กลุ่มเยาวชนร่วมกู้วิกฤตพะยูน ขนหญ้าทะเล ดำน้ำลงปลูกทะเล จ.กระบี่
มูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม นำเยาวชน Youth Wildlife Guardians ลงพื้นที่จังหวัดกระบี่ เพื่อนำหญ้าทะเลชนิด หญ้าชะเงาใบยาว ที่เพาะเลี้ยงไว้ในห้องปฏิบัติการนานเป็นเวลา 8 เดือน จำนวนรวม 800 ต้น ลงปลูกในทะเลบ้านเกาะจำ อำเภอเหนือคลอง แบ่งเป็นการปลูกในบริเวณน้ำตื้นที่สามารถยืนปลูกได้จำนวน 200 ต้น และใช้วิธีการดำน้ำลึกปลูกอีกจำนวน 600 ต้น โดยกิจกรรมครั้งนี้เป็นความร่วมมือกับชุมชนท้องถิ่นบ้านเกาะจำ , โรงเรียนบ้านเกาะจำ , นักวิชาการ, นักวิทยาศาสตร์ในท้องถิ่น และภาคเอกชนโรงแรม Amari Vogue Krabi
ดร.อลงกต ชูแก้ว ประธานมูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Alongkot Chukaew ระบุข้อความว่า มือเล็ก ๆ ของคนตัวเล็ก ๆ เพื่อกู้วิกฤติพะยูนและหญ้าทะเล โดยต้นกล้าหญ้าทะเลอายุ 8 เดือน เพาะเลี้ยงจากการเก็บเมล็ดพันธุ์ที่ถูกคลื่นซัดตามชายหาด จำนวน 800 ต้น จาก 5,000 ต้น ถูกลำเลียงด้วยเรือหัวโทงจากบ้านแหลมกรวด ไปปลูกร่วมกับชุมชนและนักเรียนบ้านเกาะจำ ในบริเวณที่เคยมีหญ้าทะเลสมบูรณ์ในอดีต ที่ความลึก 2.5-3.2 เมตร ด้วยวิธีการดำน้ำปลูก และที่ระดับความลึก 1 เมตร ด้วยการยืนปลูก
นอกจากนี้ยังมีการมอบต้นกล้าหญ้าทะเลจำนวน 100 ต้น ให้กับตัวแทนชุมชนหาดเจ้าอูฐ เพื่อนำไปเพาะเลี้ยงในบ่อดิน ซึ่งจะเป็นธนาคารเมล็ดพันธุ์ สำหรับสนับสนุนการฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเลในอนาคต
ทั้งนี้ ตัวแทนนักเรียน Youth Wildlife Guardians ยังได้ช่วยกันรณรงค์ และสนับสนุนทุกหน่วยงานในการช่วยเหลือพะยูน ซึ่งกำลังเผชิญวิกฤตอยู่ในปัจจุบัน โดยกลุ่มนักเรียนดังกล่าวเป็นเด็กไทยที่ผลิตภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับสัตว์ทะเลใกล้สูญพันธุ์ จำนวน 45 เรื่อง โดยหนึ่งในนั้นคือสารคดีเรื่องพะยูน ซึ่งได้ใช้เวลาถึง 4 ปี ในการสร้างขึ้นและเผยแพร่รณรงค์การอนุรักษ์ทั่วประเทศไทย พร้อมกับคว้ารางวัลจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติมาแล้วไม่น้อยกว่า 46 รางวัล
ข้อมูลและภาพ : มูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม : Environmental and Social Foundation