รีเซต

รฟท.ปิดดีลส่งท้ายปีเซ็นสร้าง 'รถไฟทางคู่ 2 สายใหม่' มูลค่า 1.28 แสนล้าน

รฟท.ปิดดีลส่งท้ายปีเซ็นสร้าง 'รถไฟทางคู่ 2 สายใหม่' มูลค่า 1.28 แสนล้าน
มติชน
29 ธันวาคม 2564 ( 12:09 )
74

เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า บ่ายวันนี้ รฟท.จะมีการเซ็นสัญญาก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ 2 เส้นทาง จำนวน 5 สัญญา วงเงินรวม 128,378 ล้านบาท ได้แก่ ช่วงเด่นชัย – เชียงราย – เชียงของ ระยะทาง 323 กิโลเมตร วงเงิน 72,920 ล้านบาทและช่วงบ้านไผ่ – มุกดาหาร – นครพนม ระยะทาง 355 กิโลเมตร วงเงิน 55,458 ล้านบาท เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน และให้ผู้รับเหมาได้เตรียมพร้อมการเริ่มงานก่อสร้าง หลังโครงการล่าช้ามานานแล้ว

 

สำหรับผู้รับเหมาสายเด่นชัย – เชียงราย – เชียงของ ประกอบด้วย สัญญาที่ 1 ช่วงเด่นชัย-งาว ระยะทาง 103 กิโลเมตร มี บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) ร่วมกับ บมจ.เนาวรัตน์พัฒนาการ เป็นก่อสร้างวงเงิน 26,568 ล้านบาท

 

สัญญาที่ 2 งาว-เชียงราย ระยะทาง 132 กิโลเมตร มีกลุ่มกิจการร่วมค้า CKST ประกอบด้วย บมจ. ช.การช่าง ร่วมกับบมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น เป็นผู้ก่อสร้างวงเงิน 26,900 ล้านบาท

 

และสัญญาที่ 3 เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 87 กิโลเมตร กลุ่มกิจการร่วมค้า CKST ประกอบด้วย บมจ. ช.การช่าง ร่วมกับบมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น เป็นผู้ก่อสร้างวงเงิน 19,390 ล้านบาท

 

ส่วนช่วงบ้านไผ่ – มุกดาหาร – นครพนม สัญญาที่ 1 ช่วงบ้านไผ่-หนองพอก ระยะทาง 180 กโลเมตร ราคามีบจ. เอ.เอส. แอสโซซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1964) จอยต์เวนเจอร์กับบริษัทรับเหมาท้องถิ่นเป็นผู้ก่อสร้าง 27,100 ล้านบาท และสัญญาที่ 2 ช่วงหนองพอก-สะพานมิตรภาพ 3 ระยะทาง 175 กิโลเมตร มีบมจ. ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จอยเวนเจอร์ เป็นผู้ก่อสร้าง วงเงิน 28,310 ล้านบาท

 

“ปี 2565 ทั้ง 2 โครงการจะทยอยเวนคืนที่ดินและส่งมอบพื้นที่ให้ผู้รับเหมาเริ่มงานก่อสร้าง ตามแผนสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ จะสร้างเสร็จในปี 2571 และสายบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนมจะเสร็จในปี 2568” นายนิรุฒ กล่าว

 

นายนิรุฒ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2564 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ลับ ที่ 147/2564 แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการประกวดราคาก่อสร้างทางรถไฟทางคู่ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ 2560 มีนายดนัย มู่สา ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ

 

โดยคณะกรรมการมีความเห็นว่า การประมูลทั้งหมดถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไม่พบพฤติกรรมสมยอมในการร่วมประกวดราคาของเอกชนที่เข้าร่วมประมูล และหากเปิดประมูลใหม่จะทำให้ราคากลางของโครงการสูงขึ้น ในช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ จะเพิ่มขึ้น 4,600 ล้านบาท ส่วนบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม เพิ่มขึ้น 2,900 ล้านบาท

“เมื่อเคลียร์ทุกอย่างจบตามขั้นตอน รถไฟจึงได้กำหนดลงนามในสัญญาวันนี้” นายนิรุฒ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง