รีเซต

รถหายทำไงดี ต้องผ่อนต่อไหม? เทียบคำพิพากษารถหายระหว่างผ่อนชำระไฟแนนซ์

รถหายทำไงดี ต้องผ่อนต่อไหม? เทียบคำพิพากษารถหายระหว่างผ่อนชำระไฟแนนซ์
TNN ช่อง16
17 สิงหาคม 2565 ( 11:37 )
153
รถหายทำไงดี ต้องผ่อนต่อไหม? เทียบคำพิพากษารถหายระหว่างผ่อนชำระไฟแนนซ์

รถหายทำไงดี รถยังผ่อนไม่หมด ต้องผ่อนต่อหรือไม่? สำนักงานกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม ตอบข้อสงสัยในเรื่องกฎหมาย กรณีรถหายในระหว่างผ่อนชำระ จำเป็นต้องผ่อนต่อหรือไม่?

โดยระบุว่า ในกรณีที่ "รถหาย" ในระหว่างผ่อนชำระกับไฟแนนซ์ หากความสูญหายนั้น มิได้เกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้เช่าซื้อ เมื่อทรัพย์สินที่เช่าซื้อสูญหาย สัญญาเช่าซื้อย่อมเป็นอันระงับไป ผู้เช่าซื้อไม่ต้องชำระราคาต่อ แม้ในสัญญาเช่าซื้อจะกำหนดหน้าที่ให้ชำระต่อไปก็ตาม ข้อตกลงดังกล่าวตกเป็นโมฆะ

ส่วนในกรณีที่ "สตาร์ทรถทิ้งไว้แล้วลงไปทำธุระ" และในกรณีที่ "ไม่ได้ล็อกประตูรถ" แต่ดึงกุญแจรถออกไปแล้ว โดนโจรกรรมรถ จะเป็นการประมาทของผู้เช่าซื้อหรือไม่ ผู้เช่าซื้อจะต้องรับผิดชอบเพียงใด ติดตามรายละเอียดได้ในคำพิพากษฎีกา ดังนี้

เทียบเคียงคำพิพากษาฎีกาที่ 2772 / 2560 เมื่อทรัพย์สินที่เช่าซื้อสูญหาย โดยไม่ใช่ความผิดของผู้เช่าซื้อ

ได้วินิจฉัยในประเด็นทีรถหายในระหว่างที่ผ่อนชำระกับสถาบันการเงินไว้น่าสนใจว่า เมื่อทรัพย์สินที่เช่าซื้อสูญหาย โดยไม่ใช่ความผิดของผู้เช่าซื้อ สัญญาเช่าซื้อย่อมระงับไป ผู้เช่าซื้อจึงไม่ต้องรับผิดในการชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้ออีกต่อไป 

อีกหนึ่งตัวอย่างที่การสูญหายหรือถูกโจรกรรม เกิดจากความประมาทเลินเล่อของเจ้าของรถเอง เนื่องจากจอดรถ โดยติดเครื่องยนต์ทิ้งไว้แล้วลงจากรถไปซื้อของ และถูกโจรกรรมรถ 

ต่อมาเจ้าของรถฟ้องต่อศาลให้บังคับบริษัทรับประกันภัยชดใช้ค่าเสียหาย กรณีนี้ศาลฎีกาได้วินิจฉัยว่าผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดในความสูญหายของรถยนต์ เนื่องจากเหตุที่คนร้ายลักรถยนต์เกิดขึ้น เพราะความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของเจ้าของรถเอง

เทียบเคียงคำพิพากษาฎีกาที่ 1305/2559 จอดรถโดยติดเครื่องยนต์ทิ้งไว้แล้ว ลงจากรถไปซื้อของ

ข้อความว่า พฤติกรรมของโจทก์ที่จอดรถโดยติดเครื่องยนต์ทิ้งไว้แล้ว ลงจากรถไปซื้อของ เป็นการขาดความระมัดระวังในการใช้ทรัพย์ หากโจทก์ใช้ความระมัดระวังตามสมควรโดยดับเครื่องยนต์และล็อกประตูรถยนต์ให้เรียบร้อยแล้ว เชื่อว่าคนร้ายไม่สามารถลักรถยนต์ของโจทก์ไปได้โดยง่าย 

เหตุที่คนร้ายลักรถยนต์ที่จำเลยรับประกันภัยไว้เกิดขึ้น เพราะความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของโจทก์ ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัย จำเลยในฐานะผู้รับประกันภัยจึงไม่ต้องรับผิดในความสูญหายของรถยนต์ตาม ป.พ.พ.มาตรา 897 วรรคหนึ่ง


เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 260/2523 ไม่ได้ล็อกรถยนต์ แต่ดึงกุญแจออก และทิ้งรถยนต์ไว้

คำว่า “ไม่ได้ล็อกกุญแจรถยนต์” ที่เจ้าพนักงานตำรวจบันทึกไว้หมายความถึงไม่ได้ล็อกกุญแจประตูรถยนต์ ไม่หมายความถึงไม่ได้ดึง กุญแจติดเครื่องยนต์ออก และการที่จอดรถยนต์ไว้ที่ริมถนนลาดพร้าว โดยไม่ได้ล็อกกุญแจประตูรถยนต์ 

แต่ได้ดึงกุญแจติดเครื่องยนต์ออก และทิ้งรถยนต์ ไว้เพียงประมาณ 10 นาที เพื่อไปซื้อของที่ร้านค้าริมถนนลาดพร้าวห่างจากที่จอดราวประมาณ 3 เมตร โดยที่ยังมีผู้คนอยู่ในบริเวณนั้น แล้วรถที่ทำประกันรถยนต์ไว้ได้หายไป มิได้เกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้เอาประกันภัย ผู้รับประกันภัยต้องรับผิด

สุดท้ายนี้ ขอให้เจ้าของรถทุกท่านควรระมัดระวังเหตุร้ายด้วยตัวท่านเอง หลีกเลี่ยงการจอดรถในทีเปลี่ยว ควรล็อกประตูรถ หรือล็อกพวงมาลัยรถ หรือล็อกเกียร์ หรือล็อกเบรก ฯลฯ เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดกับท่านเอง.


ข้อมูลจาก สำนักงานกิจการยุติธรรม

ภาพจาก TNN ONLINE

ข่าวที่เกี่ยวข้อง