สุริยะ ห่วงราคาพลังงาน-เงินเฟ้อ กดดันอุตฯไทย หลังภาคผลิตฟื้นเอ็มพีไอมี.ค.สูงสุดรอบ 1 ปี
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เอ็มพีไอ) เดือนมีนาคม 2565 อยู่ที่ 109.32 นับเป็นค่าดัชนีฯที่สูงสุดในรอบ 12 เดือนนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 แต่ลดลง 0.12% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่เอ็มพีไอไตรมาสแรกปีนี้(มกราคม-มีนาคม) ระดับ 105.16 ขยายตัว 1.41% เนื่องจากภาคการส่งออกของไทยขยายตัวโดยเฉพาะเดือนมีนาคม ขยายตัว 19.54% สูงสุดในรอบ 30 ปี หลังทั่วโลกรวมถึงไทยผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19และเปิดประเทศส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นฟื้นตัวมากขึ้น
การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (ไม่รวมทองคำ) เดือนมีนาคมขยายตัว 5.66 %และ 11.52% ตามลำดับ เพื่อเตรียมการผลิต รวมถึงค่าเงินบาทที่อ่อนค่าส่งสัญญาณบวกต่อทิศทางการส่งออก แต่ต้องจับตาปัจจัยเงินเฟ้อโดยเฉพาะราคาพลังงานที่สูง และราคาวัตถุดิบที่เริ่มกระทบต้นทุนการผลิตของภาคอุตสาหกรรมไทย
นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า อัตราการใช้กำลังการผลิตเดือนมีนาคม 2565 อยู่ที่ระดับ 68.77% สูงสุดรอบ 12 เดือนเช่นกัน แต่ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ระดับ 69.68% ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตไตรมาสแรกอยู่ที่ 66.35% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ 66.32% ปัจจัยบวกจากการส่งออกและคาดว่าจะทยอยเติบโต
สศอ.ได้ใช้เครื่องมือระบบเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทย (EWS-IE) ในการคำนวณ พบว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวใน 1-2 เดือนข้างหน้า อุปสงค์ในประเทศและการส่งออกมีแนวโน้มขยายตัว เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าทยอยฟื้นตัวจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด ทำให้มีความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น แต่ประเด็นที่ควรระวัง 3 ด้านได้แก่ 1.การปรับโควิด-19จากโรคระบาดเป็นโรคประจำถิ่น 2.อัตราเงินเฟ้อจากระดับราคาน้ำมันและสงครามรัสเซีย-ยูเครน 3.การล็อกดาวน์เมืองท่าสำคัญของจีน