รู้จัก! สินค้า NFT ผลงานศิลปะ ที่ขับเคลื่อนบน Blockchain
ข่าววันนี้ สินค้า NFT ได้รับความสนใจอีกครั้งเมื่อ KBTG ได้จัดตั้งบริษัทใหม่ในกลุ่มเพิ่มอีก 1 บริษัทเพื่อรองรับธุรกิจในโลกดิจิทัลในอนาคต คือ บริษัท KASIKORN X จำกัด หรือ KX และได้เปิดตัวธุรกิจที่สอง คือ Coral แพลตฟอร์ม NFT Marketplace ที่จะสร้างโอกาสให้แก่ศิลปินและนักสะสม ซึ่งลูกค้าของ Coral สามารถซื้องานศิลปะ NFT ด้วยสกุลเงินทั่วไป อย่างเงินบาทหรือเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในขณะที่ลูกค้าแพลตฟอร์มอื่นต้องแลกเหรียญสกุลคริปโตเพื่อนำมาซื้องานศิลปะอีกที ซึ่งก่อให้เกิดความยุ่งยาก
มีการประมาณกันว่า มูลค่าตลาดของสินค้า NFT ในปี 2019 อยู่ที่ประมาณ 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปี 2020 ประมาณ 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และในปี 2021 คาดว่าน่าจะมากกว่า 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 10,000 ล้านบาท) โดยตัวอย่างสินค้า NFT ชื่อดังที่ขายไปแล้วก่อนหน้านี้ อาทิ รูปแคปเจอร์ “ทวีตครั้งแรก” ของ Jack Dorsey ผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์ม Twitter ราคา 2.9 ล้านดอลลาร์ และผลงานศิลปะดิจิทัลโดย Beeple "Everyday: The First 5000 Days" มูลค่ากว่า 69 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
NFT ยังเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีเกิดใหม่ที่เพิ่มเข้ามาในวงจรการพัฒนาเทคโนโลยีเกิดใหม่ของการท์เนอร์ในปี 2564 ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีเทคโนโลยีสุดล้ำถึง 25 รายการที่จะส่งผลกระทบอย่างยิ่งใหญ่ต่อการทำธุรกิจและสังคมในช่วงสองถึงสิบปีข้างหน้านี้
และเมื่อต้นปีบริษัทรับจัดประมูลชั้นนำอย่าง “คริสตีส์” ได้เปิดประมูลผลงานชิ้นเอกสองชิ้น ซึ่งการประมูลครั้งนี้เปิดรับสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) ด้วย พร้อมยังเสนอขายงานศิลปะที่สร้างสรรค์ด้วยดิจิทัลโดยใช้เทคโนโลยีดังกล่าว ดังนั้นการเข้ามาลงเล่นในตลาด NFT ของ KBTG จึงเป็นสิ่งที่น่าจับตา
NFT (Non-Fungible Token) นั้น เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลบนบล็อกเชนที่มีความเฉพาะตัวและเชื่อมโยงกับทรัพย์สินในโลกความเป็นจริง เช่น ศิลปะดิจิทัลหรือดนตรีดิจิทัล รวมถึงสินทรัพย์ต่าง ๆ ที่จับต้องได้และแปลงเป็นเหรียญโทเคน อาทิ บ้านหรือรถยนต์ ในกรณีของผลงานศิลปะ เทคโนโลยี NFT จะตรวจสอบที่มา ความเป็นเจ้าของ และการเข้าถึง ซึ่ง NFTs จะใช้บล็อกเชนสาธารณะที่ไม่สามารถแก้ไขหรือดัดแปลงได้ มีเงื่อนไขเฉพาะตัวคือจะไม่มีสิ่งใดมาทดแทนผลงานชิ้นนั้นได้และเป็นผลงานดิจิทัลที่มีเพียงชิ้นเดียวบนโลกเท่านั้น
ผู้ครอบครองสามารถอ้างสิทธิ์และเป็นเจ้าของได้เพียงคนเดียว แม้ว่าจะมีทำสำเนาบนโลกออนไลน์ แต่ก็สามารถตรวจสอบบนระบบบล็อกเชนได้ว่าเจ้าของที่แท้จริงคือใคร ผลงานชิ้นนี้ถูกสร้างขึ้นเมื่อไหร่ หรือถูกซื้อขายโดยใครบ้าง อีกทั้ง NFT ยังสามารถทำเงินได้อย่างมหาศาลจากการขายผลงานบนแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยน หากผู้ซื้อถูกใจในผลงานศิลปะ ก็สามารถทำการประมูลเพื่อเป็นเจ้าของได้เพียงคนเดียว
โดย NFT นี้พัฒนามาตั้งแต่ปี 2012 ซึ่งเหตุผลที่ทำให้เป็นกระแสโด่งดังในช่วงนี้เป็นผลมาจากการเติบโตของตลาด Cryptocurrency จึงทำให้ผลงานศิลปะดิจิทัล (Digital Arts) ถูกขโมยการอ้างสิทธิ์เป็นเจ้าของและถูกนำไปใช้งานต่าง ๆ โดยไม่ได้รับอนุญาต
ส่วนหนึ่งของการเติบโตของตลาดมาจากความชื่นชอบและคุณค่าทางจิตใจต่อผลงานนั้น ๆ เช่น การสะสมการ์ดนักกีฬา ไอเทมภายในเกม ลายเซ็นต์บุคคลสำคัญ รูปศิลปะ เป็นต้น ทำให้เกิดการประมูลซื้อขายที่มีมูลค่ามหาศาลได้ โดยมูลค่าขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของผู้ซื้อและผู้ขาย ทำให้ขนาดตลาดไม่มีการจำกัด
สำหรับแพลตฟอร์ม NFT Marketplace อย่าง Coral ของ KBTG ที่ต้องการจะช่วยหนุนศิลปินไทยและเอเชียขายผลงานศิลปะ NFT ไปทั่วโลกนี้ น่าจะเป็นอีกตัวช่วยหนึ่งในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตลาด NFT ได้มากขึ้นอีก โดยจะเริ่มให้บริการปลายปีนี้ ขณะนี้มีศิลปินไทยที่อยู่บนแพลตฟอร์ม Coral 9 ราย ได้แก่ ไป Lactobacillus, Tikkywow, ทรงศีล ทิวสมบุญ, เอกชัย มิลินทะภาส, ปัณฑิตา มีบุญสบาย, Benzilla, Pomme Chan, IllustraTU, และ Jiggy Bug อย่างไรก็ตามยังคงเปิดรับศิลปินและพาร์ทเนอร์เพื่อเข้าร่วมแพลตฟอร์มอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ KBTG ยังได้จับมือสยามพิวรรธน์ทำ NFT Innovation Digital Wall ให้ชมงานศิลปะ NFT ได้อย่างใกล้ชิด จึงน่าจะเป็นการขับเคลื่อนตลาด NFT ได้ดี และจะทำให้ผลงานศิลปะจากศิลปินไทยได้ออกไปสร้างรายได้ในตลาดโลก สร้างชื่อเสียงและรายได้เข้าประเทศอีกมหาศาล และความร่วมมือนี้จะเป็นก้าวแรกในการสร้างธุรกิจ และนวัตกรรมที่เชื่อมโลกคู่ขนานออนไลน์ – ออฟไลน์ โดยใช้ DeFi ซึ่งเป็นประตูโอกาสในการสร้างสรรค์ผลงานได้ไม่จำกัด รวมทั้งเข้าถึงสินค้า บริการ และประสบการณ์ใหม่ ๆ ในอนาคต