"กรุงศรี พัฒนสิน" คาด KBANK-SCB เสี่ยงตั้งสำรองเพิ่ม หาก STARK ผิดนัดชำระหนี้
บล.กรุงศรี พัฒนสิน ระบุในบทวิเคราะห์จากการที่นสพ.ทันหุ้น ได้อ้างถึงแหล่งข่าวจากสถาบันการเงินว่าบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) หรือ STARK มีดีลที่ครบกำหนดชำระหนี้ KBANK และ SCB แล้ว แต่กลับยังไม่ได้ชำระเงิน ซึ่งต้องติดตามความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ และอาจจะทำให้ธนาคารที่ปล่อยกู้ STARK จำเป็นต้องตั้งสำรองครั้งใหญ่ โดยคาดว่า KBANK จะมีมูลค่าปล่อยกู้ให้ STARK ราวกว่า 5 พันล้านบาท ส่วน SCB น่าจะอยู่ราว 2-3 พันล้านบาทนั้น
ฝ่ายวิจัยมีมุมมอง Slightly Negative Sentiment ต่อประเด็นข่าว STARK เสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ KBANK และ SCB เพราะค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรอง (ECL) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในเบื้องต้น STARK มีเงินกู้จากธนาคารทั้งหมด ณ 9 เดือนปี 2565 ที่ 8.61 พันล้านบาท จากข่าวดังกล่าวมีกล่าวถึงธนาคารที่ปล่อยกู้ STARK ได้แก่ KBANK มีมูลค่าประมาณ 5 พันล้านบาท และ SCB มีมูลค่าประมาณ 2-3 พันล้านบาท
**อาจต้องสำรองเพิ่ม
ฝ่ายวิจัย ระบุว่าหากข่าวดังกล่าวเป็นจริง ในกรณีที่แย่ที่สุด ภายใต้สมมติฐาน KBANK ปล่อยกู้อยู่ที่ 5 พันล้านบาท และ SCB ปล่อยกู้ที่ 3 พันล้านบาท ขณะที่ STARK อยู่ในกลุ่มลูกหนี้ชั้นที่ 1 นั้น จะทำให้ KBANK และ SCB ต้องตั้งสำรองเพิ่ม 88% ของมูลหนี้ โดย KBANK ต้องตั้งสำรองเพิ่มอยู่ที่ 4.4 พันล้านบาท กระทบต่อกำไรสุทธิปี 2566 ของ KBANK คาดที่ 3.97 หมื่นล้านบาท มี downside -8% กระทบต่อราคาเป้าหมายปีนี้ที่ 160 บาท มี downside -10 บาท
ส่วน SCB ต้องตั้งสำรองเพิ่มอยู่ที่ 2.64 พันล้านบาท กระทบต่อกำไรสุทธิปี 2566 ของ SCB คาดที่ 4.13 หมื่นล้านบาท มี downside -5% และมีผลกระทบต่อราคาเป้าหมายที่ 130 บาท ซึ่งมี downside -5 บาท
จากการประเมิน จะเห็นได้ว่า KBANK มีมูลค่าการปล่อยกู้มากกว่า SCB ทำให้ได้รับผลกระทบมากกว่า แต่ฝ่ายวิจัยมองว่า SCB มีความเสี่ยงสูงกว่า KBANK เพราะ KBANK มีการตั้งสำรองก้อนใหญ่ในช่วงไตรมาส 4/65 ฝ่ายวิจัยคาดว่าส่วนหนึ่งมาจากลูกหนี้ STARK ขณะที่ SCB ในช่วงไตรมาส 3 และ 4 ของปีก่อน ไม่ได้มีการตั้งสำรองพิเศษ
โดยฝ่ายวิจัยกรุงศรี พัฒนสิน ได้สอบถามข้อมูลจากธนาคาร ซึ่งยังไม่มีการให้ความเห็นต่อประเด็นดังกล่าว