รีเซต

‘มนัญญา’ รับฟังปัญหาเกษตรกร เล็งหารือ ‘เฉลิมชัย’ แก้ปัญหาโควต้านมโรงเรียน

‘มนัญญา’ รับฟังปัญหาเกษตรกร เล็งหารือ ‘เฉลิมชัย’ แก้ปัญหาโควต้านมโรงเรียน
มติชน
9 มีนาคม 2565 ( 14:57 )
71

เมื่อวันที่ 9 มีนาคม ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์​ น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังประชุมหารือแก้ไขปัญหาโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน และรับมอบหนังสือพิจารณาหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเข้าร่วมโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน จากตัวแทนชุมนุมสหกรณ์นมไทย-เดนมาร์ค จำกัด ว่า ภายหลังจากได้รับหนังสือดังกล่าวแล้วจะนำข้อร้องเรียนของตัวแทนชุมนุมสหกรณ์นมไทย – เดนมาร์ค จำกัด หารือร่วมกับ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและหาแนวทางแก้ไขปัญหา และจะเสนอต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม และได้รับงบประมาณของรัฐบาลที่จัดสรรให้โครงการนี้กว่า 14,000 ล้านบาทต่อปี

 

น.ส.มนัญญา กล่าวว่า ทั้งนี้ จากข้อร้องเรียนของชุมนุมสหกรณ์โคนมไทย-เดนมาร์ค จำกัด ที่ได้มีการประชุมร่วมกันในหลายครั้งที่ผ่านมา พบว่า มีหลายประเด็นที่จะต้องตรวจสอบความถูกต้องให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร อาทิ การจัดสรรโควต้านมโรงเรียนให้กับองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ปีการศึกษาละ 96 ตัน เป็นจำนวนที่เหมาะสมหรือไม่หากเทียบกับจำนวนเกษตรกรที่ อ.ส.ค. จะต้องรับซื้อน้ำนมดิบวันละประมาณ 700 ตันต่อวัน หรือ 9% ของโครงการนมโรงเรียนที่จะใช้นมดิบทั้งระบบประมาณ 1,200 ตันต่อวัน จากผลผลิตนมทั้งประเทศ 3,500 ตันต่อวัน เป็นต้น

 

น.ส.มนัญญา กล่าวว่า นอกจากนี้ นายสมาน เหล็งหวาน ประธานกรรมการชุมนุมสหกรณ์นมไทย-เดนมาร์ค จำกัด ได้เสนอในหนังสือให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณา ดังนี้ 1.ทบทวนพิจารณาโควต้านมโรงเรียนให้กับกลุ่มเกษตรกร สหกรณ์โคนมที่มีเกษตรกรเลี้ยงโคนมเป็นสมาชิก ก่อนผู้ประกอบการบางรายที่ไม่มีโคนม และให้ยกเลิกคุ้มครองโรงงานโรงนมเล็กทั้งหมด ซึ่งไม่เกิดประโยชน์แก่เกษตรกรและนักเรียน ให้ยกเลิกทั้งขนาด 5 ตัน และ 3 ตัน มิฉะนั้นจะเกิดโรงใหม่ขึ้นทุกปี แต่จำนวนเด็กนักเรียนตามงบประมาณเท่าเดิม 2.ให้สหกรณ์ที่มีเกษตรกรเลี้ยงโคนมจริงเป็นสมาชิก และได้ทำบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) ซื้อขายน้ำนมดิบระหว่างกัน และต้องการขอสิทธิ์โควตาทำนมโรงเรียน โดยขอจัดสรรสิทธิ์โควต้าให้เป็นไปตามสัดส่วนการรับน้ำนมดิบที่เป็นธรรมและโปร่งใส (เกษตรกรตัวจริง) ที่รวมตัวเป็นสหกรณ์หรือกลุ่มเกษตรกรตัวจริง

 

น.ส.มนัญญา กล่าวอีกว่า 3.ให้ยกเลิกหลักเกณฑ์และเงื่อนไขคุณสมบัติของผู้ประกอบการนมโรงเรียน อนุญาตประกอบกิจการโรงงานเฉพาะกลุ่มเกษตรกร สหกรณ์โคนม โดยให้สามารถจ้างโรงงานผลิตภัณฑ์นมในพื้นที่ที่มีกระบวนการผลิตผ่านหลักเกณฑ์อาหารเสริม (นม) โรงเรียน เป็นไปตามข้อกำหนด 4. พิจารณาให้กลุ่มเกษตรกรและสหกรณ์ได้สิทธิ์โควตา เข้าไปทำนมโรงเรียนง่ายและมากขึ้น เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มน้ำนมที่ผลิตได้ และเป็นช่องทางเพิ่มรายได้ให้สหกรณ์และเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมมีตลาดที่แน่นอน มั่นคง และยั่งยืน 5.ให้จัดสรรสิทธิ์ตามสัดส่วนการรับน้ำนมดิบของเกษตรกร เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายและยุติธรรม และ 6.ให้ตรวจสอบผู้ประกอบบางรายที่ไม่รับน้ำนมดิบจากเกษตรกรแต่กลับมาได้งบในโครงการนมโรงเรียน

 

ด้าน นายสมาน กล่าวว่า ขณะนี้เกษตรกรได้รับความเดือดร้อนจากการจัดสรรโควต้านมโรงเรียน ซึ่งมองว่าไม่เป็นธรรมกับภาคเกษตรกร จึงต้องมาขอความเป็นธรรมจากรัฐบาลช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง