โลกร้อนฉุดไม่อยู่! ฝนถล่มหนักจนเมืองจมน้ำ สัญญาณเตือนโลกร้อนที่สหรัฐกลัว

ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าปรากฏการณ์ฝนตกหนักแบบเฉียบพลันกำลังกลายเป็นเรื่องปกติใหม่ (new normal) ในสหรัฐอเมริกา และ “ภาวะโลกร้อน” เป็นตัวเร่งสำคัญที่ทำให้พายุฝนมีความรุนแรงมากขึ้นกว่าอดีต กล่าวคือ บรรยากาศที่ร้อนขึ้นสามารถกักเก็บไอน้ำได้มากขึ้น เมฆฝนจึงสะสมความชื้นได้มากกว่าสมัยก่อน และตกลงมาในปริมาณที่มากขึ้นในระยะเวลาอันสั้น
เหตุการณ์ในเท็กซัสครั้งนี้สะท้อนปรากฏการณ์ดังกล่าวอย่างชัดเจน เพราะแม้พายุโซนร้อนแบร์รี่จะอ่อนกำลังลงหลังพัดขึ้นฝั่งเม็กซิโก แต่ความชื้นที่หลงเหลือในอากาศรวมกับอุณหภูมิพื้นดินที่ร้อนระอุและอากาศอุ่นจากอ่าวเม็กซิโก ทำให้เกิดเมฆฝนหนาแน่นที่เท็กซัสและกลายเป็นฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง
พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดอยู่ในบริเวณที่เรียกว่า “Flash Flood Alley” ซึ่งมีลักษณะภูมิประเทศเป็นเนินเขาหินปูนที่ไม่สามารถซึมซับน้ำได้ดี เมื่อน้ำปริมาณมากไหลลงจากที่สูง น้ำจึงไหลเร็วและแรงจนกลายเป็นน้ำท่วมฉับพลันที่อันตรายอย่างยิ่ง
ข้อมูลจาก “National Climate Assessment” ระบุว่า ปัจจุบันฝนที่ตกหนักที่สุดในรัฐเท็กซัสมีปริมาณเพิ่มขึ้นราว 20% เมื่อเทียบกับช่วงทศวรรษ 1950 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอีกเรื่อย ๆ ในอนาคตอันใกล้ตามภาวะโลกร้อน รายงานล่าสุดปี 2024 โดยนักอุตุนิยมวิทยาของรัฐยังชี้ว่าเหตุการณ์ฝนสุดขั้วเหล่านี้จะเกิดถี่ขึ้นกว่าที่เคย ไม่ใช่แค่เท็กซัสเท่านั้นที่เผชิญกับปัญหานี้ ทั่วทั้งสหรัฐฯ กำลังเผชิญพายุฝนที่รุนแรงขึ้น ทั้งจากพายุเขตร้อนหรือพายุเฮอร์ริเคนที่พัดขึ้นฝั่งแล้วเคลื่อนตัวเข้าแผ่นดิน เช่นที่เคยเกิดขึ้นกับพายุ “ไอดา” เมื่อปี 2021 ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากในรัฐทางตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งที่ศูนย์กลางพายุอยู่ห่างออกไปไกลในหลุยเซียนา
สิ่งที่น่ากังวลไม่แพ้กันคือข้อมูลที่ล้าหลังและโครงสร้างพื้นฐานที่ยังไม่ทันรับมือกับสถานการณ์ฝนสุดขั้วในปัจจุบัน หลายพื้นที่ในสหรัฐฯ ยังคงใช้ “ข้อมูลฝนในอดีต” จากสำนักงาน NOAA (องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ) ในการออกแบบระบบระบายน้ำ ถนน และการก่อสร้างต่าง ๆ ซึ่งไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน
เช่นในเขตแฮร์ริส ซึ่งรวมถึงเมืองฮิวสตัน การปรับปรุงข้อมูลฝนครั้งล่าสุดในปี 2018 พบว่า พายุฝนที่มีโอกาสเกิดขึ้นเพียง 1% ต่อปีในอดีต ซึ่งเคยตกประมาณ 13 นิ้ว ปัจจุบันกลับตกถึงเกือบ 18 นิ้ว ส่งผลให้ถนนหลักกว่า 1 ใน 3 ของพื้นที่กลายเป็นจุดเสี่ยงน้ำท่วม และทำให้แผนรับมือน้ำท่วมของรัฐต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นถึง 200 ล้านดอลลาร์
ในขณะเดียวกัน NOAA กำลังอยู่ระหว่างการปรับปรุงข้อมูลฝนทั่วประเทศให้ทันสมัยและสอดคล้องกับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีความแน่ชัดว่าการปรับปรุงข้อมูลเหล่านี้จะล่าช้าออกไปหรือไม่ ภายใต้รัฐบาลที่มีแนวโน้มลดงบประมาณหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อม
น้ำท่วมครั้งใหญ่ในเท็กซัสจึงไม่ใช่แค่เหตุการณ์พิเศษเฉพาะจุด แต่เป็นสัญญาณเตือนสำคัญถึง “พายุลูกต่อไป” ที่อาจรุนแรงและเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ หากโลกยังร้อนขึ้น และหากสังคมยังไม่เร่งปรับตัวให้เท่าทันกับภัยพิบัติที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป
Tag
ยอดนิยมในตอนนี้
