รีเซต

ส่งออกไทยดีเกินคาด น้ำตาล-ผัก-อาหารแปรรูป-ทองคำ ช่วยพยุง แต่ทั้งปียังติดลบ 8%

ส่งออกไทยดีเกินคาด น้ำตาล-ผัก-อาหารแปรรูป-ทองคำ ช่วยพยุง แต่ทั้งปียังติดลบ 8%
ข่าวสด
5 พฤษภาคม 2563 ( 13:51 )
181
ส่งออกไทยดีเกินคาด น้ำตาล-ผัก-อาหารแปรรูป-ทองคำ ช่วยพยุง แต่ทั้งปียังติดลบ 8%

 

สรท. เผยส่งออกไทยดีเกินคาดสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารแปรรูป เวชภัณฑ์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และทองคำ รับอานิสงส์ต่อเนื่องจากผลการแพร่ระบาดโควิด นโยบายล็อกดาวน์ และทำงานที่บ้าน ความต้องการสินค้าอาหารแปรรูปและผัก ผลไม้จากไทย

 

ส่งออกไทยดีเกินคาด - น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวถึงการส่งออก เดือนมี.ค. 2563 ว่า มีมูลค่า 22,405 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 4.17% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ขณะที่การนำเข้าในเดือนมี.ค. 2563 มีมูลค่า 20,813 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 7.25% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้เดือนมี.ค. 2563 ประเทศไทยเกินดุลการค้า 1,592 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 40,257 ล้านบาท ส่วนภาพรวมช่วงเดือนม.ค.-มี.ค. 2563 หรือไตรมาสแรก ไทยส่งออกรวมมูลค่า 62,672 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 0.91% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้ช่วงเดือนม.ค.-มี.ค. 2563 ไทยเกินดุลการค้า 3,934 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

ทั้งนี้ ถือว่าการส่งออกของไทยทำได้ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ในช่วงที่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 แม้ว่าการส่งออก กลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัวที่ -1.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน แต่สินค้าที่ขยายตัวได้ดีอยู่ คือ น้ำตาลทราย ผัก ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแปรรูป ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง และมีสินค้ากลุ่มที่หดตัวคือ ยางพารา ข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป แต่พบว่า กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวที่ 6.4% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน โดยกลุ่มสินค้าที่มีการขยายตัว ได้แก่ ทองคำ อากาศยาน ยานอวกาศ และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ยานพาหนะอื่นๆ และส่วนประกอบ

 

น.ส.กัณญภัค กล่าวอีกว่า สำหรับการส่งออกทั้งปี 2563 อาจหดตัว -8% บนสมมติฐานค่าเงิน 30.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และสรท. คงสมมติฐานค่าเงินบาทปี 2563 อยู่ที่ 30.5 (บวกลบ 0.5) บาทต่อเหรียญ โดยมีปัจจัยบวกสำคัญ เช่น การผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ในประเทศไทย สำหรับบางสถานประกอบการ ซึ่งเป็นการทำให้ธุรกิจสามารถเริ่มกลับมาประกอบการและทำการผลิตได้ตามปกติ สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารแปรรูป เวชภัณฑ์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และทองคำ ได้รับอานิสงค์ต่อเนื่องจากผลการแพร่ระบาดโควิด จากนโยบายล็อคดาวน์ และทำงานที่บ้าน (Work from home) ความต้องการสินค้าอาหารแปรรูปและผัก ผลไม้จากไทย และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงทองคำที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี

 

ขณะที่ ปัจจัยเสี่ยงที่อาจเป็นอุปสรรคสำคัญ เช่น เศรษฐกิจทั่วโลกได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักของไทย ติดลบ เช่น ไตรมาสแรกของปีพบว่าจีดีพีจีนติดลบ 6.8% สหรัฐติดลบ 4.8% ยุโรปติดลบ 3.8% ในระยะต่อจากนี้อาจมีปัญหาหนี้ครัวเรือนและกำลังซื้อของทุกๆ ประเทศทั่วโลกทยอยปรับลดลงอีกต่อเนื่อง รวมทั้งการล็อกดาวน์ของประเทศต่างๆ ก็ทำให้ระบบโลจิสติกส์ได้รับผลกระทบทั้งทางบก ทางทะเลและทางอากาศ

 

ราคาน้ำมันที่ความผันผวนอย่างรุนแรง อันเนื่องมาจากความไม่สอดคล้องกันระหว่างอุปสงค์การใช้น้ำมันที่หดตัวลงอย่างต่อเนื่องจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในขณะที่ปริมาณอุปทานของน้ำมันกลับเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะโรงกลั่นในสหรัฐ ทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกลดลงอย่างรุนแรง ขณะที่กลุ่ม OPCE และพันธมิตร ตกลงที่จะปรับลดกำลังการผลิต 9.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน รวมถึงสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและอิหร่านที่อาจทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นได้

 

น.ส.กัณญภัค ยังกล่าวอีกว่า สำหรับข้อเสนอแนะที่สรท. นำเสนอต่อภาครัฐในด้านต่างๆ เช่น ข้อเสนอแนะด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ ฟื้นฟูด้านการเงินผ่านเงินกู้เพื่อผู้ประกอบการทุกขนาด พร้อมทั้งรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนให้อยู่ระหว่าง 32.50-34.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ มุ่งยกระดับสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร เพื่อให้ประเทศไทยก้าวไปสู่การเป็นครัวโลก และส่งเสริมความเข้มแข็งของเกษตรกร ส่งเสริมและอำนวยความสะดวกทางการค้าและพิธีการศุลกากร ลดอุปสรรคและข้อกีดกันทางการค้า ลดภาษี และลดต้นทุนการผลิตและการนำเข้าวัตถุดิบสำหรับการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร เร่งการเจรจาความตกลงการค้าเสรีกับประเทศคู่ค้าสำคัญ และลดขั้นตอน เงื่อนไข การขอใบอนุญาตและกฎระเบียบหน่วยงานภาครัฐ ที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก เป็นต้น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง