รีเซต

กรมควบคุมโรคแจงขั้นตอนก่อนกระจายวัคซีนโควิดลงพื้นที่ต่างๆ ทั่วไทย

กรมควบคุมโรคแจงขั้นตอนก่อนกระจายวัคซีนโควิดลงพื้นที่ต่างๆ ทั่วไทย
มติชน
17 มิถุนายน 2564 ( 15:49 )
54
กรมควบคุมโรคแจงขั้นตอนก่อนกระจายวัคซีนโควิดลงพื้นที่ต่างๆ ทั่วไทย
 

วันนี้ (17 มิถุนายน 2564) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายจัดหาวัคซีนโควิด-19 ให้คนไทยอย่างน้อย 50 ล้านคน หรือร้อยละ 70 ของประชากรในประเทศ นั้น กรมควบคุมโรคได้ดำเนินการจัดสรรวัคซีนโควิด-19 โดยยึดตามนโยบายของ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) และข้อมูลทางวิชาการในการจัดลำดับความสำคัญของกลุ่มเป้าหมายเชิงประชากร ซึ่งคิดจากตัวเลขที่แต่ละจังหวัดตั้งมาและปรับตามสูตรการคำนวณให้สอดคล้องกับจำนวนวัคซีนที่ได้รับ

 

 

 

 

นพ.โอภาส กล่าวว่า สำหรับขั้นตอนการจัดสรรวัคซีนเพื่อกระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้ประชาชนได้รับวัคซีนที่มีคุณภาพ มาตรฐาน เริ่มต้นจากองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ไปรับวัคซีนจากบริษัทที่สนามบินสุวรรณภูมิ และส่งตัวอย่างวัคซีน และเอกสารการตรวจสอบคุณภาพของวัคซีนให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สธ. ตรวจสอบสภาพของบรรจุภัณฑ์ จำนวน และอุณหภูมิที่ใช้ในการขนส่งวัคซีน ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้

 

 

 

 

“ทั้งนี้ การทดสอบคุณภาพและการวิเคราะห์คุณภาพของวัคซีนในห้องปฏิบัติการ จะดำเนินไปพร้อมกับการตรวจสอบเอกสารข้อมูลการผลิตและการควบคุมคุณภาพของผู้ผลิต (Summary Production Protocol) โดยวัคซีนซิโนแวค จะใช้เวลาในการตรวจสอบคุณภาพประมาณ 1-2 สัปดาห์ ส่วนวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ที่มีโรงงานการผลิตอยู่ในประเทศไทย จะใช้เวลาในการตรวจสอบคุณภาพวัคซีนเฉลี่ยประมาณ 3 วัน ซึ่งก่อนการอนุมัติให้กระจายวัคซีนของแอสตร้าฯ ต้องส่งผลการตรวจสอบคุณภาพไปยังประเทศอังกฤษ เพื่อทำการวิเคราะห์คุณภาพอีก 1 วัน หลังจากผ่านการวิเคราะห์คุณภาพจากประเทศอังกฤษแล้ว กรมวิทยาศาสตร์ฯ จะทำการออกหนังสือรับรองรุ่นการผลิต (lot released) ให้กับ อภ. ซึ่งเป็นผู้นำเข้าวัคซีน และ อภ.จะส่งมอบวัคซีนให้กับกรมควบคุมโรคต่อไป” นพ.โอภาส กล่าว

 

 

 

 

ทั้งนี้ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรค จะเป็นผู้จัดสรรและกระจายวัคซีนตามแผนการจัดสรรวัคซีนที่ ศบค. พิจารณาเห็นชอบ ซึ่งก่อนการส่งมอบวัคซีนไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั้งกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัด จะมีการวางระบบควบคุมที่มีมาตรฐาน ตั้งแต่การตรวจสอบคุณภาพ การเก็บรักษา และการควบคุมอุณหภูมิของพื้นที่ปลายทางที่จะรับวัคซีนด้วย ส่วนการจัดฉีดวัคซีนทางคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด หรือคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร เป็นผู้บริหารจัดการ โดยต้องฉีดให้สมดุลกับวัคซีนที่ได้รับ ให้มีวัคซีนฉีดต่อเนื่อง เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคโควิด-19 ให้กับประชาชน สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง