รีเซต

ผู้ป่วยโควิดในอินเดียติดเชื้อราขาว แพทย์พบ เชื้อดื้อยา เสียชีวิตสูงราว 70%

ผู้ป่วยโควิดในอินเดียติดเชื้อราขาว แพทย์พบ เชื้อดื้อยา เสียชีวิตสูงราว 70%
TNN World
2 มิถุนายน 2564 ( 09:42 )
187

Editor’s Pick: ผู้ป่วยโควิดในอินเดีย กำลังเผชิญกับการติดเชื้อราร้ายแรงอีกประเภท คือ เชื้อราขาว หรือ ‘แคนดิดา ออริส’ เป็นเชื้อดื้อยา ที่อัตราการเสียชีวิตสูงถึง 70% เพราะติดเชื้อในกระแสเลือดได้

 

 

เชื้อร้ายที่ติดจากภายในโรงพยาบาล


ชายวัยกลายคนคนหนึ่ง ป่วยด้วยโรคโควิด-19 และถูกส่งเข้ารักษาที่ห้อง ICU ในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งของเมืองโกลกาตา ทางตะวันออกของอินเดีย

 


แต่อาการเขาทรุดลงเรื่อย ๆ ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ และบรรเทาอาการด้วยสารสเตียรอยด์ ซึ่งเป็นวิธีรักษาผู้ป่วยโควิดที่มีอาการร้ายแรง แต่ก็ทำให้ภูมิคุ้มกันในร่ายกายผู้ป่วยลดลง และดันระดับน้ำตาลในเลือดให้สูงขึ้น

 


หลังพักรักษาตัวในห้อง ICU ยาวนาน ชายคนนี้อาการดีขึ้น และพร้อมจะกลับบ้าน แต่แพทย์กลับพบว่าเขาติดเชื้อราร้ายแรง ที่มีฤทธิ์ดื้อยา

 

 

แคนดิดา ออริส (Candida auris)


เชื้อราที่ชายคนนี้ติด มีชื่อสายพันธุ์ว่า ‘แคนดิดา ออริส’ (Candida auris) หรือเรียกสั้น ๆ ว่า ‘ซี.ออริส’ ได้รับการค้นพบเมื่อประมาณ 10 ปีก่อน และเป็นหนึ่งใน ‘เชื้อโรคในโรงพยาบาล’ (hospital disease) ที่แพทย์หวาดกลัวมากที่สุด เพราะติดเชื้อในกระแสเลือดได้ และมีอัตราการเสียชีวิตราว 70%

 


“เราพบผู้ป่วยที่ติดเชื้อชนิดนี้มากขึ้น ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ระลอกสอง” ดอกเตอร์ ออม ศรีวัฒน์สว ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อในนครมุมไบ กล่าวกับ BBC

 


“คนป่วยจำนวนมากในห้อง ICU ได้รับการรักษาด้วยสารสเตียรอยด์ในปริมาณโดสที่ค่อนข้างสูง นั่นอาจเป็นสาเหตุ”

 

 

ทำไมอินเดียพบการติดเชื้อราพุ่งสูง


อินเดียกำลังเผชิญกับการระบาดของโควิด-19 ระลอกสอง ผู้ป่วยจำนวนมากต้องเข้ารับการรักษาในห้อง ICU ซึ่งก็มีไม่เพียงพอ ขณะเดียวกัน 1-2 เดือนมานี้ แพทย์ทั่วอินเดีย พบผู้ป่วยหรือผู้ที่หายป่วยโควิด ติดเชื้อราเพิ่มขึ้น ทั้งเชื้อราดำ และมีการพบผู้ป่วยเชื้อราเหลืองด้วย

 


เร่ิมจากการระบาดของ ‘มิวคอร์ไมโคซิส’ หรือโรคติดเชื้อราดำ ซึ่งเป็นเชื้อหายากและอันตราย มีอัตราการเสียชีวิตถึง 50% กระทบต่อจมูก ตา และสมอง ปัจจุบัน อินเดียพบผู้ติดเชื้อราดำแล้วกว่า 12,000 คน และเสียชีวิตมากกว่า 200 คน 

 


ต่อมา มีการพบผู้ติดเชื้อราเหลือง ซึ่งตรวจหาได้ยากกว่า เพราะติดเชื้อในอวัยวะภายใน ต่างจากเชื้อราดำ ที่จะสังเกตเห็นได้บนใบหน้าและตา โดยยังไม่แน่ชัดว่า พบผู้ติดเชื้อราเหลืองกี่คนในอินเดีย

 


แล้วตอนนี้ แพทย์ทั่วอินเดียพบการติดเชื้อ ‘แคนดิดา ออริส’ ในผู้ป่วยโควิดที่รักษาตัวในโรงพยาบาล โดยเฉพาะในห้อง ICU นาน 7-10 วัน 

 


แคนดิดา ออริส มี 2 สปีชีส์ด้วยกัน คือ ออริส และอัลบิแคนส์ เมื่อติดเชื้อแล้วมีฤทธิ์ถึงตาย ตามคำบอกเล่าของ BBC

 


BBC รายงานว่า ในจำนวนเชื้อหลายล้านชนิดทั่วโลก เชื้อกลุ่ม แคนดิดา (Candida) และ แอสเปอร์จิลลัส (Aspergillus) เป็นสองกลุ่มที่ทำให้มนุษย์เสียชีวิตมากที่สุด

 

 

 

แล้วเชื้อกลุ่มแคนดิดา พบได้ที่ไหนบ้าง?


เชื้อกลุ่มแคนดิดา พบได้บนพื้นผิวที่หลากหลาย อาทิ ม่านอาบน้ำ หน้าจอคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์แพทย์ ไปจนถึงรางรถไฟ และตู้ขบวนรถไฟ

 


แพทย์ระบุว่า ‘แคนดิดา ออริส’ มักก่อให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด แล้วยังติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ระบบสมองส่วนกลาง และอวัยวะภายใน รวมถึงบนผิวหนังได้

 


สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 แล้ว การติดเชื้อ แคนดิดา ออริส ถือว่าอันตรายมาก เพราะโควิด-19 อาจบาดแผลบนผิวหนัง เส้นเลือด และหลอดลมต่าง ๆ ทำให้เชื้อแคนดิดา ออริส เข้าไปภายในร่างกายได้ 

 


ดอกเตอร์ เอสพี คาลันตรี หัวหน้าทีมแพทย์ของโรงพยาบาลที่ไม่แสวงผลกำไรขนาด 1 พันเตียงในรัฐมหาราษฎระ เปิดเผยกับ BBC ว่า ผู้ป่วยโควิด-19 ที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ราว 20-30% ล้วนติดเชื้อ ‘แคนดิดา ออริส’ 

 

 

 

อาการของโรคเป็นอย่างไร


ปกติแล้ว อาการของการติดเชื้อรา จะคล้ายกับอาการของโควิด-19 นั่นคือ มีไข้ ไอ และหายใจติดขัด
แต่อาการของการติดเชื้อแคนดิดา ออริส คือ เกิดคราบขาวในช่องปาก จมูก ปอด ท้อง เนื้อใต้เล็บ ทำให้บางครั้งคนจึงเรียกเชื้อนี้ว่า ‘เชื้อราขาว’ 

 


แต่ในกรณีที่ติดเชื้อรายแรง คือ เชื้อเข้าไปในกระแสเลือด อาจก่อให้เกิดอาการความดันเลือดต่ำ เป็นไข้ ปวดในช่องท้อง และกระเพาะปัสสาวะอักเสบได้

 

 

 

การติดเชื้อราขาวเกิดขึ้นได้อย่างไร


BBC รายงานว่า ผู้ป่วยโควิดอย่างน้อย 5% ในอินเดีย มีอาการหนัก และจำเป็นต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาลอย่างยาวนาน 
ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ว่า การใส่ท่อช่วยหายใจเป็นเวลานาน ก่อให้เกิดความเสี่ยงติดเชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อราที่เพิ่มขึ้น แล้วยิ่งอยู่ภายในห้องผู้ป่วยฉุกเฉินที่แออัด หนาแน่นด้วยผู้ป่วยโควิด อย่างที่เห็นในโรงพยาบาลอินเดีย ก็ยิ่งทำให้เสี่ยงติดเชื้อโรคมากขึ้นอีก
แล้วยังมีปัจจัยต่าง ๆ อีกมากมาย รวมไปถึงแพทย์ที่สวมชุด PPE แบบหละหลวม การล้างมือไม่บ่อยครั้ง มาตรฐานสุขอนามัยที่ลดลง จากภาวะผู้ป่วยวิกฤตล้น ๆ การฆ่าเชื้อที่ไม่ได้มาตรฐาน และอื่นๆ ล้วนเพิ่มความเสี่ยงติดเชื้อโรคได้

 


รวมไปถึงการใช้สารสเตียรอยด์ และตัวยาชนิดอื่น แบบเกินขนาดทำให้ภูมิคุ้มกันในร่ายกายผู้ป่วยลดลง รวมถึงผู้ป่วยโควิดที่มีอาการป่วยอื่นอยู่ก่อนแล้ว (underlying conditions)

 


ดอกเตอร์ คาลันตรี ยอมรับว่า “นี่เป็นเรื่องน่าวิตกมาก ที่แพทย์ต้องรักษาการติดเชื้อเหล่านี้ด้วย มันเหมือนเคราะห์ร้าย 3 ชั้น ปอดของผู้ป่วยเสียหายจากโควิดอยู่แล้ว ตอนนี้ พวกเขายังติดเชื้อแบคทีเรีย แล้วก็มาติดเชื้อราอีก”
“มันเหมือนการต่อสู้กับศึกที่รู้อยู่แล้วว่าเรากำลังพ่ายแพ้”

 


—————
เรื่อง: ทศพล ชัยสัมฤทธิ์ผล
ภาพ: Science Photo Library

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง