รีเซต

กรุงปารีสขยะเกลื่อนเมือง หลังเจ้าหน้าที่หยุดงานต้านแผน “มาครง”

กรุงปารีสขยะเกลื่อนเมือง หลังเจ้าหน้าที่หยุดงานต้านแผน “มาครง”
TNN ช่อง16
16 มีนาคม 2566 ( 13:11 )
76
กรุงปารีสขยะเกลื่อนเมือง หลังเจ้าหน้าที่หยุดงานต้านแผน “มาครง”



“ปารีส” ที่ไม่เหมือนเดิม


ในช่วงหลายวันที่ผ่านมา ภาพที่เริ่มคุ้นตาชาวกรุงปารีสและบรรดานักท่องเที่ยวต่างชาติที่หวังเดินทางมาสัมผัสบรรยากาศสุดโรแมนติกของเมืองหลวงของฝรั่งเศสแห่งนี้ ก็คือภาพของกองขยะจำนวนมากที่ถูกนำมาทิ้งกองรวมกันด้านหน้าร้านอาหาร ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านค้าต่างๆ ที่ตั้งอยู่ริมถนนทั่วทั้งเมือง 


โดยปกติแล้ว จะต้องมีพนักงานเก็บขยะของเทศกาลกรุงปารีสมาเก็บกวาดทำความสะอาดตามตารางเวลาที่กำหนด แต่ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา กองขยะเหล่านี้ยังคงอยู่ที่เดิมและมีแต่เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ จนเริ่มเป็นที่มาของกลิ่นไม่พึงประสงค์โชยทั่วเมือง อีกทั้งยังเริ่มมีหนูและแมลงสาบเพิ่มขึ้นด้วย


เทศบาลกรุงปารีสบอกว่า จนถึงเมื่อวานนี้ มีขยะถูกกองทิ้งริมถนนที่ยังไม่มีการเก็บรวมแล้วมากกว่า 5,600 ตัน พื้นที่ที่มีขยะเกลื่อนเมืองคิดเป็นกว่าครึ่งหนึ่งของกรุงปารีส มีเพียง 10 เขตในกรุงปารีสจาก 20 เขต ที่ยังมีการเก็บขยะตามปกติ โดยเจ้าหน้าที่หน่วยงานเอกชน 


ไม่เพียงแต่กรุงปารีสเท่านั้น เมืองใหญ่อื่นๆ ทั่วฝรั่งเศส ทั้งลียง นองต์ แรนส์ และเลออาร์ฟ ก็ประสบปัญหาไม่ต่างกัน 






เพิ่มอายุเกษียณอาจเป็นผลเสียต่อหลายฝ่าย


สาเหตุอันเป็นที่มาของปัญหาขยะล้นเมืองในตอนนี้ ก็เพราะคนงานเทศบาลกรุงปารีสที่ทำหน้าที่เก็บรวบรวมขยะ อยู่ระหว่างพร้อมใจผละงานร่วมกับบรรดาสมาชิกสหภาพแรงงานอื่น ๆ ทั่วประเทศมานานนับสัปดาห์ เพื่อประท้วงแผนปฏิรูประบบบำนาญของรัฐบาลประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล มาครง 


แผนดังกล่าวมีหลักใหญ่ใจความสำคัญ คือ การขยายอายุเกษียณจาก 62 ปี เป็น 64 ปี และเพิ่มจำนวนปีในการสมทบเงินเพื่อที่จะได้รับเงินบำนาญเต็มจำนวน รัฐบาลมาครงย้ำเสมอว่า จำเป็นต้องทำเพื่อปกป้องระบบบำนาญไม่ให้เข้าสู่ภาวะขาดดุลภายในปี 2030


ทั้งนี้ โดยทั่วไป พนักงานเก็บขยะกรุงปารีสจะเกษียณจากงานตอนอายุครบ 57 ปี ส่วนคนงานท่อระบายน้ำ สามารถเกษียณได้ที่อายุ 52 ปี เหตุผลเพราะงานที่ทำนั้นหนักและต้องใช้ร่างกายมาก แต่หากร่างกฎหมายปฏิรูประบบนำนาญของรัฐบาลผ่านความเห็นชอบ พวกเขาก็จะต้องตรากตรำทำงานหนักเพิ่มขึ้นอีกหลายปี กว่าจะได้เงินบำนาญ

 

ด้านสหภาพ CGT เผยว่า มาตรการใหม่นั้นไม่เป็นธรรมอย่างมาก โดยเฉพาะกับแรงงานไร้ฝีมือ ที่เริ่มทำงานตั้งแต่อายุยังน้อย และใช้ร่างกายมากมาตั้งแต่วัยหนุ่มสาว 


การทำงาน 3-4 ชั่วโมงในท่อระบายน้ำข้างใต้นั้น เปรียบเหมือนการทำงาน 48 ชั่วโมง ฉะนั้น คนงานเหล่านี้ ร่างกายจะอ่อนล้าตั้งแต่เข้าสู่ช่วงวัยสี่สิบกว่าปีแล้ว และบางคนก็เสียชีวิตก่อนเกษียณด้วยซ้ำ หรือไม่ก็ป่วยหนักหลังจากเกษียณ 


ทั้งนี้ ผลการศึกษาขององค์กรสาธารณสุข IRNS พบว่า คนงานท่อระบายน้ำมีโอกาสเสียชีวิตก่อนอายุ 65 ปีมากกว่าคนปกติสองเท่า 




หนทางแก้ไขเป็นอย่างไร


ด้านรัฐบาลฝรั่งเศส สหภาพแรงงาน และเจ้าหน้าที่เทศบาลกรุงปารีส ต่างโทษกันไปมาเรื่องขยะล้นเมือง โดยเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา Sylvain Gaillard ส.ส.จากพรรคของมาครง เรียกร้องอานน์ อิเดลโก นายกเทศมนตรีกรุงปารีส ที่เป็นฝ่ายซ้าย ให้นำรถเก็บขยะออกมา ขณะที่ Gabriel Attal รัฐมนตรีกระทรวงงบประมาณ กล่าวหานางอิเดลโก ว่าสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่เทศบาลพร้อมใจกันผละงาน


ขณะที่เทศบาลกรุงปารีสก็ตอบโต้รัฐบาลฝรั่งเศสเช่นกัน โดยรองนายกเทศมนตรีทวีตข้อความระบุว่า คนเก็บขยะทำงานหนักแม้ในช่วงเผชิญโรคระบาด แผนปฏิรูปการเกษียณนี้ทำให้พวกเขาวางเครื่องมือทำงานไม่ได้ นี่หรือคือสิ่งที่รัฐบาลขอบคุณพวกเขาจากการทำงานหนักมากกว่าสองปี 


ทั้งนี้ แผนการปฏิรูประบบบำนาญของมาครงนั้น เผชิญแรงต้านอย่างมาก จนเกิดการประท้วงใหญ่ไปทั่วประเทศมากว่าสองเดือนแล้ว 


อานนี แอร์โนซ์ เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมปีล่าสุด ประณามแผนดังกล่าว ว่าสวนทางกับประวัติศาสตร์ความก้าวหน้าทางสังคมของฝรั่งเศส และส่งผลกระทบมากที่สุดต่อคนที่ชีวิตลำบากมากที่สุดอยู่แล้ว ทั้งทางกายและทางจิตใจ นอกจากนี้ จะทำให้พวกเขาใช้ชีวิตอย่างสงบสุขหลังเกษียณได้น้อยลง




ชาวฝรั่งเศสค้านแผน “มาครง”


France 24 รายงานว่า ผลสำรวจพบว่าชาวฝรั่งเศสมากกว่า 2 ใน 3ไม่เห็นด้วยกับแผนการนี้ และชาวฝรั่งเศสส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการผละงาน ซึ่งส่งผลกระทบต่อโรงเรียน ระบบขนส่งมวลชน และการขนส่งเชื้อเพลิง


ทั้งนี้ สมาชิกวุฒิสภาฝรั่งเศสที่ฝ่ายขวาครองเสียงข้างมาก ลงมติ 195 ต่อ 112 เสียงเมื่อคืนวันเสาร์ตามเวลาท้องถิ่นเห็นชอบร่างปฏิรูประบบบำนาญ ในขณะที่มีขยะกองโตอยู่หน้าอาคารวุฒิสภาด้วย


ขณะที่คณะกรรมาธิการของรัฐสภาซึ่งประกอบด้วย ส.ว. 7 คน และส.ส. 7 คน จะหารือเรื่องแผนดังกล่าว เพื่อหาจุดร่วมกันระหว่างสองสภา และหากคณะกรรมาธิการตกลงกันได้ ร่างกฎหมายที่ปรับแก้จะต้องผ่านการลงมติทั้งในวุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎร 


แต่ในส่วนของสภาล่างนั้น พันธมิตรสายกลางของนายมาครงไม่ได้ครองเสียงข้างมาก จึงทำให้ผลนั้นยากที่จะคาดเดา ในขณะที่รัฐบาลฝรั่งเศสต้องพึ่งพาเสียงจากบรรดาส.ส.ฝ่ายขวา ที่เป็นฝ่ายค้านช่วยลงมติสนับสนุนให้


อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลไม่สามารถรวบรวมเสียงข้างมากได้ก่อนการลงมติ นายกรัฐมนตรีอาจใช้มาตรา 49/3 ผลักดันร่างให้ผ่านเป็นกฎหมายโดยไม่ต้องมีการลงมติ ซึ่งเป็นเครื่องมือตามรัฐธรรมนูญที่จุดกระแสถกเถียงและที่ผ่านมาแทบไม่มีการใช้

————

แปล-เรียบเรียง: ชายแดน คล้ายใยทอง และ ธันย์ชนก จงยศยิ่ง 

ภาพ: Reuters


ข้อมูลอ้างอิง: 

12


ข่าวที่เกี่ยวข้อง