รีเซต

ระวัง 'ความรุนแรงต่อเด็ก' ภัยแฝง 'อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ'

ระวัง 'ความรุนแรงต่อเด็ก' ภัยแฝง 'อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ'
มติชน
26 เมษายน 2563 ( 05:00 )
209
ระวัง 'ความรุนแรงต่อเด็ก' ภัยแฝง 'อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ'

ระวัง ‘ความรุนแรงต่อเด็ก’ ภัยแฝง ‘อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ’

ความรุนแรงต่อเด็ก / จากข้อมูลของ องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูนิเซฟ เปิดเผยว่า เด็กๆกว่า 100 ล้านคนทั่วโลก เสี่ยงที่ต้องเผชิญกับ ความรุนแรงอันเนื่องมาจากเพศสภาพ การทารุณ การถูกแบ่งแยกทางสังคม เนื่องจากการแพร่ระบาดของ เชื้อไวรัสโคโรนา หรือ โควิด-19 ซึ่งเด็กหลายคน ไม่ได้ไปโรงเรียน หรือได้รับการดูแลเช่นเวลาปกติ เมื่อโรงเรียนต่างปิดเทอมลง

และจากมาตรการของรัฐ ที่ออกมา “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ที่ภาครัฐและเอกชน ต่างเปลี่ยนมาใช้วิธีเวิร์กฟรอมโฮม  ทำให้ครอบครัว ต้องใช้ชีวิตร่วมกันมากขึ้น นำมาซึ่งปัญหาความรุนแรงในครอบครัวที่มากขึ้น มิใช่แค่ต่อชีวิตคู่ แต่ยังรวมถึง เด็กและเยาวชน ที่ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน

ทิชา ณ นคร หรือ ป้ามล ผู้อำนวยการ ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก เผยว่า ในสถานการณ์ที่มีความกดดันเช่นนี้ หากต้นทุนเดิมของครอบครัว มีเรื่องการใช้อำนาจเหนือกว่า ความกดดันก็จะยิ่งทำให้ความรุนแรงเข้มข้นขึ้นได้ อีกทั้งทุกคนก็ไม่ได้เตรียมตัวมาก่อน ว่าอีก 2-3 เดือนนะ เราจะเข้าสู่สภาวะเช่นนี้ มันเป็นเรื่องฉุกเฉิน ที่ทุกคนไม่ได้เตรียตัวมาพบกับมัน

“ในครอบครัวหนึ่ง เรามักมีความคาดหวัง หรือการแบ่งภาระในครอบครัวที่ไม่เท่ากัน ให้ภาระเป็นของเพศใดเพศหนึ่ง ซึ่งเกือบ 100% เป็นของเพศหญิง ในสถานการณ์ปกติ เมื่อมีปัญหา เราอาจจะปรึกษาหารือกันได้ แต่สถานการณ์เช่นนี้ เหมือนผลักทุกคนให้อยู่มุมเดียวกันหมด ไม่เอื้อให้ออกจากบ้านไปพูดคุย แลกเปลี่ยน ขอคำปรึกษาใครได้ ทั้งยังมีเรื่องเงิน การใช้อำนาจเหนือเข้ามา อาจเกิดการกระทบกระทั่งได้”

และเด็ก เป็นผู้ได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน

 

ป้ามล เผยว่า ตามหลักการแล้ว เวลามีการใช้ความรุนแรงในครอบครัว ต้องไม่นำเด็กเข้ามาเกี่ยวข้อง ครอบครัวที่เข้าใจเรื่องนี้ ก็อาจต้องลดเสียงลง หรือให้เด็กไปอยู่ที่อื่น แต่ในสถานกาณ์ที่ไม่เอื้อเช่นนี้อาจทำให้เด็กต้องมารับรู้ ซึ่งเด็กเองไม่ใช่ไม่กดดัน เขาก็ไม่สามารถออกจากบ้านได้ ขาดการแสดงออกที่ควรเป็นเหมือนปกติของเขาเช่นกัน หากครอบครัวจัดการปัญหานี้ไม่ได้ สิ่งนี้อาจเปลี่ยนเป็นระเบิดเวลาขึ้นมาได้

“แม้จะแนะนำได้ยาก แต่ในช่วงเวลานี้ หากผู้ใหญ่รู้สึกไม่ไหว ก็ควรต้องสร้างระยะห่างขึ้นมา อย่าชน อย่าปะทะ การอยู่ใกล้กันเกินไปอาจทำให้ร้อน ต้องเกรงใจเด็กๆ ที่เขาไม่เคยเป็นผู้ใหญ่มาก่อน เขาอดทนไม่ได้เท่าเรา การเกรี้ยวกราด ด่าทอ ต้องคำนึงถึงใจเด็กด้วยว่า จะสะสมอะไรไปบ้าง” ทิชา ทิ้งท้าย

ขณะที่ พญ.เบญจพร ตันตสูติ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ได้ให้คำแนะนำไว้ในเฟซบุ๊กแฟนเพจ “เข็นเด็กขึ้นภูเขา” เผยว่า เมื่อใดที่มีการทะเลาะกัน ไม่ควรให้เด็กได้รับรู้ หรือได้รับผลกระทบ หรือการให้เด็กเป็นตัวกลางระหว่างการทะเลาะกันของพ่อแม่ ยิ่งการตะโกนใส่หน้ากัน ด้วยคำหยาบคายย่อมส่งผลกระทบต่อจิตใจของเด็ก แม้ว่าเด็กจะยังไม่รู้ภาษา แต่ก็รับรู้ได้ถึงอารมณ์ที่รุนแรงและบรรยากาศที่กดดัน

พญ.เบญจพร เผยอีกว่า การทะเลาะกันบ่อยๆให้เด็กเห็น เด็กก็อาจจะมีอารมณ์วิตกกังวล ซึมเศร้า มีภาวะเครียด เด็กบางคนจะเซื่องซึมลง ไม่ร่าเริง ฝันร้าย นอนไม่หลับ แยกตัว พฤติกรรมเปลี่ยน หากทิ้งไว้นานจะกลายเป็นแผลในจิตใจ ส่งผลต่อลักษณะนิสัยได้ เช่น การเลียนแบบพฤติกรรมความรุนแรง พ่อแม่จึงควรดูแลสุขภาพจิตส่วนบุคคลของพ่อแม่ให้ดี และพยายามตั้งสติ ก่อนที่เราจะพูดหรือทำอะไร

หยุดทำร้ายลูกโดยไม่ตั้งใจ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง