีพให้ได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรม

รัฐบาลต้องจัดหาอุปกรณ์ที่ได้มาตรฐานสากลในการป้องกัน โควิด-19 ให้กับ บุคคลากรทางการแพทย์ทุกคนที่ทำงานเกี่ยวข้อง และต้องจัดหาอุปกรณ์ความปลอดภัย เช่น หน้ากากอนามัย ให้กับประชาชนทุกคนอย่างเพียงพอ โดยรัฐบาลต้องจัดส่งให้ประชาชนถ้วนหน้า

รัฐต้องส่งเสริมความปลอดภัยในการทำงาน รวมถึงเอื้ออำนวยความสะดวกให้กับผู้หญิงในการเข้าถึงกองทุนช่วยเหลือในทุกโครงการฯ ที่รัฐบาลจัดทำเพื่อช่วยเหลือแรงงานในสถานการณ์ โควิด-19

2.ข้อเรียกร้องเรื่องการเยียวยาประชาชนอย่างถ้วนหน้า

รัฐต้องเยียวยาประชาชนทุกคนเป็นเงินสด เพื่อให้สะดวกต่อการเข้าถึงสำหรับประชาชนที่ไม่มีโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนหรืออินเทอร์เน็ต

รัฐต้องจัดหางบประมาณแผ่นดินส่วนอื่นมาเยียวยาประชาชน โดยไม่นำเงินจากกองทุนประกันสังคมมาใช้เด็ดขาด เพราะเงินประกันสังคมเป็นกองทุนที่มีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนในการใช้อยู่แล้ว

รัฐต้องจัดให้มีศูนย์เลี้ยงเด็กลูกคนงานในย่านอุตสาหกรรม และชุมชนอุตสาหกรรมโดยไม่ต้องคำนึงถึงการมีทะเบียนบ้านในพื้นที่ กล่าวคือ ทุกคนที่มีลูกก่อนปฐมวัยสามารถเข้าเรียนได้โดยไม่มีเงื่อนไข อีกทั้งต้องได้รับการสนับสนุนงบประมาณการศึกษา อุปกรณ์ และอาหาร จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในช่วงที่รัฐบาลประกาศปิดศูนย์เลี้ยงเด็กระหว่างมีโรคระบาด โควิด-19

3.ข้อเรียกร้องเรื่องการส่งเสริมสิทธิในสุขภาวะและอนามัยเจริญพันธ์สตรี

รัฐบาลต้องสนับสนุนงบประมาณในการส่งเสริมสุขภาวะ อนามัยเจริญพันธ์ที่ปลอดภัย ได้มาตรฐานสากล โดยต้องจัดให้ผู้หญิงหรือผู้ที่มีสภาพร่างกายเป็นหญิงสามารถเข้าถึงผ้าอนามัย ถ้วยอนามัย ฯลฯ ที่มีคุณภาพโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

รัฐบาลต้องสนับสนุนให้ผู้ที่มีสภาพร่างกายเป็นหญิงสามารถเข้าถึงบริการทำแท้งที่ ปลอดภัย เห็นคุณค่าความเป็นมนุษย์ของผู้ทำแท้ง โดยไม่มีการดำเนินคดีอาญาหรือตีตราผู้ทำแท้ง

ทั้งนี้ แรงงานหญิงชาวกัมพูชา กล่าวด้วยว่า ตนเป็นคนกัมพูชา ไม่ใช่ว่าไม่เสียภาษี ตนก็เสีย ต้องเสียค่าใบอนุญาตทำงาน ค่าวีซ่าด้วย

“จ่ายไป 12,500 บาท หนูพยายามเป็นคนถูกกฎหมาย แต่หนูถูกนายหน้าโกง ตอนนี้ยังไม่ได้วีซ่า ไปแจ้งตำรวจเขาก็บอกว่าช่วงโควิดไม่ทำงาน เพราะหนูเป็นต่างด้าวใช่ไหม หนูแจ้งความไปก็ไม่รับเรื่อง แค่อยากได้สิทธิของหนู เงินหนูก็จ่าย อยากให้รัฐบาลดูแลบ้าง” แรงงานหญิงชาวกัมพูชากล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง