รีเซต

"แบงก์ชาติ" เข็น FX Ecosystem ลดแรงกดดัน "บาทแข็ง"

"แบงก์ชาติ" เข็น FX Ecosystem ลดแรงกดดัน "บาทแข็ง"
TNN ช่อง16
23 พฤศจิกายน 2563 ( 11:01 )
235
"แบงก์ชาติ" เข็น FX Ecosystem ลดแรงกดดัน "บาทแข็ง"

วันนี้(23พ.ย.63)ปัจจุบันเศรษฐกิจโลกใกล้ชิดกันมากขึ้น ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงค่าเงินจึงส่งผลกระทบในหลายธุรกิจ ทั้งการส่งออก การท่องเที่ยว และการลงทุนต่างๆ และช่วงที่ผ่านมา ประเทศไทย ได้รับความเชื่อมั่นมากขึ้น จากทั้งการที่อยู่ในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาแล้ว และพื้นฐานเศรษฐกิจที่ยังแข็งแกร่ง ทำให้เงินไหลเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ส่งผลให้ค่าเงินบาทของไทย เกือบๆ 2 เดือนที่ผ่านมา ค่าเงินแข็งค่า 4.3% แข็งค่าที่สุดเป็นอันดับ 3 ซึ่งกระทบเศรษฐกิจไทยที่กำลังเปราะบางจากโควิด-19 

ติดตามชมรายการเพิ่มเติมได้ที่ "เศรษฐกิจ Insight"

https://www.youtube.com/watch?v=VPBsv9UvEDM

ขณะที่ ทางการไทย มีความพยายามแก้ปัญหานี้อย่างยั่งยืนมาโดยตลอด ล่าสุดมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมกับกระทรวงการคลัง และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ล่าสุด เปิดประตูกว้างขึ้น ให้สามารถนำเงินไปลงทุนต่างประเทศได้ เพื่อหวังให้เกิดความสมดุล ไม่ต้องพึ่งพาทางการในการดูแลค่าเงินบาทเพียงอย่างเดียวด้วย 3 มาตรการสำคัญ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน


กราฟฟิก 1 ธปท.อยู่ระหว่างผลักดันให้เกิด FX Ecosystem ใหม่

มาดู FX ecosystem หรือ ระบบนิเวศของตลาดเงิน "ใหม่" ซึ่งเป็นแนวทางการดำเนินการของธนาคารแห่งประเทศไทย ecosystem ของตลาดเงิน มีอะไรบ้าง จะต้องมีกลุ่มนักลงทุน ซึ่งเป็นทั้งรายย่อย ประชาชนทั่วไป ผู้ประกอบการ องค์กรต่างๆ และผู้ให้บริการด้านการลงทุน บล. บลจ.และไพรเวท แบงกิ้ง ซึ่งทั้งหมดจะต้องได้รับการปลดล็อค ให้สามารถออกไปลงทุนต่างประเทศได้ง่ายขึ้น จากช่วงที่ผ่านมา และเมื่อลงทุนได้อย่างเกือบจะเสรีแล้ว ภาครัฐจึงจำเป็นต้องมีบทบาทในการกำกับดูแล ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น หากเกิดพฤติกรรมการนำเงินออกแบบน่าสงสัย เพื่อที่จะสกัดกั้นได้ทันเหตุการณ์ 

และเป้าหมายจากกราฟฟิกด้านบน นำมาสู่ 3 มาตรการที่ดำเนินการได้ทันที คือ 

1.เปิดให้ฝากเงินตราต่างประเทศได้เสรี 

2.ปรับหลักเกณฑ์การลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ ให้เปิดกว้างมากขึ้น

3.ลงทะเบียนแสดงตัวตนเพื่อซื้อขายตราสารหนี้ 


กราฟฟิก 2 คนไทยฝากบัญชี FCD ได้เสรี 

ธนาคารแห่งประเทศไทย ใช้คำว่าเสรี นั้นหมายถึงทุกคนสามารถมีสิทธิในการเปิดบัญชีเงินฝากสกุลเงินต่างประเทศได้ จากก่อนหน้านี้ ที่มีเงื่อนไขค่อนข้างมาก บัญชีเงินฝาก FCD จะเป็นเหมือนพาสปอร์ตที่จะนำให้เรา สามารถไปลงทุนต่างประเทศ เพื่อกระจายความเสี่ยงได้ 

ประโยชน์ของ FCD คือ เก็บเงินไว้รอชำระรายจ่าย หรือ รอลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ ไม่ต้องแลกเงินกลับไปกลับมา ซึ่งต้องเสียส่วนต่างอัตราแลกเปลี่ยนหลายรอบ รวมถึงลดความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนในยุคปัจจุบัน ที่มีความผันผวนรุนแรง 

ถามว่า เปิดบัญชี FCD ง่ายขึ้น เสรีขึ้น ใครได้ประโยชน์ แน่นอนผู้ประกอบการที่มีส่วนเกี่ยวข้อกับการค้าขายต่างประเทศ ทั้งนำเข้า และส่งออก สามารถรับ/จ่ายสินค้าสะดวกมากขึ้น และที่สำคัญ ประชาชนทั่วไป ที่ต้องการนำเงินออกไปลงทุนต่างประเทศ รอชำระค่าบริการต่างๆ เป็นสกุลเงินต่างประเทศ ส่งลูกเรียนหนังสือต่างประเทศ รวมถึงการซื้อขายหลักทรัพย์ในต่างประเทศ ได้ประโยชน์ คือ ทั้งสะดวก และลดต้นทุนส่วนต่าง และค่าธรรมเนียมอัตราแลกเปลี่ยนไปได้มาก  


กราฟฟิก 3 ลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศง่ายขึ้น 

เมื่อมีพาสปอร์ตในการลงทุนแล้ว ต้องปลดล็อคให้สามารถไปลงทุนได้ 3 หัวข้อสำคัญ บุคคลธรรมดา เพิ่มวงเงินลงทุนโดยตรง เป็น 5 ล้านเหรียญต่อปี จากเดิมไม่เกิน 2 แสนเหรียญต่อปี 

ยกเลิกวงเงินลงทุนที่จัดสรรภายใต้ ก.ล.ต. หรือ เพดานไม่เกิน 150,000 ล้านเหรียญต่อปี ทำให้นักลงทุนสถาบัน ทั้ง บล. บลจ. และไพรเวทแบงกิ้ง สามารถไปลงทุนต่างประเทศได้ โดยไม่จำกัด 

และ ขยายขอบเขตหลักทรัพย์สกุล FX ที่ขายในไทย ให้รวมถึงตราสารสกุล FX ทุกประเภท เช่น ทองคำ หุ้น ต่างๆ จากข้อนี้ ทำให้ในอนาคต อาจมีการออกผลิตภัณฑ์หุ้นต่างประเทศที่น่าสนใจ เช่น แอปเปิ้ล เทสล่า โมเดนา เข้ามาซื้อขายในประเทศไทยได้ง่ายขึ้น 


กราฟฟิก 4 มาตรการลงทะเบียนเพื่อซื้อขายตราสารหนี้ 

อย่างที่บอกไปว่า เปิดให้นำเงินออกไปลงทุนต่างประเทศแล้ว ก็ต้องแสดงตัวตน ก่อนการซื้อขาย สำหรับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ แบ่งออกเป็น 2 ข้อ คือ ลงทะเบียนครั้งเดียวก่อนการซื้อขาย และแจ้งเลขทะเบียนในการซื้อขายตราสารหนี้ทุกครั้ง 

เพื่อที่จะติดตามพฤติกรรมการลงทุนได้ทันการณ์ พร้อมกำหนดนโยบายในตลาดตราสารหนี้ได้ตรงจุด และที่สำคัญ มีข้อมูลมากเพียงพอที่จะใช้ในการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ 


กราฟฟิก 5 การซื้อขายตราสารหนี้ของแต่ละประเทศ

คำถามสำคัญคือ การติดตามข้อมูลของนักลงทุน จะส่งผลกระทบความเชื่อมั่นนักลงทุนหรือไม่ พาไปดูถ้าหากแยกเป็น 3 กลุ่มสำคัญ คือ เปิดให้เงินทุนเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรี และไม่ต้องแสดงตัวตนกลุ่มนี้ จะมี สิงโปร์ ฮ่องกง และไทย ซึ่งไทยกำลังจะย้ายเข้าไปอยู่ในกลุ่ม ให้นักลงซื้อขายได้อย่างเสรี แต่ต้องแสดงตัวตนก่อนซื้อขาย กลุ่มนี้จะมีหลากหลาย ทั้งเกาหลีใต้ ไต้หวัน อินโดนีเซีย และบราซิล 

และกลุ่มที่ค่อนข้างปิดการเข้าและออกของเงินลงทุน หรือ นักลงทุนต้องแสดงตัวตนก่อนซื้อขาย และจำกัดวงเงินลงทุน กลุ่มนี้ มีจีน และอินเดีย 


กราฟฟิก6 เงินบาทแข็งสุดอันดับ 3 ในภูมิภาค

นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน  เปิดเผบว่า สาเหตุสำคัญ ที่ต้องออกมาตรการเช่นนี้ เป็นเพราะทิศทางค่าเงินบาทแข็งค่ามาอย่างต่อเนื่อง เมื่อดูในระยะสั้น 2 เดือนที่ผ่านมา นับตั้งแต่ 23 กันยายน 2563 หรือการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. รอบก่อน เทียบกับการประชุมกนง. 18 พ.ย.ที่ผ่านมา ค่าเงินบาทแข็งค่า 4.3% เป็นการแข็งค่ามากที่สุดเป็นอันดับ 3 ในภูมิภาค เป็นรองรูเปียห์อินโดนีเซีย ที่แข็งค่า 5.3% และ วอนเกาหลีใต้ ที่แข็งค่า 5.2% 

เงินบาทไทย แข็งค่ากว่า ค่าเงินหยวน จีน, ดอลลาร์สิงคโปร์, ดอลลาร์ไต้หวัน, ริงกิต มาเลเซีย , เยน ญี่ปุ่น ,เปโซ ฟิลิปินส์ , ดอง เวียดนาม และรูปี อินเดีย 

ซึ่งการแข็งค่ารวดเร็วเช่นนี้ เสี่ยงที่จะกระทบเศรษฐกิจไทย ที่พึ่งพาต่างประเทศค่อนข้างมาก โดยเฉพาะภาคส่งออก ในช่วงที่เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัว จากการแพร่ระบาดโควิด-19 แม้จะฟื้นตัวได้ดีกว่าที่คาดการณ์ แต่เศรษฐกิจยังเปราะบาง ซึ่งทำให้ กนง. ติดตามการแข็งค่าของเงินบาทอย่างใกล้ชิด และเข้าดูแลค่าเงินอย่างต่อเนื่อง


กราฟฟิก 7 ไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่อง

การที่ค่าเงินบาทแข็งค่าอย่างต่อเนื่องหลายปี สาเหตุสำคัญคือการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศไทย ในปริมาณมาก มาต่อเนื่องหลายปี เพราะประเทศไทย พึ่งพาเศรษฐกิจต่างประเทศ ทั้งการส่งออก และการท่องเที่ยว มาตลอด 10-20 ปี ที่ผ่านมา และมีการลงทุนในต่างประเทศ นำเข้าเครื่องจักรน้อย และเม็ดเงินลงทุนไหลเข้าประเทศที่มีพื้นฐานดี และอัตราเติบโตสูง ดังนั้น "เงินไหลเข้าประเทศ มากกว่าเงินออก"  "ทำให้เงินบาทแข็งขึ้น"  


กราฟฟิก8 เผย 5 ปี ไทยแทรกแซงค่าเงิน 

และปล่อยให้เป็นหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย ดูแลค่าเงินบาท ล่าสุด ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ยอมรับ 5 ปี ที่ผ่านมาเข้าแทรกแซงค่าเงิน ทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และเมื่อ ค่าเงินบาทเปลี่ยนแปลงทุก 1 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ การตีมูลค่าเงินสำรอง ขาดทุน 1 แสนล้านบาท เช่นกัน 

อัตราแลกเปลี่ยน ค่าเงินสำคัญมากสำหรับผู้ผลิตสินค้าไทย เนื่องจากปัจจุบัน ต้นทุนแรงงานในประเทศไทย และสภาพแวดล้อมในการทำธุรกิจต่างๆ สูงขึ้น อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงาน แข็งขันได้ยากในยุคนี้ และหากเงินบาทแข็ง กลายเป็นต้นทุนทำให้สินค้าไทย แพงขึ้น นี่อาจเป็นผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว ซึ่งยังต้องติดตามมาตรการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ออกมาแล้ว และที่กำลังจะออกมาในอนาคต ว่าจะแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลได้หรือไม่ 

ติดตามชมรายการเพิ่มเติมได้ที่ "เศรษฐกิจ Insight"

https://www.youtube.com/watch?v=VPBsv9UvEDM

เกาะติดข่าวที่นี่

website: www.TNNTHAILAND.com
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง