กรมการแพทย์ ย้ำ! ยารักษาโควิดทุกชนิดผ่านการพิจารณาจากผู้เชี่ยวชาญ ยันประสิทธิผล
เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2565 นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า กรมการแพทย์ได้จัดทำแนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล (รพ.) กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข ฉบับปรับปรุง โดยความร่วมมือของคณาจารย์ ผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานต่างๆ และผู้แทนทีมแพทย์ที่ปฏิบัติหน้างาน และได้มีการปรับปรุงให้ทันต่อสถานการณ์ของโรคและผลการศึกษาวิจัยทั้งในและต่างประเทศเพื่อให้การรักษาผู้ป่วยโควิด-19 มีประสิทธิภาพสูงสุด
“ยืนยัน สธ.ได้มีการพิจารณานำยามาใช้รักษาผู้ป่วยโควิด-19 หลายประเภทผ่านการพิจารณาร่วมกันจากคณะทำงานเบื้องต้น โดยยาแต่ละประเภทมีประสิทธิผลในกลุ่มผู้ป่วยที่อาการแตกต่างกันตามข้อบ่งชี้ ในกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ อาการเล็กน้อย และไม่มีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการรุนแรง ควรให้การรักษาแบบผู้ป่วยนอก โดยแยกกักตัวที่บ้าน (Out-patient with self isolation) หรือ Home Isolation หรือสถานที่รัฐจัดให้ตามความเหมาะสม ให้ดูแลรักษาตามอาการตามดุลพินิจของแพทย์ เนื่องจากส่วนมากหายได้เอง กลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง/โรคร่วมสําคัญและภาพถ่ายรังสีปอดปกติ อาจพิจารณาให้ยาฟาวิพิราเวียร์ (favipiravir) ควรเริ่มยาโดยเร็ว หากตรวจพบเชื้อเมื่อผู้ป่วยมีอาการมาแล้วเกิน 5 วัน และผู้ป่วยไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยอาจไม่จําเป็นต้องให้ยาต้านไวรัส เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายได้เองโดยไม่เกิดภาวะแทรกซ้อน” นพ.สมศักด์กล่าว และว่า นอกจากนี้ ยังมีการให้ยาต้านไวรัสชนิดอื่น อาทิ เรมเดซิเวียร์ (Remdesevir) โมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) และ เนอร์มาเทรลเวียร์ (Nirmatrelvir) / ริโตนาเวียร์ (Ritonavir) การให้การรักษาขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วย ประวัติการรับวัคซีน ปัจจัยเสี่ยงของผู้ป่วย รวมทั้งการพิจารณาชนิดของยาขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา
ทั้งนี้ อธิบดีกรมการแพทย์กล่าวว่า โรคโควิด-19 ยังอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดพบผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมากในประเทศไทย จึงขอแนะนำให้ประชาชนให้ความสำคัญกับการดูแลตนเองสวมหน้ากากอนามัยล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่าง ไม่เข้าไปอยู่ในบริเวณที่มีคนแออัด และที่สำคัญ ควรฉีดวัคซีนให้ครบตามจำนวน ซึ่งขณะนี้ประชาชนสามารถเข้าถึงการฉีดวัคซีนได้ง่ายขึ้น นอกจากสถานพยาบาลที่ให้บริการฉีดวัคซีนแล้ว ยังมีการฉีดวัคซีนในห้างสรรพสินค้า หรือจุดฉีดวัคซีนที่สำคัญต่างๆ ทั่วประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว และหญิงตั้งครรภ์ เพื่อลดการป่วยรุนแรงและการเสียชีวิต