รีเซต

มินส์ก สวรรค์ของนักเดินทางที่กลายร่างเป็นผู้อพยพ

มินส์ก สวรรค์ของนักเดินทางที่กลายร่างเป็นผู้อพยพ
TNN ช่อง16
17 พฤศจิกายน 2564 ( 10:08 )
40
มินส์ก สวรรค์ของนักเดินทางที่กลายร่างเป็นผู้อพยพ

ตอนที่ คามาราน โมฮัมเหม็ด พร้อมกับภรรยาและลูก ๆ 3 คน เดินทางมาถึงกรุงมินส์ก ของเบลารุส จากบ้านเกิดทางตอนเหนือของอิรักเมื่อเดือนที่แล้ว พวกเขาเดินทางเข้าประเทศในฐานะนักท่องเที่ยว เช่นเดียวกับผู้คนในบ้านเกิดและหลายประเทศในตะวันออกกลางนับพัน ที่ได้วีซ่านักท่องเที่ยวในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา จากความช่วยเหลือของบริษัทนำเที่ยวหลายแห่งในตะวันออกกลาง ที่เป็นพาร์ตเนอร์ธุรกิจกับบริษัทนำเที่ยวหลายแห่งในเบลารุส


ไม่กี่วันหลังเดินทางถึงกรุงมินส์ก เขาและครอบครัวกระเตงกันไปจนถึงพรมแดนระหว่างเบลารุสและโปแลนด์ในอีกไม่กี่วันถัดมา พร้อมกับคลื่นผู้อพยพจากทั้งอิรัก ซีเรีย อัฟกานิสถาน และอีกหลายประเทศ เพื่อหวังเดินทางข้ามไปยังยุโรปผ่านโปแลนด์เพื่อสร้างอนาคตและชีวิตใหม่ ท่ามกลางภัยอันตรายหลายอย่าง และความเสี่ยงที่อาจหมายถึงชีวิต


--ความพยายามที่ล้มเหลว---


โมฮัมเหม็ดบอกว่า เครื่องบินหลายลำเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวที่ไม่ได้หวังเดินทางเข้าเบลารุสเพื่อท่องเที่ยว และทางการเบลารุสก็ทราบดี ว่าคนเหล่านี้ไม่ใช่นักท่องเที่ยว แต่ก็ยังเปิดทางให้เขาและสมัครพรรคพวกเดินทางไปจนถึงพรมแดนที่ติดกับโปแลนด์ได้ในที่สุด


โมฮัมเหม็ดและครอบครัวดั้นด้นถึงโปแลนด์จนได้ แต่ก็แค่ช่วงเวลาสั้น ๆ ก่อนที่จะถูกส่งตัวกลับอิรักเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม เป็นสิ่งที่คอยเตือนใจว่า แม้จะต้องหมดเงินหลายพันดอลลาร์สหรัฐฯ และทุ่มเทถึงขั้นเสี่ยงชีวิตขนาดไหน ก็ไม่อาจการันตีได้ว่า จะได้ไปใช้ชีวิตใหม่ในยุโรปได้


---ใช้ผู้อพยพเป็นอาวุธมนุษย์---


วิกฤตผู้อพยพรอบใหม่ที่เกิดขึ้นส่งผลให้เกิดความขัดแย้งระหว่างยุโรปตะวันตกกับเบลารุส พันธมิตรแน่นแฟ้นของรัสเซีย ที่ส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดและขีปนาวุธนิวเคลียร์บินโฉบเหนือน่านฟ้าเบลารุสและหลายประเทศที่มีพรมแดนติดกัน จนเกิดความกังวลว่าสถานการณ์อาจบานปลายกลายเป็นการเผชิญหน้าทางทหาร


ขณะที่สหภาพยุโรป หรือ EU กล่าวหาประธานาธิบดีอเลกซานเดอร์ ลูคาเชนโก ผู้นำเบลารุส ว่าอยู่เบื้องหลังวางแผนผลักดันผู้อพยพไปยังยุโรป เพื่อตอบโต้ EU ที่ดำเนินมาตรการคว่ำบาตรลงโทษรัฐบาลของเขา หลังพบหลักฐานว่าบริษัทนำเที่ยวอย่างน้อย 1 แห่ง ที่รัฐบาลเบลารุสเป็นเจ้าของ ช่วยเปิดทางอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ให้ผู้อพยพสามารถเดินทางเข้าประเทศได้อย่างง่ายดาย ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา อีกทั้งสายการบินแห่งชาติของเบลารุส ก็เพิ่มเที่ยวบินไปยังเส้นทางที่เป็นที่นิยมของบรรดาผู้อพยพมากขึ้นถึงสองเท่า


---วีซ่าที่ขอได้ง่าย กับค่าใช้จ่ายสูง---


แม้ลูคาเชนโกจะปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ แต่จากการตรวจสอบและพูดคุยกับผู้อพยพกว่า 30 คนจากตะวันออกกลางของผู้สื่อข่าวสำนักข่าว Reuters, พวกเขาบอกว่าล้วนได้วีซ่านักท่องเที่ยวจากบริษัทนำเที่ยวของรัฐบาลเบลารุส อนุญาตให้เดินทางเข้าเบลารุส เพื่อล่าสัตว์หรือประกอบกิจกรรมอื่น ๆ


วีซ่าก็ได้มาอย่างไม่ยากนัก แม้จะต้องเสียค่าใช้จ่ายไม่น้อย คือราว 1,250 -4,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในการเดินทางจากตะวันออกกลาง อย่างอิรัก ซีเรีย หรือตุรกี เข้าไปยังเบลารุส ด้วยเที่ยวบินพาณิชย์สายการบินเบลารุส ที่เพิ่มขึ้นอย่างมากนับตั้งแต่ต้นฤดูใบไม้ผลิเป็นต้นมา


นอกจากนี้ ผู้อพยพยังได้รับความช่วยเหลือจากทั้งบริษัทนำเที่ยว คนช่วยลักลอบเข้าเมือง และบรรดาคนขับรถ ที่ล้วนแย่งกันเสนอความช่วยเหลือแบบทั้งแลกทั้งแถมเมื่อเดินทางถึงเบลารุส ในการเดินทางไปยังพรมแดนติดกับโปแลนด์ ผู้อพยพหลายคนบอกตรงกันว่า เจ้าหน้าที่พรมแดนเบลารุสช่วยเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ตอนที่พวกเขาพยายามฝ่ารั้วลวดหนามข้ามไปยังโปแลนด์ เจ้าหน้าที่บางคนช่วยเอาคีมตัดเหล็กส่งให้กับมือเสียด้วยซ้ำ


อย่างไรก็ดี กระทรวงต่างประเทศเบลารุสปฏิเสธหนักแน่นว่า ข้อกล่าวหาดังกล่าวล้วนแต่เหลวไหลและไม่เป็นความจริง ขณะที่สำนักข่าว RIA Novosti ของรัสเซีย รายงานอ้างข้อมูลเพิ่มเติมจากกระทรวงต่างประเทศเบลารุส ว่าตอนนี้รัฐบาลได้วางมาตรการคุมเข้มบริเวณพรมแดนแล้ว และสายการบินแห่งชาติอย่างเบลาเวีย ก็ไม่ได้ให้บริการผู้โดยสารที่เป็นผู้อพยพแต่อย่างใด


---เพราะมันปลอดภัยกว่า...---


เมื่อทราบข้อมูลจากสื่อออนไลน์ว่า มีวีซ่าสามารถเดินทางเข้าประเทศได้ ก็ติดต่อผ่านนายหน้าและบริษัทนำเที่ยวต่าง ๆ ทันที ทุกฝ่ายพร้อมให้บริการเต็มที่ ส่วนใหญ่จะเดินทางโดยเครื่องบินเข้าไปยังตุรกี ก่อนต่อเครื่องไปยังกรุงมินส์กของเบลารุส พร้อมกับยืนยันว่า ชาวอิรักและซีเรียได้วีซ่าเข้าประเทศเบลารุสง่ายกว่าช่วงต้นปีที่ผ่านมาหลายเท่า


ไม่เพียงเท่านั้น เที่ยวบินพาณิชย์ต่าง ๆ ก็อำนวยความสะดวกให้ผู้อพยพจากตะวันออกกลางเดินทางเข้าเบลารุสได้ง่ายขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เช่น เที่ยวบินของสายการบินเบลาเวีย จากที่เคยบินจากอิสตันบูลของตุรกี ไปยังกรุงมินส์กเพียง 31 เที่ยวในเดือนมีนาคมปีนี้ ก็เพิ่มขึ้นสองเท่าเป็น 65 เที่ยวเมือเดือนกรกฎาคม เช่นเดียวกับเที่ยวบินของเตอร์กิช แอร์ไลน์ เพิ่มจาก 32 เที่ยวในเดือนมีนาคมและเมษายน เป็น 64 เที่ยวในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม จน EU ต้องประกาศคว่ำบาตรสายการบินเบลารุสเพื่อตอบโต้ ทำให้สายการบินเบลาเวียรวมถึงเตอร์กิช แอร์ไลน์ บอกว่า ตอนนี้ไม่มีเที่ยวบินจากอิรักและเยเมนไปยังกรุงมินส์กแล้ว


ขณะที่ในวานนี้ (16 พฤศจิกายน) มีภาพเจ้าหน้าที่ความมั่นคงและควบคุมพรมแดนของโปแลนด์ฉีดน้ำแรงดันสูงเข้าใส่ผู้อพยพจำนวนมากที่ปักหลักอยู่ด้านนอกพรมแดนระหว่างโปแลนด์และเบลารุส โดยมีเพียงรั้วลวดหนามกั้นระหว่างสองฝ่าย


ทหารโปแลนด์พร้อมอาวุธครบมือยืนคุมเข้มบริเวณพรมแดนฝั่งโปแลนด์ เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีผู้อพยพอาศัยสถานการณ์ช่วงชุลมุนแอบเล็ดรอดเข้ามา


ส่วนบรรดาผู้อพยพก็ไม่ยอมตกเป็นเป้านิ่ง พากันใช้ก้อนหินและวัตถุที่หาได้ขว้างใส่เจ้าหน้าที่โปแลนด์เพื่อตอบโต้ เป็นภาพการเผชิญหน้าล่าสุดระหว่างสองฝ่าย ท่ามกลางความบอบช้ำของผู้อพยพ เพราะไม่สามารถข้ามมายังโปแลนด์ได้เพราะทางการโปแลนด์เพิ่มมาตรการคุมเข้ม แต่จะหันหลังกลับเข้าไปยังเบลารุสก็ไม่ได้ ทำให้พวกเขาต้องตกค้างอยู่ที่นี่ ท่ามกลางสภาพแวดล้อมและสภาพอากาศที่หนาวจัดถึงขั้นติดลบ จนผู้อพยพถึงกับเสียชีวิตไปแล้วหลายคน


เมื่อนักเดินทางกลายร่างเป็นผู้อพยพเพื่อหวังพบสิ่งที่ดีกว่า แต่ต้องมาเผชิญกับวิกฤตที่ไม่ต่างจากหนีเสือปะจระเข้ แล้วพวกเขาจะทำอย่างไรต่อไป และจะมีใครช่วยพวกเขาได้

—————

แปล-เรียบเรียง: ชายแดน คล้ายใยทอง

ภาพ: Wojtek RADWANSKI / AFP

ข่าวที่เกี่ยวข้อง