รีเซต

การก่อการร้าย : อะไรทำให้มือทำระเบิดของกลุ่มเจไอกลายเป็นนักต่อสู้เพื่อสันติภาพ

การก่อการร้าย : อะไรทำให้มือทำระเบิดของกลุ่มเจไอกลายเป็นนักต่อสู้เพื่อสันติภาพ
บีบีซี ไทย
15 พฤษภาคม 2563 ( 07:43 )
196

 

"ผมเชี่ยวชาญด้านการทำระเบิด ใช้เวลา 5 นาทีเท่านั้นในการสร้างระเบิดเป็นลูก ๆ ขึ้นมา"

อาลี เฟาซี เป็นอดีตสมาชิกกลุ่มเจมาห์ อิสลามิยาห์ (Jemaah Islamiah) หรือเจไอ กลุ่มติดอาวุธที่มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มไอเอส และอยู่เบื้องหลังการวางระเบิดบนเกาะบาหลีเมื่อปี 2002 ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 200 คน

"พวกพี่ชายผมเป็นคนก่อเหตุระเบิดที่บาลี เป็นระเบิดรุนแรงที่ใจกลางเขตท่องเที่ยวของเกาะ"

BBC
อาลี เฟาซี ไปเรือนจำเพื่อทำงานร่วมกับนักโทษ

 

หลังจากนั้น กลุ่มติดอาวุธนี้ยังก่อเหตุต่อ ไม่ว่าจะเป็นที่โรงแรมใหญ่ ๆ หรือสถานทูตประเทศตะวันตกต่าง ๆ

หมู่บ้านเติงกุลุน เมืองลาโมงัน ทางตะวันออกของเกาะชวา ที่ดูเหมือนจะเงียบเหงา เคยเป็นฐานที่ตั้งของกลุ่มเจไอ

แต่ภารกิจของ อาลี เฟาซี เปลี่ยนไปแล้วจากหน้ามือเป็นหลังมือ ตอนนี้เขาพยายามเปลี่ยนนักรบญิฮาดให้กลับใจ และไม่ให้มีคนสมัครเป็นสมาชิกกลุ่มติดอาวุธในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มอีก

 

"ความเป็นจริงคือ การเชื้อเชิญให้คนมาร่วมกลุ่มก่อการร้ายเป็นงานง่ายกว่า"

"แค่เหนี่ยวไกปืนก็มีคนมากมายมาร่วมกลุ่มแล้ว แต่กระบวนการทำให้คนสละความคิดอันสุดโต่งต้องใช้เวลา และก็ต้องทำทีละขั้น"

และภารกิจนี้ก็เสี่ยงต่อชีวิต เฟาซีบอกว่าเขาโดนโจมตีทั้งทางวาจาและขู่ฆ่า

"แต่ผมไม่กลัวเลย เพราะผมรู้ว่าสิ่งที่ทำมันถูกต้อง ผมพร้อมจะตายจากการทำสิ่งนี้"

BBC

วิดีโอสงครามที่เกิดขึ้นที่อัฟกานิสถาน บอสเนีย และปาเลสไตน์ เป็นแรงบันดาลใจให้เขาและพี่ ๆ เข้าร่วมกลุ่มติดอาวุธ พอเห็นพลเรือนถูกโจมตี เขาก็อยากจะปกป้องชาวมุสลิม ความหนุ่มและเลือดร้อนทำให้เขาอยากจะสู้กลับ

ขณะที่พวกพี่ชายเขาไปร่วมกับกลุ่มมูจาฮีดีนในอัฟกานิสถาน เขาไปร่วมสู้กับกลุ่มติดอาวุธชาวมุสลิมทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์

"ตอนนั้นผมเชื่อว่าหากตายในสนามรบ ผมจะได้ขึ้นสวรรค์ทันที ได้เจอกับนางฟ้า นั่นคือสิ่งที่ผู้ฝึกสอนบอกเราทุกวัน"

Getty Images
กลุ่มเจมาห์ อิสลามิยาห์ (Jemaah Islamiah) อยู่เบื้องหลังการวางระเบิดบนเกาะบาหลีเมื่อปี 2002 ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 2 ร้อยคน

หลังกลับจากอัฟกานิสถาน พี่ชายเขาเอาบทเรียนที่ได้ไปก่อเหตุวางระเบิด 2 ลูกที่ไนต์คลับในบาหลี ซึ่งชาวต่างชาตินิยมไปเที่ยว

"ผมเห็นข่าวจากทีวี ตกใจมาก มีศพมากมายเหลือเกิน และการสอบสวนของทางการก็สาวมาถึงเราในที่สุด" ฟัลซีเล่า

 

พี่ชายสองคนของเขาถูกประหารชีวิต ขณะที่อีกคนต้องจำคุกตลอดชีวิต ตัวเขาเองซึ่งยืนยันว่าไม่ได้มีส่วนรู้เห็นในเหตุครั้งนั้นต้องจำคุก 3 ปี

เขาได้รับการปฏิบัติจากตำรวจอย่างมีมนุษยธรรม และนั่นก็เปลี่ยนทัศนคติที่เขาเคยมีไปโดยสิ้นเชิง และเขาก็ยังได้เจอเหยื่อจากเหตุการณ์ที่กลุ่มของเขาอยู่เบื้องหลังอีกด้วย

"ผมร้องไห้ ใจสลายที่ต้องเห็นผลกระทบร้ายแรงจากระเบิดของพวกเรา นั่นทำให้ผมอยากเปลี่ยนจากผู้ก่อสงครามไปสู่นักสู้เพื่อสันติภาพ"

 

BBC

อาลี เฟาซี ก่อตั้งมูลนิธิเซอร์เคิลออฟพีซ (Circle of Peace) ในปี 2016 เพื่อต่อสู้กับความคิดสุดโต่งของกลุ่มติดอาวุธ ตั้งอยู่ในหมู่บ้านเติงกุลุน ซึ่งเคยเป็นฐานที่มั่นของกลุ่มติดอาวุธของเขาและพี่ชาย เขาจัดให้มีการพบปะกันระหว่างตำรวจ เหยื่อความรุนแรง และสมาชิกกลุ่มติดอาวุธที่พ้นโทษจำคุกออกมาแล้ว

BBC

ในการพบปะเย็นวันหนึ่ง ชายวัย 33 ปี ชื่อ ซูเลีย มาเฮนดรา ได้พบกับเหยื่อเหตุระเบิดสองคน ที่พ่อของเขาเองอยู่เบื้องหลัง พวกเขากอดกัน และมาเฮนดราก็ได้แต่พูดว่าขอโทษซ้ำ ๆ

"ผมอยากจะบอกว่าเสียใจ ไม่ใช่เพราะผมผิด แต่เขาคือพ่อของผม และนี่คือเหยื่อจากการกระทำของครอบครัวผม เป็นความรับผิดชอบของผมที่จะต้องเอ่ยคำว่าเสียใจแทนพ่อ"

 

BBC
ซูเลีย มาเฮนดรา อายุ 16 ปี ตอนพ่อถูกจับและประหารชีวิตในเวลาต่อมาฐานก่อเหตุระเบิดที่บาหลี

BBC

วันหนึ่ง อาลี เฟาซี ไปที่เรือนจำลาโมงัน นี่เป็นสถานที่ที่เขาคุ้นเคย เขามาที่นี่หลายครั้งเพื่อพบสมาชิกในครอบครัวที่ต้องโทษอยู่ และเจอนักโทษคนใหม่ ๆ เพื่อพยายามเปลี่ยนความคิดพวกเขา

"วิธีทำให้คนสละความคิดอันสุดโต่งของผมไม่ได้ใช้ทฤษฎี แต่เอามาจากประสบการณ์ชีวิตผมเอง ผมเคยเป็นนักรบ เป็นผู้ก่อการร้าย ดังนั้น ผมมายังเรือนจำนี้ในฐานะเพื่อน"

เขาบอกว่ารับมือไหว แม้จะถูกกล่าวหาว่าเป็นคนทรยศที่หันไปร่วมงานกับตำรวจ

 

BBC
อาลี เฟาซี ไปเรือนจำเพื่อทำงานร่วมกับนักโทษ

จากนักโทษที่เขาทำงานด้วย 98 คน ตั้งแต่ปี 2016 มีเพียง 2 คนเท่านั้นที่กลับไปร่วมกลุ่มติดอาวุธทันทีหลังพ้นโทษ เขาบอกว่ามันไม่ใช่งานง่ายเพราะต้องจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกคนรวมถึงวิธีคิด

"คุณต้องให้ยาที่ถูกต้อง และบางครั้งเราก็ผิดพลาด"

 

BBC
ซูมาร์โน ชี้ให้ดูว่าเขาซ่อนอาวุธที่ใช้ก่อเหตุที่บาหลีไว้ที่ไหน

ที่ประสบความสำเร็จก็มี อย่างเรื่องของซูมาร์โน

หลังจากเป็นผู้ซ่อนอาวุธของกลุ่มเจมาห์ อิสลามิยาห์ ที่ใช้ในเหตุรุนแรงที่บาลี และถูกจำคุกไป 3 ปี ตอนนี้ เฟาซีช่วยซูมาร์โนก่อตั้งธุรกิจนำเที่ยวเล็ก ๆ ที่ขายแพคเกจพาคนไปแสวงบุญที่นครเมกกะ

 

BBC

ภรรยาของเฟาซี ชื่อลูลู ก็เป็นครูประจำมูลนิธิ เธอบอกว่า สามีทำงานหนักที่จะเปลี่ยนใจนักโทษที่เคยเป็นผู้ก่อการร้ายไม่ให้กลับไปก่อความรุนแรงอีก และก็ช่วยได้หลายคน

 

BBC

"แต่ยังมีอีกหลายคนที่มีความคิดสุดโต่ง เราไม่สามารถลบมันออกไปได้ๆจริง" ภรรยาของเฟาซี กล่าว

 

BBC
ลูลู เฟาซี

ขณะขับรถในหมู่บ้าน โทรศัพท์เฟาซีดังขึ้น คนปลายสายเป็นอดีตผู้ก่อการร้ายที่เพิ่งพ้นโทษ และต้องการความช่วยเหลือในการหาบ้านอยู่ โทรศัพท์อีกสายที่โทรเข้ามาเป็นแม่ซึ่งลูกชายกำลังถูกตำรวจสอบสวน

"คนหลายสิบคนจากชุมชนเราไปต่อสู้กับกลุ่มไอเอสในซีเรียและอิรัก ไม่นานมานี้ ยังมีสมาชิกกลุ่มไอเอสถูกตำรวจคุมตัวที่นี่ ดังนั้นกลุ่มติดอาวุธยังมีอยู่และก็ยังเป็นภัยต่ออินโดนีเซีย"

"หากเราทำงานหนัก และให้คนทั้งชุมชนมาร่วมมือกัน ผมก็ยังหวังว่าเราจะสามารถชนะสงครามในครั้งนี้ได้"

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง