รีเซต

อิสราเอล-ปาเลสไตน์ หรือเราจะเกลียดกันชั่วนิรันดร์

อิสราเอล-ปาเลสไตน์ หรือเราจะเกลียดกันชั่วนิรันดร์
TNN World
18 พฤษภาคม 2564 ( 11:09 )
186

การปะทะเข่นฆ่าครั้งหนักหน่วงที่สุดในรอบหลายปีระหว่างอิสราเอลและฉนวนกาซาในดินแดนปาเลสไตน์ ที่เริ่มต้นมาตั้งแต่วันจันทร์ที่ 10 พฤษภาคมที่ผ่านมา 

 

 

ถึงขณะนี้ หลังอิสราเอลโจมตีทางอากาศล่าสุดในช่วงเที่ยงคืนวันอาทิตย์ที่ 16 พฤษภาคม ซึ่งมีอาคารพังถล่มเพิ่มอีกหลายหลัง มีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีกหลายสิบราย 

 


ทางการกาซาแถลงว่า มีผู้เสียชีวิตไปแล้วอย่างน้อย 197 รายในฉนวนกาซา ซึ่งรวมทั้งชีวิตเด็กไร้เดียงสา 58 รายและผู้หญิงอีก 34 ราย บาดเจ็บ 1,235 ราย 

 

 


ชนวนความขัดแย้งครั้งล่าสุด


การต่อสู้กันดุเดือดมีขึ้นหลังเกิดความตึงเครียดที่ยืดเยื้อมานานหนึ่งเดือนก่อนเปิดศึกกันเต็มรูปแบบ 
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 13 เมษายน การปะทะปะทุขึ้นในพื้นที่ด้านตะวันออกของนครเยรูซาเลม ระหว่างชาวปาเลสไตน์และตำรวจอิสราเอล 


ชาวปาเลสไตน์โกรธแค้นกรณีที่อิสราเอลตั้งรั้วกั้นปิดเส้นทาง นอกทางเข้าประตูดามัสกัส (Damascus Gate) ที่จะเข้าไปยังเขตเมืองเก่า (Old City) ของเยรูซาเลม เพื่อป้องกันไม่ให้ชาวปาเลสไตน์เข้าไปรวมกลุ่มกันที่นั่น หลังชาวมุสลิมร่วมสวดมนต์ที่มัสยิดอัล-อัคซา ในเมืองเก่า ในคืนแรกของเดือนรอมฎอน เดือนศักดิ์สิทธิ์ของชาวมุสลิม


ชาวปาเลสไตน์ ‘แค้นจุกอก’ มาจากวันก่อนหน้าแล้ว เมื่อประธานาธิบดีมาห์มูด อับบาส ผู้นำปาเลสไตน์ เลื่อนการเลือกตั้งที่กำหนดไว้ โดยตำหนิอิสราเอลไม่ได้อำนวยความสะดวกในการจัดการเลือกตั้งสำหรับชาวปาเลสไตน์ในพื้นที่ด้านตะวันออกของเยรูซาเลม
กลุ่มฮามาส ซึ่งควบคุมกาซาและลงสู้ศึกเลือกตั้งครั้งนี้ด้วย แต่เป็นคู่แข่งและขัดแย้งกับประธานาธิบดีอับบาส  แสดงปฏิกิริยาไม่พอใจต่อการเลื่อนเลือกตั้งดังกล่าว 

 


รัฐบาลยิวพยายามขับไล่ปาเลสไตน์ออกไป


ต้นสายปลายเหตุของความขัดแย้งล่าสุด เป็นเพราะผู้ตั้งถิ่นฐานชาวยิว ขู่ขับไล่ครอบครัวชาวปาเลสไตน์ออกจากบ้านของพวกเขาในเขตชี้ค จาร์ราห์ ในพื้นที่ตะวันออกของเยรูซาเลม ก่อนการพิจารณาชี้ขาดของศาลฎีกา 


กลุ่มหัวรุนแรงฮามาส เรียกร้องให้ชาวอาหรับ ทำตัวเป็น “โล่มนุษย์เพื่อต่อต้าน” ขึ้นที่นั่น 


หลายวันหลังจากนั้น ตำรวจอิสราเอลและผู้ประท้วงชาวปาเลสไตน์ก็ปะทะกันบ่อยครั้งในพื้นที่ดังกล่าว จนกลายเป็นความแค้นสุมอกปาเลสไตน์ สถานการณ์ย่ำแย่ลงไปอีก เมื่อศาลฎีกาของอิสราเอล เลื่อนการไต่สวนกรณีการขับไล่ชาวปาเลสไตน์ในชี้ค จาร์ราห์ หลังมีกระแสเรียกร้องให้เลื่อนการไต่สวน เพราะความขัดแย้งทวีความรุนแรง 

 


เล่นกับไฟ ก็ต้องถูกไฟแผดเผา


ความตึงเครียดยังคงร้อนระอุ และการปะทะกันระหว่างตำรวจอิสราเอลและชาวปาเลสไตน์ในชี้ค จาร์ราห์ และที่บริเวณประตูดามัสกัส หนักหน่วงมากขึ้น


กลุ่มฮามาส ยื่นคำขาดให้อิสราเอล “ถอนกำลังทหาร ออกจากมัสยิดอัล-อัคซาและเมืองชี้ค จาร์ราห์ ภายในเวลา 18.00 น. ของวันจันทร์ที่ 10 พฤษภาคม เมื่อผ่านเลยกำหนดเส้นตายโดยที่อิสราเอลไม่สนองตอบ กลุ่มฮามาสก็เริ่มระดมยิงจรวดถล่มเยรูซาเลมเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี


แน่นอน เมื่อพวกเขากล้าเล่นกับไฟ สิ่งที่ตามมากลับหนักหน่วงรุนแรงยิ่งกว่า
นายกรัฐมนตรีเนทันยาฮู กล่าวว่า กลุ่มฮามาสบังอาจ “ล้ำเส้น” และอิสราเอลก็ตอบโต้ด้วยปฏิบัติการโจมตีทางอากาศ ถล่มอาคารสูงหลายแห่งในกาซา พร้อมสังหารแกนนำของกลุ่มฮามาสได้หลายคน การยิงตอบโต้กันไปมา ขยายความรุนแรงอย่างรวดเร็ว เป็นการนต่อสู้กันที่ดุเดือดที่สุดระหว่างสองฝ่าย ตั้งแต่พวกเขาทำสงครามกันครั้งล่าสุดในปี 2014

 

ย้อนรอยความขัดแย้ง : แค้นสุมอก 100 ปีไม่มีวันจาง


สหราชอาณาจักรเข้ายึดครองดินแดนที่รู้จักกันในชื่อปาเลสไตน์ หลังเข้าปกครองบางส่วนของตะวันออกกลาง ส่วนดินแดนที่กลายมาเป็นอิสราเอลในปัจจุบันนี้ ครั้งหนึ่งเคยอยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรออตโตมัน (Ottoman Empire)  มานานหลายร้อยปี หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและการล่มสลายของอาณาจักรออตโตมัน เนื่องจากแพ้สงครามโลกครั้งที่ 1 


ชาติมหาอำนาจฝ่ายสัมพันธมิตรที่มีชัยชนะในสงครามได้กำหนดให้สหราชอาณาจักรเข้ามาปกครองดินแดนที่ชื่อว่า ปาเลสไตน์ ซึ่งเป็นพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดน ขณะที่ชาวยิวเรียกดินแดนนี้ว่า แผ่นดินอิสราเอล ซึ่งต่อมาไม่นานก็ได้รับการรับรองจากองค์การสันนิบาตชาติ 


แต่ดินแดนปาเลสไตน์ที่สหราชอาณาจักรเข้ายึดครอง ผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ กลุ่มน้อยเป็นชาวยิว และชาวอาหรับเป็นชนกลุ่มใหญ่ ความตึงเครียดระหว่างคนสองกลุ่มนี้ คุกรุ่นรุนแรงขึ้นมาทันทีเมื่อประชาคมระหว่างประเทศมอบหมายให้สหราชอาณาจักรรับภาระสถาปนา “บ้านแห่งชาติของชาวยิว” (a national home for the Jewish people) ขึ้นในดินแดนปาเลสไตน์ 


เงื่อนไขในการให้สหราชอาณาจักรเข้ามาปกครองปาเลสไตน์ พร้อมสถาปนา "บ้านแห่งชาติ" กำหนดไว้ว่าจะต้องไม่เลือกปฏิบัติต่อสิทธิทางศาสนาและพลเมืองของชุมชนที่ไม่ใช่ชาวยิวที่อยู่ที่นั่น


สำหรับชาวยิวแล้ว พวกเขามองว่า นี่คือบ้านบรรพบุรุษของพวกเขา แต่ชาวอาหรับปาเลสไตน์เองก็อ้างกรรมสิทธิ์ครอบครองดินแดนแห่งนี้ว่าเป็นของบรรพบุรุษของพวกเขาเช่นกัน และต่อต้านการเคลื่อนไหวตั้งถิ่นฐานดังกล่าวของชาวยิว


ระหว่างทศวรรษที่ 1920 และ 1940 จำนวนชาวยิวที่เดินทางมายังดินแดนแห่งนี้เพิ่มมากขึ้น โดยมีจำนวนมากหลบหนีการเข่นฆ่าในยุโรป และบ่ายหน้าสู่ดินแดนมาตุภูมิหลังเกิดเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว (Holocaust) ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ความรุนแรงระหว่างชาวยิวและอาหรับ และการต่อต้านการปกครองของอังกฤษ รุนแรงมากขึ้นด้วย


สหราชอาณาจักรได้ส่งมอบปัญหานี้ให้สหประชาชาติ และสหประชาชาติลงมติเห็นชอบตามข้อเสนอให้แบ่งปาเลสไตน์ออกเป็นสองรัฐ คือ รัฐยิว และรัฐอาหรับ ในปี 1947 โดยมีพื้นที่เยรูซาเลม-เบธเลเฮม ให้เป็นเมืองนานาชาติ แน่นอนว่าแผนการนี้ได้รับการยอมรับจากผู้นำชาวยิวในปาเลสไตน์ แต่ถูกกลุ่มผู้นำอาหรับปฏิเสธและไม่เคยนำไปปฏิบัติ

 


การสถาปนาอิสราเอล : “ความหายนะ”


ในปี 1948 ซึ่งยังไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ สหราชอาณาจักรสิ้นสุดการปกครอง และออกจากดินแดนส่วนนี้ไป ทำให้บรรดาผู้นำชาวยิวประกาศสถานปนารัฐอิสราเอลขึ้นเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 1948 ยิวประกาศตั้งประเทศ แต่ก็ไม่ได้มีการประกาศเขตพรมแดนที่ชัดเจนของตัวเอง 


ชาวปาเลสไตน์จำนวนมากปฏิเสธ และสงครามก็เปิดฉากขึ้นทันทีในวันต่อมา เมื่อ 5 ชาติอาหรับที่เป็นศัตรูกับอิสราเอลส่งทหารบุกโจมตีอิสราเอล กลายเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามเอกราชอิสราเอล 


การสู้รบสิ้นสุดลงในปี 1949 โดยมีการหยุดยิงกันหลายครั้ง ทำให้มีการสร้างเส้นแบ่งเขตตามความตกลงสงบศึกชั่วคราวตามแนวพรมแดนอิสราเอลกับประเทศเพื่อนบ้าน และมีการสร้างพรมแดนของพื้นที่ที่รู้จักกันในชื่อ ฉนวนกาซา (อียิปต์ยึดครอง) เยรูซาเลมตะวันออก และเขตเวสต์แบงก์ (จอร์แดนยึดครอง) 


จะเห็นได้ว่าดินแดนของปาเลสไตน์ถูกจัดสรรปันส่วนออกหลายส่วน ประเทศอาหรับที่อยู่ติดกับอิสราเอลไม่ยอมรับอิสราเอล ทำให้พรมแดนของอิสราเอลยังคงถือว่าไม่ได้มีการกำหนด


ชาวปาเลสไตน์จำนวนมากหลบหนี หรือถูกบีบให้ทิ้งบ้านเรือนหนี

 

สิ่งที่พวกเขาเรียกว่า “อัล นัคบา” หรือ “ความหายนะ” 


เมื่อสงครามสิ้นสุดด้วยข้อตกลงหยุดยิง แต่อิสราเอลกลับควบคุมดินแดนส่วนใหญ่เอาไว้ 


จอร์แดนยึดดินแดนที่เป็นเขตเวสต์แบงก์ และอียิปต์ยึดฉนวนกาซา ส่วนเยรูซาเลม ถูกแบ่งกันระหว่างกองทัพอิสราเอล ยึดพื้นที่ด้านตะวันตก และกองทัพจอร์แดนยึดพื้นที่ด้านตะวันออก ที่เป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ และเพราะไม่เคยมีข้อตกลงสันติภาพ ทั้งสองฝ่ายก็จะตำหนิกันไปมา สงครามและการสู้รบจึงเกิดขึ้นต่อเนื่องในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา โดยสงครามครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่งที่ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงพรมแดนของอิสราเอล เกิดขึ้นในปี 1967 หรือที่รู้จักกันในชื่อ สงคราม 6 วัน (Six Day War) อิสราเอลบุกยึดเยรูซาเลมตะวันออกและเขตเวสต์แบงก์ พร้อมทั้งผนวกรวมเอาดินแดนส่วนใหญ่ของที่ราบสูงโกรันของซีเรีย รวมทั้งกาซาและคาบสมุทรไซไนของอียิปต์ ส่งผลให้พื้นที่ของดินแดนภายใต้การควบคุมของอิสราเอลเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่าตัว

 


ผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์พร้อมลูกหลานส่วนใหญ่ อาศัยอยู่ในกาซาและเวสต์แบงก์ ส่วนหนึ่งหนีไปอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน อย่างจอร์แดน ซีเรียและเลบานอน ทั้งพวกเขาและลูกหลานไม่เคยได้รับอนุญาตจากอิสราเอลให้เดินทางกลับมาตุภูมิเลย โดยอิสราเอลอ้างวา จะเป็นการครอบงำประเทศ และเป็นภัยคุกคามต่อการดำรงอยู่ของรัฐยิว เพราะฉะนั้น อิสราเอลยังคงยึดครองเวสต์แบงก์ และแม้ว่าจะถอนกำลังออกจากกาซาแล้ว แต่ยูเอ็นก็ยังคงมองว่า พื้นที่ส่วนใหญ่ยังเป็นดินแดนที่ถูกยึดครองอยู่

 


อิสราเอลรวบหัวรวบหางอ้างกรรมสิทธิ์เอาเยรูซาเลมทุกตารางนิ้วเป็นเมืองหลวงของประเทศ ขณะที่ชาวปาเลสไตน์อ้างเยรูซาเลมด้านตะวันออกเป็นเมืองหลวงของรัฐปาเลสไตน์ในอนาคต 

 


การกระทำเช่นนี้ไม่ได้รับการยอมรับจากประชาคมโลก จนกระทั่งสหรัฐฯ ได้เปลี่ยนแปลงจุดยืนอย่างเป็นทางการของสหรัฐฯ ในเรื่องนี้ ในสมัยของรัฐบาลประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ทำให้สหรัฐฯ กลายเป็นชาติมหาอำนาจชาติแรกที่ยอมรับเยรูซาเลมทั้งหมดเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล ขณะที่ประชาคมโลกยังคงเห็นว่า เยรูซาเลมตะวันออกและที่ราบสูงโกลัน เป็นดินแดนที่ถูกยึดครองอยู่
ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา อิสราเอลสร้างนิคมชาวยิวกระจัดกระจายอยู่ในพื้นที่เหล่านี้ และในปัจจุบันนี้ ก็มีชาวยิวกว่า 6 แสนคนอาศัยอยู่ในพื้นที่ยึดครอง แม้ชาวปาเลสไตน์จะบอกว่า สิ่งเหล่านี้ผิดกฎหมายภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ และเป็นอุปสรรคต่อสันติภาพ แต่อิสราเอลปฏิเสธ  

 

 


สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้?


มักเกิดความตึงเครียดบ่อยครั้งระหว่างอิสราเอลและชาวปาเลสไตน์ที่อาศัยอยู่ในเยรูซาเลมตะวันออก ฉนวนกาซาและเขตเวสต์แบงก์ มาโดยตลอด


กาซาถูกปกครองโดยกลุ่มติดอาวุธปาเลสไตน์ ที่เรียกตัวเองว่า “ฮามาส” ซึ่งสู้รบกับอิสราเอลมาแล้วหลายครั้ง และไม่เคยเข็ด แม้แสนยานุภาพด้านอาวุธจะสู้กันไม่ได้ แต่ก็จะสู้ 


อิสราเอลและอียิปต์ช่วยกันคุมเข้มตามแนวพรมแดนกาซา เพื่อหยุดยั้งการส่งอาวุธให้กลุ่มฮามาส ขณะที่ชาวปาเลสไตน์ในกาซาและเขตเวสต์แบงก์ กล่าวว่า พวกเขาทุกข์ทรมานมากเหลือเกินกับการกระทำและการควบคุมของอิสราเอล แต่อิสราเอลก็อ้างว่า เป็นเพียงการกระทำเพื่อปกป้องตัวเองจากความรุนแรงของปาเลสไตน์


สถานการณ์หลายอย่างเริ่มตึงเครียดตั้งแต่เริ่มต้น “รอมฎอน” เดือนศักดิ์สิทธิ์ของชาวมุสลิมกลางเดือนเมษายน 2021 มีการปะทะกันในเวลากลางคืนระหว่างตำรวจอิสราเอลและชาวปาเลสไตน์หลายครั้ง การไล่ที่ครอบครัวชาวปาเลสไตน์ในเยรูซาเลมตะวันออก ไม่ต่างจากการราดน้ำมันใส่กองเพลิงด้วยเช่นกัน เพราะทำให้ชาวปาเลสไตน์ยิ่งโกรธแค้นมากขึ้น

 

 

ปัญหาหลักคืออะไร?


มีหลากประเด็นปัญหาที่อิสราเอลและปาเลสไตน์ไม่สามารถตกลงกันได้ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ ประกอบไปด้วย ปัญหาผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ การตั้งถิ่นฐานชาวยิวในเขตยึดครองเวสต์แบงก์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง