กุยลิ้มฮึ้ง ร้านยาสมุนไพรจีนร้อยปี แห่งถนนเยาวราช กับหมออากงที่รักษาผู้คนมานานกว่า 70 ปี
ศาสตร์สมุนไพรจีน คือหนึ่งในภูมิปัญญาที่มีชื่อเสียงของจีนมาอย่างยาวนาน และยังเป็นที่นิยมของผู้คนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะกับร้าน ‘กุยลิ้มฮึ้ง’ ร้านยาสมุนไพรจีน ที่ตั้งอยู่บนถนนสายเลือดไทยจีน มานานนับร้อยปี และมีทายาทสืบทอดต่อมาถึง 4 ช่วงอายุคน
---‘กุยลิ้มฮึ้ง’ ร้านยาจีนร้อยปี---
“กุยลิ้มฮึ้ง แปลว่า ร้านยานี้ มันอยู่ในสวนอบเชย อยู่สวนที่ร่มรื่น สามารถช่วยรักษาคนไข้ได้” หมออากง ชายชรา หน้าตายิ้มแย้มใจดี วัย 88 ปี อธิบายถึงความหมายของชื่อร้าน
ประกอบ กอร์ปอริยจิต หรือคนทั่วไปเรียกกันว่า ‘หมออากง’ ทายาทรุ่นที่ 2 แห่งร้านยาสมุนไพรจีน ‘กุยลิ้มฮึ้ง’ ที่เปิดมาตั้งแต่ปี 1907 บนถนนเยาวราช
“พ่อผมมาจากเมืองจีน แล้วไปทำงานอยู่ที่โรงสี พ่อผมมีความรู้ด้านการรักษา ใช้ยาจีนสมุนไพร เพราะคนสมัยนั้นหาหมอยาก พ่อผมก็เริ่มจากรักษาคนที่เจ็บป่วยไม่สบาย ก็ใช้ยาจีนมาตลอด ใช้ยาจีนมาก ๆ แล้ว มีคนไข้เยอะขึ้น ก็เลยมาตั้งร้านสมุนไพรรักษาโรค จากนั้นมาคนเลื่อมใส และมารักษาอยู่เรื่อย ๆ จนถึงปัจจุบันนี้” อากง กล่าว
“พ่อผมมาตั้งร้านนี้ ตั้งแต่ผมยังไม่เกิด ปีนี้ผมก็อายุ 88 ปีแล้ว”
อากง กล่าวว่า คนไข้ที่มารักษามาจากหลายพื้นที่ ทั้งเหนือสุดใต้สุด รวมถึงยังมีหลากหลายช่วงอายุคน ส่วนใหญ่จะมาด้วยโรคไต โรคตับ โรคลำไส้ และโรคปอด
---ประสบการณ์รักษากว่า 70 ปี---
อากง บอกว่า สมัยก่อนโรงเรียนสอนหนังสือนั้นมีค่อนข้างน้อย ทำให้อากงต้องค่อยช่วยพ่อทำงานตั้งแต่อายุ 13-14 ปี และเข้ามาสืบทอดกิจการแบบเต็มตัวเมื่ออายุ 21 ปี จนถึงตอนนี้ อากงยึดถืออาชีพหมอยาจีนมานานกว่า 70 ปีแล้ว
“เพราะไม่ได้ไปเรียนหนังสือ เลยต้องอยู่แต่บ้าน ทำงานช่วยพ่อเกี่ยวกับเรื่องยาสมุนไพร สมัยก่อนมีพวกยาสมุนไพร ยาสด ก็ต้องคอยเก็บพวกยาสด และก็จะมีพวกสมุนไพรมาจากเมืองจีนด้วย” อากง กล่าว
“ร้านยาสดแถวนี้ แต่ก่อนมี 7-8 ร้าน แต่ว่าการรักษาเขาไม่ค่อยจริงจัง รักษาไม่ค่อยได้ผล เขาก็ค่อย ๆ ปิดไป จนถึงป่านนี้ เวลานี้ ก็เหลือแค่ร้านเดียว”
---สมุนไพร คือ อาหาร---
เมื่อถามอากงว่า เพราะอะไรสมุนไพรจีนยังคงเป็นที่นิยมจนถึงปัจจุบัน อากงตอบว่า สมุนไพรจีนมันมาจากอาหารก่อน ใช้กินแล้วทำให้ร่างกายสบาย คนเขาก็จดจำว่า สมุนไพรนี้กินแก้อาการไม่สบายได้
“ยาสมุนไพรจีนมันเป็นพวกอาหาร มันไม่มีสารเคมี ไม่มีพิษไม่มีภัย กินมากกินน้อยก็ทำให้ร่างกายสุขสบาย มันไม่ใช่พวกสารเคมีเหมือนยาแผนปัจจุบัน กินมากเดี๋ยวก็ไตเสียบ้าง ตับเสียบ้าง ลำไส้เสียบ้าง ยาจีนไม่มีปัญหาอันนี้”
“สมุนไพรจีนที่เขานิยม ส่วนมากก็พวกเหย่งเซียม ปักคี้ เน็กกุ่ย พวกนี้เป็นยาเสริมกำลังแรงควาย ให้คนมีกำลังแรงควายแข็งแรง” อากง กล่าว
ธนากร เลียวสงวน หนึ่งในคนที่ใช้ยาสมุนไพรจีนรักษา กล่าวว่า ได้มารู้จักและเข้ามารักษาที่ร้านกุยลิ้มฮึ้งเมื่อเดือนที่แล้ว เพราะเป็นคนที่ไตไม่ค่อยแข็งแรงมานาน เมื่อได้ทานยาสมุนไพรจีน รู้สึกว่าร่างกายดีขึ้นมา 60% และไปเช็คค่าไตก็ดีขึ้น
---4 ขั้นตอนแห่งการรักษา---
อากง กล่าวว่า ถ้าหากคนไข้มาที่ร้านกุยลิ้มฮึ้ง จะมีขั้นตอนในการตรวจทั้งหมดอยู่ 4 อย่าง นั่นคือ ม่อ, เฉียก, มึ่ง และบุ๋ง เพื่อวินิจฉัยโรค ก่อนที่จะจัดยาสมุนไพรที่เหมาะสมให้แก่ผู้ป่วย
“‘ม่อ’ เมื่อคนไข้เข้ามาถึงเราก็ต้องดูคนไข้ ‘เฉียก’ คือ จับชีพจร, ‘มึ่ง’ คือ ถามอาการของคนไข้ ‘บุ๋ง’ ก็คือ ฟังเสียงของคนไข้ เข้ามาหอบไหม อยู่นิ่งไหม มีอาการถอนหายใจไหม ขั้นตอนการรักษา ม่อ, เฉียก, มึ่ง, บุ๋ง มี 4 อย่างนี้”
---การค้นคว้าคือหัวใจสำคัญ---
แม้ว่าร้านกุยลิ้มฮึ้งจะอยู่มายาวนานกว่าร้อยปีแล้ว และเป็นที่นิยมของผู้ที่สนใจด้านศาสตร์สมุนไพร แต่อากง บอกว่า การค้นคว้าสิ่งใหม่ ๆ คือเรื่องที่สำคัญของการเป็นหมอยาจีน
“การจัดทำร้านยา การรักษาโรค ก็ต้องขึ้นอยู่กับคนที่ตั้งตัวขึ้นมา จะค้นคว้า จะรักษาว่า เราใช้ยานี้แล้ว เราต้องคอยสังเกตว่า ยานี้ใช้แล้วได้ผลแค่ไหน ตัวยานี้ใช้ได้ผลมากหรือน้อย เราก็จะหาตัวยาอีกตัวหนึ่งมาเสริม ก็ทำให้การรักษาได้ผลมากขึ้น” อากง กล่าว
นอกจากนี้ อากง บอกว่า หากมีใครที่สนใจศาสตร์สมุนไพรจีน ก็สามารถเข้ามาศึกษาและเรียนรู้กับอากงได้เสมอ
---เราต้องให้คนไข้รู้สึกมี ‘ศักดิ์ศรี’---
ปัจจุบัน ร้านกุยลิ้มฮึ้งมีทายาทที่คอยรับช่วงต่อมาถึงรุ่นที่ 4 แล้ว แต่อากงก็จะคอยออกตรวจคนไข้อยู่เป็นประจำ แม้ร่างกายจะเข้าล่วงสู่ช่วงวัยชราแล้ว พร้อมกับคอยสั่งสอนลูกหลานให้ยึดหลักคุณธรรมและเอื้อเฟื้อต่อคนไข้เสมอ
“เรารักษาคนไข้ หนึ่งเราต้องให้คนไข้เขาสบายใจ เราไม่จับคนไข้ให้ตกต่ำ ให้กำลังใจคนไข้ว่าเขายังมีศักดิ์ศรีอยู่ในสังคม คนเราต้องมีศักดิ์ศรีมีกำลังใจ มีกำลังใจมีศักดิ์ศรีแล้วโรคมันก็จะหายได้เยอะขึ้น”
“การรักษาคือการช่วยคนไข้ การช่วยคนไข้เราต้องช่วยทุก ๆ คน ไม่ว่าเขามีเงิน ไม่มีเงิน คนยากจน คนร่ำรวย เราต้องใช้หลักรักษาอย่างเดียวกัน” อากง กล่าว
—————
เรื่อง-ภาพ: พรวษา ภักตร์ดวงจันทร์