นวัตกรรมเพื่อความอยู่รอด คิดเพื่อใช้ 'สู้โควิด'
สู้โควิด – นอกจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป เป็น “ฐานวิถีชีวิตแบบใหม่” หรือ “นิว นอร์มอล” ที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อาทิ หลีกเลี่ยงการไปในที่คนเยอะ เว้นระยะห่างระหว่างกัน สวมหน้ากาก รวมไปถึงหลีกเลี่ยงการสัมผัส ในห้วงเวลาที่โควิด-19 อุบัติขึ้น ยังได้เกิดนวัตกรรมต่างๆ ที่มีผู้คิดค้น พัฒนา และประยุกต์ใช้เพื่อป้องกันและต่อสู้กับโรคระบาดพันธุ์ใหม่นี้อย่างน่าสนใจ
เช่นในด้านการแพทย์ หน่วยงานรัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษาในไทย ต่างคิดค้นนวัตกรรมช่วยบุคลากรทางการแพทย์รับมือกับโควิด-19 ไว้มากมาย อาทิ ห้องคัดกรอง-ตรวจผู้ติดเชื้อ หรือห้องแยกการติดเชื้อความดันลบ นอกจากนี้ยังออกแบบถุงครอบศีรษะแบบความดันบวก เตียงคนไข้โปร่งใสครอบเตียงความดันลบ รวมไปถึงประดิษฐ์หุ่นยนต์ส่งอุปกรณ์การแพทย์ ลดการปนเปื้อนของเชื้อโรคเมื่อไม่ได้สัมผัสโดยตรง และช่วยลดโอกาสในการติดเชื้อของบุคลากรการแพทย์ที่ต้องใกล้ชิดผู้ป่วย
นอกจากนี้ในศูนย์การค้ายังมี “หุ่นยนต์อัจฉริยะ” ที่สามารถแจ้งเตือนเมื่อพบผู้ไม่สวมหน้ากาก หรือมีอุณหภูมิสูงกว่าปกติด้วย
ขณะเดียวกันก็มี “นวัตกรรมทำมือ” ที่ใช้ประโยชน์ได้จริงไม่แพ้เทคโนโลยี อาทิ “เฟซชิลด์” ที่แรกเริ่มประดิษฐ์จากแผ่นพลาสติก ฟองน้ำ และยางยืด จนกระทั่งพัฒนาเป็นเฟซชิลด์แบบแว่นตาสำหรับสวม หรือจะเป็นแบบเย็บติดกับหมวก เพิ่มความสะดวกสบายในการใช้งานมากขึ้น หรือจะเป็น “แท่นเหยียบกดเจลล้างมือ” อีกหนึ่งนวัตกรรมทำมือเลี่ยงการสัมผัสซ้ำ ที่ต้องบอกเลยว่า “สุดยอด”
อย่างไรก็ตาม สินค้านวัตกรรมบางอย่างก็ได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงโควิดนี้ เช่น เครื่องอบรังสีฆ่าเชื้อโรค หรือหลายคนก็นำเอาเครื่องอบฆ่าเชื้อขวดนมของลูกๆ มาใช้อบฆ่าเชื้ออุปกรณ์ต่างๆ ขณะที่หลายคนก็ปิ๊งไอเดีย นำ เครื่องพ่นนาโน ซึ่งปกติจะใช้ใส่น้ำแร่เพื่อพ่นให้ความชุ่มชื้นบนใบหน้า มาใช้ใส่น้ำผสมน้ำยาฆ่าเชื้อ ฉีดพ่นพื้นผิวต่างๆ ก่อนสัมผัส และสุดท้ายไอเท็มยอดฮิต “แท่งกดลิฟต์” ที่สามารถใช้กดตู้เอทีเอ็ม หรือปุ่มต่างๆ ได้โดยไม่ต้องสัมผัส
ไม่เพียงแค่ในไทย แต่ในต่างประเทศก็มีการคิดค้นนวัตกรรมที่ช่วยให้การใช้ชีวิตในยุคโควิดปลอดภัยมากขึ้น ดังเช่น ที่ มณฑลเจ้อเจียง ประเทศจีน หลังสถานการณ์โควิดบรรเทาลง โรงเรียนในจีนก็เปิดทำการ คุณครูจึงให้ผู้ปกครองทำหมวกที่ยื่นออกมากว้างๆ เพื่อให้เด็กๆ สวมเพื่อเว้นระยะห่าง นอกจากนี้ที่จีนยังคิดค้นลิฟต์สั่งการด้วยเสียง หรือสัมผัสผ่านการกดปุ่มเสมือนจริงในอากาศแทนด้วย
ส่วนทางฝั่งแคนาดา สาวรายหนึ่งก็คิดค้น “ถุงกอด” ที่เป็นเหมือนม่านพสาสติกใส มีช่องสอดแขนสำหรับสวมกอด เพื่อที่จะได้กอดคุณแม่ของเธอในช่วงวิกฤตโควิดนี้
นวัตกรรมเพื่อความอยู่รอด