รีเซต

ทป.ดึงนักออกแบบพัฒนาหีบห่อจีไอ ขึ้นชั้นสินค้าพรีเมี่ยม เพิ่มมูลค่าสินค้า

ทป.ดึงนักออกแบบพัฒนาหีบห่อจีไอ ขึ้นชั้นสินค้าพรีเมี่ยม เพิ่มมูลค่าสินค้า
มติชน
9 กันยายน 2564 ( 14:35 )
83

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา(ทป.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมเดินหน้ายกระดับสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) โดยได้ดำเนินโครงการพัฒนาบรรจุภัณฑ์สินค้า GI ไทย เพื่อพัฒนาปรับปรุงรูปลักษณ์ของบรรจุภัณฑ์ให้โดดเด่น ทันสมัย สวยงาม เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มทางการตลาดให้สินค้า GI โดยเชิญนักออกแบบมืออาชีพมีประสบการณ์และผลงานด้านการออกแบบบรรจุภัณฑ์ระดับแนวหน้าของประเทศ ร่วมกันสร้างสรรค์ ต่อยอด พัฒนาสินค้าชุมชนผ่านการบรรจุภัณฑ์อันทรงคุณค่าให้แก่สินค้า GI ไทย และได้คัดเลือกผู้ผลิต ผู้ประกอบการสินค้า GI จำนวน 10 รายการ เพื่อเข้าสู่การพลิกโฉมยกระดับบรรจุภัณฑ์

 

 

สำหรับสินค้า GI ที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ ได้แก่ 1. กล้วยเล็บมือนางชุมพร (Chumphon Lady finger Banana) 2. กาแฟเมืองกระบี่ (Muang Krabi Coffee) 3. ข้าวหอมมะลิอุบลราชธานี (Ubon Ratchathani Hom Mali Rice) 4.ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ (Sisaket Volcanic Area Durian) 5. นิลเมืองกาญจน์ (Muang Kan Black Spinel) 6. ปลาแรดลุ่มน้ำสะแกกรังอุทัยธานี (Uthai Thani Sakae Krang River Basin Gourami Fish) 7. แปจ่อเขียวแม่สอด (Pae Jor Khaew Maesod Bean) 8. ผ้าหม้อห้อมแพร่ (Mor Hom Phrae Fabric) 9. ส้มโอทองดีบ้านแท่น (Thong Dee Ban Thaen Pomelo) และ 10. ส้มโอหอมควนลัง (Khuan Lang Aromatic Pomelo)

 

 

นายวุฒิไกร กล่าวต่อว่า กรมเชิญนักออกแบบและผู้ประกอบการสินค้า GI มาร่วมพูดคุยเกี่ยวกับข้อมูลสินค้า และสอบถามความต้องการของผู้ประกอบการ เป็นการประชุม 3 ฝ่าย เพื่อหาแนวทางในการออกแบบให้บรรจุภัณฑ์ที่ออกแบบมาช่วยเพิ่มมูลค่าให้สินค้า และผู้ประกอบการสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริงแล้ว และหลังจากการประชุม 3 ฝ่าย นักออกแบบได้นำข้อมูลจากการประชุมร่วมกัน ไปออกแบบบรรจุภัณฑ์และตราสินค้าให้ผู้ประกอบการ 3 แบบ เพื่อเลือกนำไปใช้จริง 1 แบบ เมื่อผู้ประกอบการเลือกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ชอบ และที่ใช่แล้ว นักออกแบบก็จะนำแบบที่ผู้ประกอบการเลือกใช้ปรับแบบให้ตรงตามระเบียบของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ใส่ข้อมูลให้ครบถ้วน สำหรับการผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์เพื่อใช้งานจริง โดยกรมได้ผลิตบรรจุภัณฑ์ให้ผู้ประกอบการได้นำไปใช้งานจริงมีมูลค่ารายละ 30,000 บาทอีกด้วย

 

 

“มั่นใจว่าโครงการพัฒนาบรรจุภัณฑ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย จะช่วยพัฒนา ต่อยอด และยกระดับสินค้า GI ไทย ให้เกิดภาพลักษณ์ที่โดดเด่น สามารถถ่ายทอดอัตลักษณ์ของสินค้า GI ไทย หลอมรวมกับบรรจุภัณฑ์ให้เกิดความเป็นหนึ่งเดียวอันทรงคุณค่าของท้องถิ่นได้อย่างงดงาม ส่งผลในการสร้างความแข็งแกร่ง และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า GI ไทย เป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ผลิตและผู้ประกอบการสามารถขายสินค้าได้ในราคาที่สูงขึ้น และช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร ผู้ผลิตสินค้าชุมชนและยกระดับเป็นสินค้าพรีเมี่ยมได้ตามเป้าหมาย”นายวุฒิไกร กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง