อาชีพแรงงานไทย และอัตราค่าจ้าง ในอิสราเอล
ความต้องการแรงงานต่างชาติในอิสราเอลมีจำนวนมาก โดยเฉพาะในสาขาอาชีพที่ใช้แรงงานไร้ฝีมือ งานสกปรก อันตราย และงานหนัก ซึ่งชาวอิสราเอลไม่ต้องการทำ แต่ทางการอิสราเอลอนุญาตนำเข้าแรงงานต่างชาติใน 4 ประเภทกิจการเท่านั้น คือ ภาคงานเกษตร , ภาคการก่อสร้าง , ภาคงานบริการ (ดูแลคนชราและผู้พิการ) และภาคอุตสาหกรรมบริการ และร้านอาหาร ทั้งนี้ในปัจจุบันอิสราเอลมีแรงงานไทยอยู่ประมาณ 25,000 คน
นอกจากนี้ รัฐบาลอิสราเอลมีการควบคุมและกำหนดโควต้าการนำเข้าแรงงานต่างชาติทุกปีโดยในปีพ.ศ. 2549 ได้กำหนดโควตาอนุญาตให้จ้างแรงงานต่างชาติ ดังนี้
1. ภาคก่อสร้าง จำนวน 15,000 คน โดยได้เปลี่ยนแปลงระบบการจ้างงาน ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2548 เป็นต้นมา โดยให้บริษัทจัดหางานอิสราเอลที่รัฐบาลคัดเลือกจำนวน 42 บริษัทเป็นนายจ้างแทนที่ให้ผู้รับเหมาก่อสร้างเป็นนายจ้างเช่นเดิม บริษัทจัดหางานเหล่านี้จะได้โควตาวีซ่าจากรัฐบาลโดยตรง เป็นผู้รับผิดชอบจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้าง ทำประกัน รวมทั้งจัดสวัสดิการต่าง ๆ ให้ลูกจ้างของตนด้วย ซึ่งโควต้าจำนวน 15,000 คนนี้ รวมถึงแรงงานต่างชาติที่ทำงานก่อสร้างในประเทศอิสราเอลอยู่แล้ว โดยรัฐบาลอิสราเอลจะพิจารณาให้นำเข้าต่อเมื่อมีแรงงานคนเก่าเดินทางออกนอกประเทศไปแล้ว เป็นการนำเข้าเพื่อทดแทนแรงงานเก่าเท่านั้น (เฉพาะผู้เชี่ยวชาญที่มีเงินเดือนตั้งแต่ 14,000 เชคเกล (145,000 บาท) เท่านั้นที่จะได้รับอนุญาตให้ทำงานต่อไป)
2. งานอุตสาหกรรมบริการและร้านอาหาร ได้แยกโควต้าเป็นงานอุตสาหกรรมบริการ จำนวน 1,500 คน และงานในร้านอาหารที่ต้องการผู้ชำนาญงานและมีฝีมือ ซึ่งคนอิสราเอลทำไม่ได้ เช่นประกอบอาหารไทย ญี่ปุ่น จีน จำนวน 1,150 คน (กิจการโรงแรมในเมือง Eilat ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญทางภาคใต้ของประเทศ ไม่อนุญาตให้จ้างแรงงานต่างชาติเลยโดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2550)
3. งานเกษตร จำนวน 26,000 คน โควต้างานเกษตร 26,000 คนนี้ รวมถึงคนงานเกษตรที่กำลังทำงานในประเทศอิสราเอลด้วยซึ่งโดยปกติในเดือนมกราคมของทุกปี หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือกระทรวงมหาดไทยอิสราเอล กระทรวงเกษตร และกระทรวงอุตสาหกรรม การค้าและแรงงานของอิสราเอล จะมีการพิจารณาทบทวนจำนวนโควตางานเกษตร โดยในเบื้องต้นกำหนดให้นายจ้างเก่าที่มีแรงงานต่างชาติแล้วและมีวีซ่าว่างแต่ต้องการแรงงานเพิ่ม ต้องจ้างแรงงานต่างชาติผิดกฎหมายที่ถูกจับกุมก่อน และให้เวลาแก่นายจ้างที่มีลูกจ้างเป็นแรงงานต่างด้าวซึ่งตนต้องการจ้างต่อไปให้ไปต่อวีซ่าที่กระทรวงมหาดไทยภายในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเมื่อทุกคนต่อวีซ่าให้ลูกจ้างของตนแล้วจะทำให้ทราบว่ามีแรงงานส่วนที่ขาดเท่าใด จึงจะอนุญาตให้นายจ้างนั้น ๆ นำเข้าแรงงานใหม่ไปทำงานแทนคนงานเดิมซึ่งเดินทางกลับ หรือเปลี่ยนนายจ้างใหม่
4. งานดูแลคนชราและผู้พิการ ในปี 2549 ทางการอิสราเอลไม่จำกัดจำนวนโควต้าเพราะมีคนชราและผู้พิการต้องการคนดูแลมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็น ประกอบกับคนอิสราเอลไม่นิยมทำงานนี้ หรือถ้าจ้างคนอิสราเอลต้องจ้างในอัตราค่าจ้างสูงมาก อย่างไรก็ตาม ก่อนจะอนุญาตจ้างแรงงานต่างชาติ จะมีการตรวจสอบ หากเห็นว่าจำเป็นจึงจะอนุญาตให้จ้างได้ เนื่องจากเป็นธุรกิจที่มีความต้องการแรงงานต่างชาติมาก ขณะนี้จึงมีบริษัทจัดหางานอิสราเอลที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าแรงงานต่างชาติไปทำงานดูแลคนชรา คนป่วย และผู้พิการในประเทศอิสราเอลประมาณ 400 บริษัท (ไม่มีโควต้า อนุญาตให้จ้างตามความจำเป็นของ นายจ้างแต่ละราย ซึ่งต้องผ่านการตรวจสอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง)
ภาษีหรือค่าธรรมเนียมในการจ้างแรงงานต่างชาติ ( ต่อคนงาน 1 คน /การจ้างงาน 1 ปี )
– กรณีงานเกษตร นายจ้างจะต้องจ่ายเงินค่าอนุญาตในการจ้างแรงงานต่างชาติทำงานจำนวน 1,695 เชคเกล (16,300 บาท) โดยจ่ายที่กระทรวงอุตสาหกรรม การค้า และแรงงาน จำนวน 1,415 เชคเกล (13,610 บาท) จ่ายที่กระทรวงมหาดไทยเมื่อคนงานเดินทางไปทำงานแล้ว จำนวน 1,180 เชคเกล (11,350 บาท)
– กรณีงานดูแลคนชราและผู้พิการ นายจ้างต้องจ่ายค่าธรรมเนียมทั้งหมดรวม 395 เชคเกล (3,800 บาท) โดยจ่ายที่กระทรวงอุตสาหกรรม การค้าและแรงงาน จำนวน 250 เชคเกล (2,400 บาท) และค่าวีซ่าที่กระทรวงมหาดไทย จำนวน 145 เชคเกล
– กรณีงานก่อสร้าง นายจ้างต้องจ่ายค่าธรรมเนียมทั้งหมดรวม 6,945 เชคเกล (66,800 บาท)โดยจ่ายที่ กระทรวงอุตสาหกรรม การค้าและแรงงานจำนวน 6,800 เชคเกล (65,400 บาท) และค่าวีซ่าที่กระทรวงมหาดไทย 145 เชคเกล (1,400 บาท)
– กรณีงานบริการและร้านอาหาร นายจ้างต้องจ่ายธรรมเนียมรวม 4,780 เชคเกล (46,000 บาท) โดยจ่ายค่าคำขออนุญาตจ้างแรงงานต่างชาติที่กระทรวงอุตสาหกรรม การค้าและแรงงาน จำนวน 500 เชคเกล (4,800 บาท) และจ่ายค่าธรรมเนียมการจ้างแรงงานต่างชาติ จำนวน 4,135 เชคเกล (40,000 บาท) และค่าวีซ่าอีก 145 เชคเกล (1,400 บาท) ที่กระทรวงมหาดไทย ( 1 เชคเกล เท่ากับ 8.50 บาท โดยประมาณ )
การจ้างแรงงาต่างนชาติตามระบบใหม่
เนื่องจากแรงงานต่างชาติที่เดินทางไปทำงานในประเทศอิสราเอล ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงในการเดินทางไปทำงานในประเทศอิสราเอล ทำให้ประเทศอิสราเอลถูกนานาชาติตำหนิว่าใช้ประโยชน์จากแรงงานต่างชาติเสมือนทาส ทำให้ภาพพจน์ของประเทศเสียหาย
รัฐบาลอิสราเอลจึงมีนโยบายลดค่าใช้จ่ายของแรงงานต่างชาติในการเดินทางไปทำงานในประเทศอิสราเอล โดยมอบหมายให้องค์กรระหว่างประเทศสำหรับการอพยพแรงงาน ( International Organization for Migration หรือ I.O.M ) เป็นผู้จัดส่งแรงงานต่างชาติไปทำงานในประเทศอิสราเอล
โดยเริ่มจากประเทศไทยเป็นประเทศแรก หากได้ผลจะได้ขยายไปสู่การนำแรงงานต่างชาติไปทำงานในภาคอุตสาหกรรมอื่น ๆ ในประเทศอิสราเอลและกับประเทศอื่นต่อไป ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือของกระทรวงแรงงานของไทยกับ I.O.M
แรงงานต่างชาติ และแรงงานไทยในอิสราเอล
อิสราเอลไม่มีทรัพยากรธรรมชาติ จึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยรัฐบาลอิสราเอลลงทุนอย่างสูงในด้านการศึกษาของประชาชน ทำให้อิสราเอลเป็นหนึ่งในประเทศที่มีแรงงานที่มีการศึกษาสูงสุดประเทศหนึ่งของโลก แรงงานไร้ฝีมือในอิสราเอลส่วนใหญ่เป็นชาวยิวโพ้นทะเล จากรัสเซีย และยุโรปตะวันออกที่เข้าไปตั้งรกรากในอิสราเอล รวมทั้งแรงงานต่างชาติที่เข้าไปทำงานในประเทศอิสราเอล อาทิ แรงงานโรมาเนีย ตรุกี ไทย จีน และฟิลิปปินส์ เป็นต้น
แรงงานไทยได้เริ่มเข้าไปทำงานในอิสราเอลตั้งแต่ปี 2523 งานที่ทำในระยะแรกได้แก่ พ่อครัว แม่ครัว และช่างฝีมือต่างๆ อาทิ ช่างเชื่อม ช่างแอร์ ช่างซ่อมรถยนต์ ในปี 2527 จำนวนแรงงานไทยได้เพิ่มขึ้นเป็นพันคน โดยเข้าไปทำงานในรูปอาสาสมัครตามคิบบุตส์ และโมชาฟ ในปี 2537 หลังจากปิดพรมแดนอิสราเอลกับเขตยึดครองเพื่อป้องกันปัญหาการก่อการร้ายจากกลุ่มปาเลสไตน์หัวรุนแรง ทางการอิสราเอลได้อนุญาตให้มีการนำเข้าแรงงานต่างชาติแทนคนงานปาเลสไตน์ในภาคก่อสร้าง และภาคเกษตร คนไทยจึงเริ่มเข้าไปทำงานในอิสราเอลมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงจำนวนเกือบ 26,000 คนในปัจจุบัน โดยทำงานในชุมชนอิสราเอลที่เรียกว่า Kibbutz จำนวน 267 แห่ง และในชุมชนอิสราเอลที่เรียกว่า Moshav จำนวน 448 แห่งทั่วประเทศ
โมชาฟ (Moshav) คือหมู่บ้านสหกรณ์การเกษตร ปกครองตนเองภายในชุมชนแบบประชาธิปไตย มีสมาชิกแต่ละแห่งประมาณ 60-200 ครอบครัว แต่ละครอบครัวสามารถมีที่ดินเพื่อทำการเกษตรของตนเอง มีบ้านของตนเอง มีเครื่องมือทำการเกษตรของตนเอง โดยโมชาฟรับผิดชอบด้านการตลาด และจัดซื้อเครื่องมือเครื่องใช้ให้สมาชิกในราคาถูก รวมทั้งจัดการให้สมาชิกทุกคนได้ใช้น้ำและที่ดินเท่าเทียมกัน
คิบบุตส์ (Kibbutz) คือชุมชนที่มีลักษณะคล้ายคอมมูน ซึ่งสมาชิกเป็นเจ้าของทรัพย์สินร่วมกัน และได้รับการแบ่งปันผลกำไรตามผลงานที่ทำได้ในแต่ละปีแรงงานไทยในอิสราเอลส่วนใหญ่ทำงานในฐานะคนงานภาคเกษตร โดยสามารถยึดตลาดแรงงานภาคเกษตรได้เกือบทั้งหมด อัตราการเรียกรับค่าบริการสำหรับแรงงานไทยไปทำงานภาคเกษตรในประเทศอิสราเอลอยู่ระหว่าง 60,350 – 350,000 บาท (ประมาณ 1,700 – 10,000 เหรียญสหรัฐ) ซึ่งค่าบริการและค่าใช้จ่ายที่เก็บจากคนหางานนี้ บริษัทจัดหางานในประเทศไทยต้องจ่ายให้บริษัทจัดหางานอิสราเอลสำหรับค่าการตลาด ค่าดูแลคนงานตลอดสัญญาจ้าง ค่าบัตรโดยสารเครื่องบินเที่ยวกลับ ค่าประกันสุขภาพสำหรับ 2 ปีแรก และจ่ายให้นายจ้างอีกจำนวนหนึ่งด้วย แต่การจ่ายเงินของคนหางานให้กับบริษัทจัดหางานในประเทศไทยมักไม่มีหลักฐานการรับเงินตามจำนวนที่จ่ายจริง สำหรับกรณีที่คนหางานจ่าย 60,750 บาท นั้น ไม่มีการจ่ายให้นายจ้างแต่อย่างใด และไม่รวมค่าบัตรโดยสารเครื่องบินขากลับ
สัดส่วนของแรงงานต่างชาติในอิสราเอลได้รับอนุญาตให้ทำงาน 4 สาขา ได้แก่
– ภาคเกษตร แรงงานไทยถือครองตำแหน่งงานในสาขานี้มากที่สุดถึงกว่าร้อยละ 95
– ภาคบริการและร้านอาหาร ในอิสราเอล คนไทยครองตำแหน่งเป็น Chef และ Cook มากที่สุดถึงร้อยละ 95 ในร้านอาหารไทย จีน และญี่ปุ่น
– ภาคก่อสร้าง แรงงานชาติโรมาเนีย จีน และตุรกีถือครองตำแหน่งมากที่สุด
– ภาคดูแลคนชราและผู้พิการ แรงงานฟิลิปปินส์ถือครองตำแหน่ง ร้อยละ 95
ข้อมูล : กระทรวงแรงงาน
ข่าวเกี่ยวข้อง :
- เปิดตำนาน ยัสเซอร์ อาราฟัด ผู้นำปาเลสไตน์ผู้ยิ่งใหญ่
- รู้จัก "เบนจามิน เนทันยาฮู" ผู้นำทัพอิสราเอล ถล่มปาเลสไตน์
- ปาเลสไตน์ คือประเทศอะไร? มีบทบาทอะไรในเวทีโลก?
- ย้อนรอยความแค้น 'อิสราเอล-ปาเลสไตน์' นานกว่า 100 ปี
- จุดยืนผู้นำโลกสั่นคลอน! โจ ไบเดน อนุมัติขายอาวุธให้อิสราเอล
- แรงงานไทยเสียชีวิต 2 คน เจ็บ 8 คน เหตุกลุ่มติดอาวุธฮามาสยิงจรวดถล่มอิสราเอล
- วัน 'ฮารีรายอ' (อีฎิ้ลฟิตริ) : ย้อนรู้จักดินแดน 'นครศักดิ์สิทธิ์' ในอิสราเอล