คลังเปิดแนวทางช่วยเหลือลูกหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ
วันนี้ (28ต.ค.63) กระทรวงการคลัง โดยสถาบันการเงินเฉพาะกิจ มีแนวทางช่วยเหลือเพิ่มเติมให้แก่ผู้ประกอบวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises : SMEs) ที่ได้รับการชะลอการชำระหนี้ตามพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (พ.ร.ก. Soft Loan) รวมทั้งมีแนวทางที่ชัดเจนในการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs และลูกหนี้รายย่อยที่อยู่ระหว่างได้รับการพักชำระหนี้ตามมาตรการของแต่ละสถาบันการเงินเฉพาะกิจแต่ละแห่งด้วย โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. แนวทางการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับการชะลอการชำระหนี้ตาม พ.ร.ก. Soft Loan
กระทรวงการคลังมอบหมายให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจเร่งติดต่อและหารือกับลูกหนี้แต่ละรายเพื่อกำหนดการช่วยเหลือที่สอดรับกับสถานการณ์ของลูกหนี้แต่ละราย (tailor-made) ตามแนวทางของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยมีกรอบการดำเนินงานสำหรับผู้ประกอบการ SMEs กลุ่มต่าง ๆ ดังนี้
1.1 ผู้ประกอบการ SMEs ที่ยังได้รับผลกระทบสูงจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19) และยังไม่สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้หรือมีรายได้ไม่แน่นอน สถาบันการเงินเฉพาะกิจสามารถขยายระยะเวลาการชะลอการชำระหนี้ทั้งเงินต้นและ/หรือดอกเบี้ยได้ไม่เกิน 6 เดือนนับจากสิ้นปี 2563 เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกหนี้กลุ่มดังกล่าวมีสถานะเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loans : NPLs) และสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 คลี่คลาย
1.2 ผู้ประกอบการ SMEs ที่เริ่มกลับมาดำเนินธุรกิจได้แต่ธุรกิจยังไม่ฟื้นตัวเนื่องจากยังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 สถาบันการเงินเฉพาะกิจจะเร่งปรับโครงสร้างหนี้ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2563 เพื่อให้เงื่อนไขการจ่ายหนี้เหมาะสมกับสถานการณ์ของลูกหนี้และลดภาระของลูกหนี้กลุ่มดังกล่าวในระยะยาว
1.3 ผู้ประกอบการ SMEs ที่มีความพร้อมและสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้ สถาบันการเงินเฉพาะกิจจะรับชำระหนี้ตามปกติ เพื่อลดภาระของลูกหนี้ตลอดระยะเวลาสัญญาเนื่องจากลูกหนี้ยังต้องรับภาระดอกเบี้ยในช่วงที่ได้รับการพักชำระหนี้
2. แนวทางการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับการพักหนี้ตามมาตรการอื่น ๆ ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ
กระทรวงการคลังมีนโยบายให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจดำเนินการช่วยเหลือลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างการพักชำระหนี้ภายใต้มาตรการอื่น ๆ ตามสถานการณ์ของลูกหนี้แต่ละรายและบริบทของระบบเศรษฐกิจ ดังนี้
2.1 การขยายระยะเวลาพักชำระหนี้ให้กลุ่มลูกหนี้ที่ยังไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้หรือมีรายได้ไม่แน่นอนจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เช่น พักชำระหนี้เงินต้นและ/หรือดอกเบี้ยในระยะเวลาที่เหมาะสมกับสถานการณ์ลูกหนี้แต่ละราย เป็นต้น แต่ไม่ควรเกิน 6 เดือนนับจากสิ้นปี 2563 เพื่อบรรเทาภาระในการชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้กลุ่มดังกล่าว ทั้งนี้ ให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจติดตามเพื่อดูแลลูกหนี้แต่ละรายอย่างใกล้ชิดและคำนึงถึงผลประโยชน์ของลูกหนี้ในระยะยาวด้วย
2.2 การปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อให้เงื่อนไขการชำระหนี้สะท้อนความสามารถในการชำระหนี้ในช่วงเวลานี้และให้ลูกหนี้ดำเนินชีวิตหรือธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง สถาบันการเงินเฉพาะกิจจะเร่งปรับโครงสร้างหนี้ ให้แก่ลูกหนี้ ทั้งผู้ประกอบการ SMEs และรายย่อย โดยให้คำปรึกษาทางการเงินแก่ลูกหนี้ที่ต้องการปรับโครงสร้างหนี้ และเสนอแนวทางการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เช่น การลดค่างวด การขยายระยะเวลาการชำระหนี้ เป็นต้น และให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจเข้าร่วมโครงการ DR BIZ สำหรับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ลูกหนี้ธุรกิจ พร้อมทั้งให้ความรู้และทักษะในการดำเนินธุรกิจที่สอดคล้องกับบริบทของระบบเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป
2.3 การให้สินเชื่อเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มสภาพคล่องและเป็นแหล่งเงินทุนให้แก่ผู้ประกอบการเพื่อปรับโครงสร้างธุรกิจให้เหมาะสมกับพัฒนาการของแต่ละอุตสาหกรรม และเป็นแหล่งเงินทุนให้แก่ประชาชนรายย่อยเพื่อใช้ในการประกอบอาชีพหรือใช้จ่ายในการดำรงชีพ เช่น การเสริมสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการที่เริ่มกลับมาดำเนินธุรกิจโดยเฉพาะผู้ประกอบการในพื้นที่หรืออุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบสูง การเพิ่มแหล่งทุนให้องค์กรการเงินชุมชนและวิสาหกิจชุมชนเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก การเพิ่มแหล่งทุนให้แก่แรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ต้องการผันตัวเองเป็นผู้ประกอบการ การเป็นแหล่งทุนให้ผู้ประกอบการในการปรับโครงสร้างธุรกิจเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน เป็นต้น
2.4 การให้แรงจูงใจแก่ลูกหนี้ที่มีศักยภาพกลับมาชำระหนี้ตามปกติเพื่อลดภาระหนี้ของลูกหนี้ตลอดระยะเวลาสัญญาและป้องกันปัญหาวินัยทางการเงิน (Moral Hazard) เช่น การลดดอกเบี้ย การคืนเงินบางส่วนเพื่อเป็นรางวัลให้ลูกหนี้ที่กลับมาชำระหนี้เป็นปกติหรือมีประวัติการชำระหนี้ดี เป็นต้น เพื่อช่วยลดภาระให้แก่ผู้ประกอบการและประชาชน อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มสภาพคล่องให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจสามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้อีกด้วย
ทั้งนี้ ความร่วมมือของลูกหนี้และสถาบันการเงินเฉพาะกิจเป็นปัจจัยสำคัญเพื่อให้การดำเนินการตามแนวทางข้างต้นมีประสิทธิภาพสูงสุดและบรรลุวัตถุประสงค์ กระทรวงการคลังมอบหมายให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจถือเป็นภารกิจสำคัญในการติดตามช่วยเหลือลูกหนี้ทุกรายอย่างใกล้ชิด และขอความร่วมมือให้ลูกหนี้ติดต่อสถาบันการเงินเฉพาะกิจเพื่อให้ได้รับความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที
กระทรวงการคลังมีความมุ่งหมายให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวอย่างเต็มกำลังความสามารถและคำนึงถึงผลประโยชน์ของลูกหนี้ ซึ่งจะสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs และลูกหนี้รายย่อยได้อย่างตรงจุดและตอบสนองความต้องการของลูกหนี้ได้อย่างแท้จริง และยังเป็นการป้องกันไม่ให้ลูกหนี้เปลี่ยนสถานะเป็น NPLs ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบธุรกิจ SMEs มีเวลาเพียงพอในการปรับตัว ทั้งการปรับโครงสร้างหนี้ด้วยความช่วยเหลือจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจภายใต้การกำกับของกระทรวงการคลังและการปรับโครงสร้างธุรกิจของตัวเอง ซึ่งจะส่งผลดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของประเทศภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19
เกาะติดข่าวที่นี่
website: www.TNNTHAILAND.com
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE