รีเซต

สวิตเซอร์แลนด์สร้างอุปกรณ์ฟื้นฟูผู้ป่วย “อัมพาต” ให้กลับมาเดินได้อีกครั้ง

สวิตเซอร์แลนด์สร้างอุปกรณ์ฟื้นฟูผู้ป่วย “อัมพาต” ให้กลับมาเดินได้อีกครั้ง
TNN ช่อง16
26 พฤษภาคม 2566 ( 12:01 )
57
สวิตเซอร์แลนด์สร้างอุปกรณ์ฟื้นฟูผู้ป่วย “อัมพาต” ให้กลับมาเดินได้อีกครั้ง

เกิร์ต-ยาน ออสคัม (Gert-Jan Oskam) เป็นผู้ป่วยจากอาการอัมพาตโดยอุบัติเหตุร้ายแรงในประเทศจีนที่ต้องนั่งรถเข็นผู้พิการมาตั้งแต่ปี 2010 และช่วงเวลาปาฏิหาริย์ก็เกิดขึ้นจากการที่เขาได้รับอุปกรณ์จากสวิตเซอร์แลนด์ที่ช่วยทำให้เขาสามารถกลับมาเดินด้วยตัวเองได้อีกครั้ง


อุปกรณ์รักษาอาการอัมพาต

ผู้ป่วยเป็นอัมพาตนั้นเกิดจากการที่สมองไม่สามารถสั่งการส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ เนื่องจากอุบัติเหตุหรือโรคที่เกี่ยวข้องกับสมองได้ทำลายระบบประสาทที่เป็นสะพานเชื่อมต่อระหว่างสมองกับอวัยวะอื่น ๆ ด้วยเหตุนี้ นักวิจัยสาขาประสาทวิทยาจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งสหพันธ์สวิส โลซาน หรืออีพีเอฟแอล (EPFL) จึงได้พัฒนาอุปกรณ์สวมศีรษะที่ทำหน้าที่เป็นสะพานรับสัญญาณประสาทจากสมอง และส่งต่อไปยังตัวรับที่ต่อกับไขสันหลัง หรือดิจิทัล บริดจ์ (Digital Bridge) สำหรับผู้ป่วยอัมพาตที่ขา โดยมีเกิร์ต-ยาน ออสคัม เป็นผู้เข้ารับการทดลองรักษากลุ่มแรก


อุปกรณ์จะมีอยู่ 2 ส่วนหลัก ได้แก่ ส่วนที่ใช้สวมใส่ศีรษะในลักษณะที่คาดรอบศีรษะเชื่อมต่อตัวรับสัญญาณสมองเป็นแผ่นวงกลมประกบ 2 ฝั่งและส่วนประมวลผลที่ติดตั้งบนรถเข็นพยุงเดิน ซึ่งเชื่อมต่อกับไขสันหลังของผู้ป่วย โดยทั้งหมดนี้เป็นการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคนิคที่เรียกว่า บีซีไอ (Brain–computer interface: BCI) หรือการเชื่อมต่อระหว่างสมองกับอุปกรณ์ภายนอก


การทำงานของอุปกรณ์รักษาอาการอัมพาต

อุปกรณ์ดังกล่าวจะอ่านสัญญาณไฟฟ้าจากสมองของผู้ป่วยที่กำลังสั่งการให้ขาตัวเองก้าวเดิน ซึ่งข้อมูลที่ได้นี้จะถูกแปลงให้เป็นข้อมูลส่งต่อไปที่ตัวรับสัญญาณ และจะถูกแปลงข้อมูลกลับไปเป็นกระแสสัญญาณไฟฟ้าผ่านขั้วไฟฟ้าที่เชื่อมต่อกับไขสันหลังส่วนล่างที่มีลักษณะเดียวกันกับสัญญาณประสาทจากสมอง เพื่อสั่งการให้ขาของผู้ป่วยก้าวเดินได้ในที่สุด


ในปัจจุบัน เกิร์ต-ยาน ออสคัม สามารถก้าวเดินวันละ 100 - 200 เมตร ด้วยการใช้อุปกรณ์ได้แล้ว ถึงแม้ว่าจะยังดูไม่เป็นธรรมชาติและค่อนข้างช้า แต่ว่าการรักษาด้วยวิธีการนี้ นั้นถือเป็นข่าวใหญ่การรักษาผู้ป่วยอัมพาต ที่เดิมต้องพึ่งการทำกายภาพเป็นหลัก โดยเกิร์ต-ยาน ออสคัม นั้นมีแนวโน้มการรักษาที่ดีขึ้น และตรวจพบว่าระบบประสาทระหว่างสมองกับไขสันหลังนั้นกำลังได้รับการฟื้นฟูอย่างช้า ๆ


การพัฒนาอุปกรณ์รักษาอาการอัมพาต

อุปกรณ์ชิ้นนี้ยังมีผลข้างเคียงที่น่าสนใจ เพราะว่าผู้ป่วยที่ใช้อุปกรณ์นี้ยังสามารถเดินได้ด้วยตัวเองต่อไปอีกเล็กน้อย ถึงแม้ว่าจะปิดเครื่องไปแล้วก็ตาม ซึ่งผลลัพธ์ทั้งหมดได้รับการยืนยันและตีพิมพ์ลงในวารสารวิชาการชื่อดังอย่างเนเจอร์ (Nature) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว


ก้าวต่อไปของงานชิ้นนี้ คือ การยกระดับไปสู่การรักษาอาการอัมพาตจากโรคหลอดเลือดในสมอง หรือแม้แต่การรักษาอาการอัมพาตที่แขนและมือ ซึ่งยุ่งยากและซับซ้อน เป็นความหวัง ของผู้ป่วยอัมพาตทั่วโลกในอนาคตที่จะกลับมาใช้ชีวิตด้วยตัวเองได้อีกครั้ง


ที่มาข้อมูล EPFLReutersNew York PostThe GuardianNature

ที่มารูปภาพ EPFL

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง