รีเซต

ชมรมแพทย์ชนบท พาส่องกระบวนการจัดซื้อ ATK 8.5 ล้านชิ้น ชี้ผิดขั้นตอนทาง กม.หลายประการ

ชมรมแพทย์ชนบท พาส่องกระบวนการจัดซื้อ ATK 8.5 ล้านชิ้น ชี้ผิดขั้นตอนทาง กม.หลายประการ
มติชน
26 สิงหาคม 2564 ( 20:18 )
39

เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม เพจ ชมรมแพทย์ชนบท โพสต์ข้อความประเด็น  “ส่องลึก กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ATK 8.5ล้านชิ้น ผิดขั้นตอนทางกฎหมายหลายประการ” โดยระบุว่า

 

 

ขั้นตอนคร่าวๆในการจัดซื้อ ATK 8.5 ล้านชิ้น โดยย่อและเข้าใจง่าย มีประมาณนี้คือ

 

 

1. สปสช.ในฐานะเจ้าของงบประมาณ จะเป็นผู้ดำเนินการทำรายการความต้องการเพื่อเสนอบอร์ด สปสช. เนื่องจาก ATK เป็นรายการใหม่ จึงต้องกำหนดคุณลักษณะ(สเป็ค) ก่อน เมื่อกำหนดสเป็คได้แล้ว ก็ต้องสืบราคา ต่อรองราคา กำหนดมาตรฐานเบื้องต้น เพื่อกำหนดราคากลาง นำสเป็คและราคากลางนั้นไปคำนวณเพื่อของบประมาณ จนได้รับการอนุมัติจากบอร์ด สปสช. แต่เนื่องจาก สปสช.ไม่สามารถจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์เองได้ จึงต้องส่งเรื่องให้โรงพยาบาลราชวิถีในนามเครือข่ายหน่วยบริการ และองค์การเภสัชกรรมดำเนินการ

 

 

2. พอเรื่องไปถึงโรงพยาบาลราชวิถี ซึ่งสังกัดกรมการแพทย์ ตามปกติ เรื่องดังกล่าวต้องมีการนำเข้าขออนุมัติในที่ประชุมคณะอนุกรรมการจัดทำแผนการจัดซื้อยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นตามโครงการพิเศษ (มีรองปลัด นพ.ธงชัย กีรติหัตยากร เป็นประธานแทนปลัดฯ) ซึ่งต้องให้ความเห็นชอบแผนในการจัดซื้อ อันประกอบด้วยคุณลักษณะ หรือสเป็ค ราคา และจำนวน ตามที่ สปสช.ส่งมา หากไม่เห็นชอบก็ต้องยื่นคัดค้าน แต่ที่ผ่านมาด้วยความรีบเร่ง ไม่ได้มีการประชุมเพื่ออนุมัติแผนกรณี ATK แต่อย่างใด

 

 

3. เมื่อมีการอนุมัติแผนแล้วว่าซื้อแน่ ในสเป็คไหน จำนวนเท่าไหร่ ที่ราคากลางใด ทางโรงพยาบาลราชวิถี ก็จะส่งเรื่องไปที่องค์การเภสัชกรรม เพื่อให้เริ่มกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างขององค์การเภสัชกรรม แต่กรณีนี้น่าสนใจมากตรงที่ว่า คณะอนุกรรมการจัดทำแผนฯ ยังไม่ได้มีการประชุม แต่องค์การเภสัชกรรมก็รีบไปดำเนินการ และที่สำคัญ ได้ดำเนินการลดสเป็คการจัดซื้อลงไป (โดยตัดคำว่า มาตรฐานองค์การอนามัยโลกออก) โดยพลการ เป็นการลดสเป็คโดยไม่มีอำนาจ การลดสเป็คโดยพลการ โดยไม่ลดราคากลาง แม้จะเลือกรายที่เสนอราคาต่ำสุด แต่ก็ยังส่งผลให้ได้ชุดตรวจ ATK ที่ราคาแพงในสเป็คที่ไม่ตรงกับความต้องการของเจ้าของงบคือ สปสช. และไม่ตรงกับความต้องการใช้ ATK ของบุคลากรทางการแพทย์และหน่วยบริการที่ต้องการใช้ ATK คุณภาพสูง เพื่อการแก้ปัญหาวิกฤตโรคโควิดที่ระบาดรุนแรงในขณะนี้

 

 

4. เมื่อองค์การเภสัชกรรมจัดซื้อจัดจ้าง จนได้ผู้ชนะการประมูลแล้ว ก็ต้องแจ้งผลการจัดซื้อกลับมาที่โรงพยาบาลราชวิถี เพื่อดำเนินการลงนามการจัดซื้อจัดจ้าง หากโรงพยาบาลราชวิถีเห็นชอบลงนามในสัญญาการจัดซื้อตามที่องค์การเภสัชกรรมเสนอมา ทางองค์การเภสัชกรรมก็จะลงนามสั่งซื้อจากบริษัท แต่ ผอ.รพ.ราชวิถี ยังไม่ลงนาม เพราะรู้อยู่แก่ใจว่า ซื้อผิดสเป็ค และราคาที่ได้มาก็แพงกว่าราคาท้องตลาดที่ขายในยุโรปถึง 2 เท่า ลงนามไปก็อาจติดคุก จึงเกิดความชงักงัน จะเดินหน้าก็มีความผิด จะถอยหลังก็ไม่ได้

 

 

นี่คือเรื่องที่น่าปวดหัวของกรณี ATK ต้นเหตุทั้งหมดก็เกิดจากการที่องค์การเภสัชกรรมไปลดสเป็ค ไม่ตรงกับความต้องการของเจ้าของงบประมาณนั่นเอง (ทำไมองค์การเภสัชจึงกล้าลดสเป็ค อันนี้ก็มีความน่าสนใจ) และยังมีการทำผิดขั้นตอนทางกฎหมายหลายประการ และหากมีการดันทุรังลงนามจัดซื้อให้ได้ คนที่ลงนามและมีส่วนร่วมในการจัดซื้อครั้งนี้ อาจจะต้องเสียอนาคตทางราชการก็เป็นได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง