รีเซต

‘ศุภชัย’ ชี้ต้องเพิ่มบทบาท 'ดับเบิลยูทีโอ' แนะ 4 ข้อเสริมแกร่ง ช่วยสมาชิกฝ่าวิกฤตโควิด

‘ศุภชัย’ ชี้ต้องเพิ่มบทบาท 'ดับเบิลยูทีโอ' แนะ 4 ข้อเสริมแกร่ง ช่วยสมาชิกฝ่าวิกฤตโควิด
มติชน
23 สิงหาคม 2564 ( 14:47 )
47

 

เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม นายศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) เปิดเผยภายในงานสัมมนาออนไลน์ จับตาการปฏิรูป WTO ยุค New Normal ต้อนรับการประชุมรัฐมนตรีการค้า ครั้งที่ 12 โดยมี นายสรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานเปิดงาน ว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา และปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ของ 2 ประเทศที่แข่งขันกัน และปัญหาความตกลงว่าด้วยกฎและกระบวนการที่ใช้กับการระงับข้อพิพาท ทำให้การปฏิรูปองค์การการค้าโลกเป็นไปได้ยาก เพราะแม้จะมีการเจรจาในกรอบปกติมา 7 รอบแล้ว แต่ยังไม่มีการปฏิรูปใดๆ เกิดขึ้น

 

 

ทั้งนี้ ขอเสนอให้มีการเปลี่ยนแปลงของดับเบิลยูทีโอ ด้วยการสร้างบทบาทให้มีความโดดเด่นขึ้นมา ประกอบด้วย 1.การทำให้สำนักงานดับเบิลยูทีโอ มีความเข้มแข็ง และช่วยหาทางออกให้กับสมาชิกของดับเบิลยูทีโอ และสร้างผลงานให้จับต้องได้ 2.การให้บทบาทกับประเทศกำลังพัฒนาสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีให้มากขึ้น ซึ่งการประชุมรัฐมนตรีการค้า ครั้งที่ 12 มองว่าจะสำเร็จหรือไม่นั้น ต้องหาแนวทางทำให้บทบาทด้านการค้าและการพัฒนามีมากขึ้น ทั้งการพัฒนาด้านการลงทุน ด้านสังคม ต้องมีแบบแผนชัดเจน และข้อสรุปในการประชุมต้องนำมาใช้ได้จริงอีกด้วย

 

 

นายศุภชัยกล่าวอีกว่า 3.การทำงานร่วมกันระหว่างดับเบิลยูทีโอ และองค์กรอื่นๆ โดยเฉพาะกับสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ควรร่วมกันนำไปสู่ข้อตกลงแบบใหม่ อาทิ ข้อตกลงที่ช่วยประเทศพัฒนาน้อยที่สุด หรือประเทศที่เป็นเกาะต่างๆ ควรให้ดับเบิลยูทีโอ ส่งเสริมแนวทางปฏิบัติ หรือเพิ่มข้อตกลงที่ช่วยให้เกิดการพัฒนาต่อโลก และประเทศกำลังพัฒนามากขึ้น เพื่อให้หลายประเทศเข้ามามีส่วนร่วมได้ง่ายขึ้น

 

 

นายศุภชัยกล่าวว่า และ 4.ความตกลงว่าด้วยกฎและกระบวนการที่ใช้กับการระงับข้อพิพาท (ดีเอสยู) ควรมีการดำเนินการขั้นตอนมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งไม่ควรให้ดับเบิลยูทีโอทำหน้าที่ในการฟ้องศาล แต่ต้องการให้มีการเจรจาด้านการทูต เพื่อนำมาสู่การยินยอมซึ่งกันและกัน สามารถตกลงกันได้ และอยากเห็นความพยายามให้มีข้อตกลงตรงกลางเพื่อช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนา ประเทศด้อยพัฒนา ประเทศยากจนที่สุด และควรสนับสนุนด้านการเงินหรือมีโครงการช่วยเหลือที่เป็นประโยชน์มากกว่านี้

 

 

“เมื่อสถานการณ์โควิด-19 จบลง สิ่งที่ดับเบิลยูทีโอควรดำเนินการคือ เปิดโอกาสให้มีการค้าโลกด้านอาหาร และสินค้าเกษตร ที่มีความเสรีที่สุด กำจัดประเทศยักษ์ใหญ่เข้ามาบิดเบือนราคาสินค้าให้เหลือน้อยที่สุด เพราะไม่เช่นนั้นหลังจากสิ้นสุดการแพร่ระบาดของโควิดโลกจะขาดแคลนอาหารอย่างมหาศาล และเหลือเพียงไม่มีประเทศที่สามารถผลิตอาหารได้เอง ส่วนเรื่องพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (อี-คอมเมิร์ซ) ควรให้ความคุ้มครองผู้บริโภคมากขึ้น ขณะเดียวกันก็เป็นห่วงเรื่องการเก็บภาษีให้เสมอภาค และเห็นว่าไม่ควรยอมให้บริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกที่เป็นแฟลตฟอร์มดิจิทัลครองอำนาจเศรษฐกิจอีกด้วย” นายศุภชัยกล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง