รีเซต

'ไทย-กัมพูชา' สานความร่วมมือศก.ดิจิทัล เพื่อการฟื้นฟูอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน

'ไทย-กัมพูชา' สานความร่วมมือศก.ดิจิทัล เพื่อการฟื้นฟูอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน
มติชน
11 ตุลาคม 2564 ( 06:17 )
68
'ไทย-กัมพูชา' สานความร่วมมือศก.ดิจิทัล เพื่อการฟื้นฟูอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน

การดำเนินความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านเป็นเสาหลักสำคัญหนึ่งของการต่างประเทศของไทยมายาวนาน ขณะที่การกระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้านก็เป็นเครื่องจักรที่สำคัญอย่างมากในการขับเคลื่อนการฟื้นฟูเศรษฐกิจของทุกประเทศจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ความท้าทายสำคัญประการหนึ่งคือเราจะทำอย่างไรเพื่อส่งเสริมให้ระบบเศรษฐกิจ ผู้ประกอบการ และผู้บริโภคของไทยและประเทศเพื่อนบ้านมีความเชื่อมโยงกันมากขึ้น สามารถก้าวไปข้างหน้าร่วมกันได้อย่างยั่งยืนในโลกยุคดิจิทัลที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นั่นทำให้การส่งเสริมความร่วมมือในด้าน “เศรษฐกิจดิจิทัล” จึงเป็นโจทย์แห่งอนาคตสำหรับไทยและประเทศเพื่อนบ้านเพื่อการฟื้นฟูอย่างเข้มแข็งและยั่งยืนไปด้วยกัน โดยเฉพาะกัมพูชาซึ่งถือเป็นหนึ่งในคู่ค้าสำคัญของไทย เมื่อดูจากตัวเลขมูลค่าทางการค้าของสองประเทศในปี 2563 ที่สูงถึง 7,231 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

กรมเอเชียตะวันออก กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เล็งเห็นความสำคัญของเรื่องดังกล่าวจึงได้จัดการสัมมนาออนไลน์ ในหัวข้อ Connecting Digital Opportunities between Thailand and Cambodia ขึ้นภายใต้ความร่วมมือกับศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ กต. และสถานเอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย ขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ื่อหารือถึงส่งเสริมความร่วมมือระหว่างไทยกับกัมพูชาในด้านเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อขับเคลื่อนทั้งสองประเทศไปสู่การเติบโตอย่างครอบคลุม (inclusive growth) และเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งยังถือเป็นการเปิดมิติใหม่ของความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ โดยมีวิทยากรจากหลากหลายภาคส่วนทั้งของไทยและกัมพูชาร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับแนวโน้ม นโยบาย และพัฒนาการด้านเศรษฐกิจดิจิทัลในทั้งสองประเทศ รวมทั้งเพื่อหารือความร่วมมือที่เป็นไปได้ในการเชื่อมโยงและการขยายโอกาสด้านเศรษฐกิจดิจิทัลระหว่างกัน

 

น.ส.อาจารี ศรีรัตนบัลล์ อธิบดีกรมเอเชียตะวันออก กล่าวเปิดการสัมมนาโดยชี้ให้เห็นการคาดการณ์ว่า มูลค่าของเศรษฐกิจดิจิทัลในไทยจะเติบโตถึงร้อยละ 25 จาก 19.76 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2562 เป็น 24.81 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2565 ขณะที่ในกัมพูชา รายได้จากธุรกิจดิจิทัลและเทคโนโลยีได้เติบโตขึ้นเป็น 470 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2562 และจะยิ่งเติบโตเร็วขึ้นเรื่อยๆ จากการที่คนกัมพูชาเริ่มปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตไปสู่ยุคดิจิทัลมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น ไทยและกัมพูชาจึงควรให้ความสำคัญกับความร่วมมือในการก้าวสู่ยุคดิจิทัลไปด้วยกัน และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้เป็นประโยชน์ต่อภาคธุรกิจและประชาชนของทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ผ่านการส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างระบบนิเวศด้านเศรษฐกิจดิจิทัลของสองประเทศ

 

 

นายฮิเดอากิ อิวาซากิ ผู้อำนวยการสำนักงานผู้แทนธนาคารพัฒนาเอเชียประจำประเทศไทย กล่าวว่า แพลตฟอร์มดิจิทัลต่างๆ จะเป็นปัจจัยสำคัญในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในเอเชีย การส่งเสริมการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และการเพิ่มประสิทธิภาพในการกำหนดนโยบาย โดยในปี 2562 แพลตฟอร์มดิจิทัลในประเทศไทยมีรายได้รวม 12.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยร้อยละ 40.4 เป็นรายได้จากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ และร้อยละ 40.7 เป็นรายได้จากแพลตฟอร์มการท่องเที่ยว ที่เหลือเป็นรายได้จากแพลตฟอร์มอื่นๆ เช่น สื่อดิจิทัล โฆษณา การคมนาคมขนส่ง และบริการในด้านต่างๆ โดยไทยมีอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตสูงแต่ยังมีการใช้จ่ายผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลต่อหัวต่ำเมื่อเทียบกับจีน ญี่ปุ่น สหรัฐ หรือยุโรป ดังนั้นแพลตฟอร์มดิจิทัลในไทยจึงมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก ขณะที่แพลตฟอร์มดิจิทัลในกัมพูชามีรายได้รวม 470 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยร้อยละ 37.9 เป็นรายได้จากแพลตฟอร์มการท่องเที่ยว และร้อยละ 27.6 เป็นรายได้จากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ โดยกัมพูชายังมีการใช้จ่ายผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลต่อหัวต่ำ แพลตฟอร์มดิจิทัลในกัมพูชาจึงมีโอกาสเติบโตได้อีกมากเช่นกัน

 

นายอิวาซากิยังชี้ให้เห็นว่า ไทยและกัมพูชาจะได้ประโยชน์จากการใช้ชุดข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) จากแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างๆ ในการกำหนดนโยบายที่ตอบสนองและยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พร้อมเสนอว่าไทยและกัมพูชาควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในราคาที่ทุกคนเข้าถึงได้ ระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่หลากหลาย โครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ การเสริมสร้างความเข้าใจและทักษะด้านดิจิทัลให้แก่ประชาชน นโยบายการเก็บภาษีธุรกิจดิจิทัลเพื่อแก้ไขปัญหาการหลีกเลี่ยงภาษีโดยอาศัยช่องว่างของกฎหมายด้านภาษีที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและความมั่นคงทางไซเบอร์ เพื่อส่งเสริมศักยภาพด้านเศรษฐกิจดิจิทัลของสองประเทศ

 

 

ในช่วงการอภิปราย มีผู้ร่วมการอภิปรายจากภาคเอกชนมาร่วมแบ่งปันประสบการณ์และข้อคิดเห็นในการทำธุรกิจในยุคดิจิทัลในไทยและกัมพูชา ได้แก่ นายวุฒินันท์ สังข์อ่อง ซีอีโอและผู้ก่อตั้งบริษัทฟาสต์ชิป จำกัด ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จของไทยในธุรกิจอีคอมเมิร์ซและการขนส่งระหว่างประเทศ และออกญา ซก พิเสะ (Okhna Sok Piseth) รองประธานหอการค้ากัมพูชา และรองประธานและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Biz Solutions จำกัด ซึ่งให้บริการสนับสนุนบริษัทต่างๆ ในกัมพูชาในการปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในองค์กร นอกจากนั้นยังมี นายเจีย ลายเจีย (Chea Laichea) ผู้อำนวยการกองความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์กัมพูชา มาให้ข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนาการของอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซในกัมพูชา และ นางสาวเจมี โค (Jamie Ko) Director of Regional Public Affairs and Policy Unit ของบริษัท Grab มาร่วมให้มุมมองของแพลตฟอร์มดิจิทัลในระดับภูมิภาคต่อการส่งเสริมความร่วมมือด้านดิจิทัลระหว่างไทยกับกัมพูชา

 

ผู้ร่วมการอภิปรายทุกคนต่างเล็งเห็นโอกาสจากการเติบโตอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจดิจิทัลในไทยและกัมพูชา โดยเฉพาะธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ซึ่งเกิดจากปัจจัยเกื้อหนุน ได้แก่ การเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ทางเลือกในการชำระเงินที่มากขึ้น และการเกิดขึ้นของบริการขนส่งสินค้าจนถึงมือผู้รับปลายทางอย่างมีประสิทธิภาพ และเห็นว่าการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลควรจะเป็นไปอย่างครอบคลุม เพื่อให้ประชาชนทุกคนได้มีส่วนร่วมและได้รับประโยชน์ ทั้งยังได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการส่งเสริมความเชื่อมโยงด้านเศรษฐกิจดิจิทัลระหว่างไทยกับกัมพูชาให้มากขึ้นผ่านการปรับกฎระเบียบให้สอดคล้องกัน โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับภาษีธุรกิจดิจิทัล ภาษีศุลกากร และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล รวมทั้งความสามารถในการทำงานร่วมกันของระบบต่างๆ (interoperability) โดยเฉพาะการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (digital ID) และกระบวนการในการรู้จักลูกค้า (Know Your Customer – KYC)

 

 

ในส่วนของภาครัฐ ดร. กษิติธร ภูภราดัย รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลแห่งประเทศไทย และ ดร. กง มารี (Kong Marry) ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจและการคลังกัมพูชา ได้ให้ภาพรวมเกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลไทยและกัมพูชาในการใช้ประโยชน์จากเศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยทั้งสองประเทศต่างให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล การพัฒนากำลังคนและการเสริมสร้างความรู้และทักษะด้านดิจิทัลให้แก่ประชาชน การสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล การยกระดับบริการภาครัฐ การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และการนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปปรับใช้ในสาขาที่หลากหลาย รวมทั้งในภาคเกษตรกรรม

 

ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องว่าไทยและกัมพูชาควรสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือใกล้ที่ชิดยิ่งขึ้นในด้านเมืองอัจฉริยะโดยผ่านเครือข่ายเมืองอัจฉริยะอาเซียน (ASEAN Smart Cities Network – ASCN) การพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลและการแก้ปัญหาด้วยเทคโนโลยี การส่งเสริมความรู้และทักษะด้านดิจิทัลให้แก่ประชาชน การระดมทรัพยากร และโครงการต่าง ๆ เพื่อจับคู่ธุรกิจสตาร์ทอัพกับนักลงทุนโดยใช้ประโยชน์จากสถาบันส่งเสริมวิสาหกิจดิจิทัลเริ่มต้น (Digital Startup Institute) ของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล โดยดร. กง มารี ยังได้เสนอให้มีการจัดทำความตกลงทวิภาคีด้านเศรษฐกิจดิจิทัล (bilateral digital economy agreement) ระหว่างไทยกับกัมพูชา เพื่อส่งเสริมความสามารถในการทำงานร่วมกันของระบบและมาตรฐานต่าง ๆ รวมทั้งเพื่อสนับสนุนการทำธุรกิจร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการของสองประเทศ

 

ขณะที่ นายอูก ซอพวน (Ouk Sorphorn) เอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย ได้กล่าวปิดการสัมมนาว่า ไทยและกัมพูชาควรร่วมมือกันในการลดช่องว่างด้านดิจิทัลระหว่างสองประเทศ การส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนระหว่างรัฐบาลกับภาคธุรกิจ และการเสริมสร้างโอกาสให้ธุรกิจขนาดเล็กและผู้ประกอบการรุ่นใหม่ด้วยการศึกษาและการพัฒนาศักยภาพด้านดิจิทัล

 

 

ทั้งนี้ผลการสัมมนาและข้อเสนอแนะต่างๆ จะมีการนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี (เจซี) ไทย – กัมพูชา ครั้งต่อไปในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งจะมีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยและกัมพูชาเป็นประธานร่วม

 

การสัมมนาครั้งนี้ถือเป็นการเปิดมิติใหม่ของความร่วมมือที่เต็มไปด้วยโอกาสในการขยายตัวและมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้นระหว่างสองประเทศ สิ่งที่ต้องทำต่อไปคือการแปลงข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเหล่านี้ไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะต้องอาศัยความมุ่งมั่นของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองฝ่ายในการหารือและทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้ความร่วมมือดังกล่าวเดินไปข้างหน้าได้อย่างประสบความสำเร็จ และยังจะสามารถเป็นต้นแบบสำหรับการส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัลระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ในอนาคต เพื่อให้เราสามารถก้าวไปข้างหน้าในโลกดิจิทัลร่วมกันอย่างเข็มแข็งและยั่งยืน ท่ามกลางความจริงในปัจจุบันที่ดิจิทัลได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของผู้คนทั่วไปอย่างครอบคลุมและแพร่หลายมากขึ้นเรื่อยๆ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง