รีเซต

นายกฯ แถลง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ประจำปี 2567

นายกฯ แถลง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ประจำปี 2567
ทันหุ้น
3 มกราคม 2567 ( 16:47 )
50
นายกฯ แถลง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ประจำปี 2567

นายกฯ แถลง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท ย้ำรัฐบาลดำเนินการตามกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐ 

 

นายกรัฐมนตรี แถลง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท ย้ำรัฐบาลดำเนินการตามกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐ ใช้จ่ายเงินภาษีของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เป็นจำนวนไม่เกิน 3,480,000,000,000 บาท สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายของหน่วยรับงบประมาณ เป็นจำนวน 3,361,638,869,500 บาท  เพื่อชดใช้เงินคงคลัง เป็นจำนวน 118,361,130,500 บาท

 

ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 รัฐบาลมีความจำเป็นต้องดำเนินนโยบายงบประมาณขาดดุล เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้มีความต่อเนื่อง โดยประมาณการจัดเก็บรายได้จากภาษีอากร การขายสิ่งของและบริการ รัฐพาณิชย์ และรายได้อื่น รวมสุทธิจำนวน 2,912,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.4 จากปีก่อน และหักการจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 125,800 ล้านบาท คงเหลือเป็นรายได้สุทธิที่สามารถนำมาจัดสรรเป็นรายจ่ายของรัฐบาล จำนวน 2,787,000 ล้านบาท  

 

สำหรับงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567  เป็นการดำเนินนโยบายงบประมาณแบบขาดดุล โดยกำหนดรายได้สุทธิ จำนวน 2,787,000 ล้านบาท และเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 693,000 ล้านบาท  รวมเป็นรายรับ จำนวน 3,480,000 ล้านบาท เท่ากับวงเงินงบประมาณรายจ่ายจากการเพิ่มขึ้นของประมาณการรายได้ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567  จะทำให้รัฐมีรายได้ 2,787,000 ล้านบาท  หรือเพิ่มกว่าร้อยละ 11.9  ทำให้รัฐบาลมีการกู้ชดเชยการขาดดุลงบประมาณลดลงจากปีงบประมาณที่ผ่านมา  และสามารถตั้งงบประมาณชำระคืนต้นเงินกู้  การชดใช้เงินคงคลัง และการตั้งงบประมาณรายจ่ายลงทุนที่เพิ่มขึ้นได้


ทั้งนี้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้ประเมินไว้ว่า เศรษฐกิจในปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 2.7 - 3.7 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของภาคการส่งออก การอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมทั้งการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงจากการลดลงของแรงขับเคลื่อนด้านการคลัง ภาระหนี้สินภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจยังอยู่ในระดับสูง ผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งต่อผลผลิตภาคการเกษตร ความเสี่ยงจากการชะลอตัวมากกว่าที่คาดการณ์ของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก ท่ามกลางความเสี่ยงจากความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์และความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกที่ยังอยู่ในเกณฑ์สูง โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในช่วงร้อยละ 1.7 – 2.7 และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 1.5 ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ 

ตัวเลขการประเมินข้างต้นอาจถูกกระทบโดยปัจจัยที่คาดไม่ถึงในอนาคต เช่น ภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศ ราคาพลังงานที่ผันผวน การเกิดขึ้นของเทคโนโลยีสมัยใหม่ และปัจจัยอื่นๆ ในอนาคต

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง