รีเซต

ขาย 'น้ำส้มคั้น - น้ำส้มขวด' ใครจะไปคิดว่า 'วุ่นวาย VS ไม่วุ่นวาย'

ขาย 'น้ำส้มคั้น - น้ำส้มขวด' ใครจะไปคิดว่า 'วุ่นวาย VS ไม่วุ่นวาย'
TeaC
17 มิถุนายน 2564 ( 14:05 )
336
1
ขาย 'น้ำส้มคั้น - น้ำส้มขวด' ใครจะไปคิดว่า 'วุ่นวาย VS ไม่วุ่นวาย'

 

น้ำส้มคั้น น้ำส้มขวด ใครจะไปคิดว่า วุ่นวายขนาดนี้!!! ประโยคจากผู้ใช้งานบนเฟซบุ๊กหลังมีการแชร์ข่าวเกี่ยวกับกรณีการ "ล่อซื้อน้ำส้ม" จากเพจเฟซบุ๊กดังอย่าง Drama-addict ที่กลายเป็นประเด็นร้อนแรงอย่างมากบนสังคมโลกออนไลน์ ถูกวิจารณ์อย่างหนักถึงวิธีการดังกล่าวของ 5 เจ้าหน้าที่สรรพสามิต คล้ายกรณี "ล่อซื้อกระทง" เมื่อ 2 ปีก่อน

 

จากการขายทำกระทงเพื่อหารายได้พิเศษของเด็กวัยเรียนแบ่งเบาภาระพ่อแม่กลายเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ตัวการ์ตูนชื่อดัง โดยใช้วิธีการคือ สั่งซื้อผ่านออนไลน์จำนวนมาก คนขายอยากหารายได้จนต้องอดหลับอดนอน ตั้งใจทำกับมือ สุดท้ายโอ้ละพ่อออเดอร์ที่ทำนั้นเป็นการ "ล่อซื้อ" ทำให้ต้องถูกดำเนินคดีและถูกปรับ กลายเป็นกระแสร้อนแรงอย่างมาก ท้ายสุดคนจับลิขสิทธิ์ถูกลงโทษ กระทั่งมาถึงยุคโควิด-19 ที่ทุกคนต่างต้องปรับตัวเพื่ออยู่รอดในสภาพที่คุณภาพชีวิตเริ่มเป็นหนี้สิน เศรษฐกิจไม่ดี ต้องประคับประคองธุรกิจ หารายได้จุนเจือครอบครัว ลูกน้อง ค่าใช้จ่ายต่่าง ๆ การได้รายได้มาจากการลงทุนย่อมสร้างขวัญและกำลังใจในยุคที่ต้องดิ้นรน

 

และกรณีการ "่ล่อซื้อน้ำส้ม" จุดกระแสสังคมให้เกิดคำถามอีกครั้งว่า การล่อซื้อน้ำส้มแบบนี้ ทำได้จริงเหรอ? หลังกลุ่มบุคคลอ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่กรมสรรพสามิต ล่อซื้อน้ำส้ม 500 ขวด จากผู้ค้าคนหนึ่ง เมื่อถึงวันนัดหมาย กลับขอดูใบอนุญาต ทั้งที่ไม่ใช่โรงงานผลิต แถมเจ็บปวดใจตรงเรียกเก็บเงิน 12,000 บาท จนกลายเป็นกระแสร้อนแรงบนโซเชียล วันนี้ TrueID จึงรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการทำธุรกิจขายน้ำส้มคั้น หรือน้ำส้มขวด ที่ถือว่าเป็นสินค้ายอดนิยมที่หลายคนชื่นชอบดื่มเพื่อดับร้อน หรือเพิ่มความสดชื่น ยังเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่หลายคนผันตัวเองมาเป็นพ่อค้าแม่ค้า ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่า น้ำส้มคั้นดื่มง่าย ไม่แพง การรู้ข้อกฎหมายเบื้องต้นมีประโยชน์อย่างมาก จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของกลุ่มคนบางกลุ่ม หรือมิจฉาชีพที่แฝงตัวเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหลอกล่อซื้อจนสูญเสียทรัพย์ได้

 

ขายน้ำส้มคั้น ขายน้ำส้มขวด ต้องรู้กฎหมายอะไรบ้าง?

 

ทั้งนี้ จากการค้นหาข้อมูลพบว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ได้เคยออกข้อปฏิบัติเกี่ยวกับมาตรการทางกฎหมาย เพื่อดูแลเรื่องน้ำผลไม้บรรจุขวด ที่จะดูตั้งแต่สถานที่ผลิต ถือเป็นโรงงานผลิตอาหารหรือไม่ โดย พ.ร.บ.โรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2562 นิยามคำว่า "โรงงาน" ว่า อาคาร หรือยานพาหนะ ที่ใช้เครื่องจักรมีกำลังรวม 50 แรงม้าขึ้นไป หรือใช้งานตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป เมื่อเข้าข่ายโรงงานต้องยื่นขอจัดตั้งโรงงานผลิตอาหาร (แบบ อ.1)

 

สถานที่ผลิต ไม่เข้าข่ายเป็นโรงงานผลิตอาหาร ต้องทำอย่างไร?

 

กรณีที่สถานที่ผลิต ไม่เข้าข่ายเป็นโรงงานผลิตอาหาร ผู้ค้าต้องยื่นขอรับเลขสถานที่ผลิตอาหาร ที่ไม่เข้าข่ายโรงงาน (แบบ สบ.1) แต่ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์กระทรวงสาธารณสุข หากตรวจพบการผลิตอาหารโดยไม่ได้รับอนุญาต มีความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร ฐานผลิตอาหารโดยไม่ได้รับอนุญาต โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

 

รถเข็น หาบเร่ ขายน้ำส้มขวด ต้องขอรับเลขผลิตอาหารหรือไม่?

 

สำหรับผู้ค้าคนไหนที่ทำการจำหน่ายโดยตรงต่อผู้บริโภค เช่น รถเข็น หาบเร่ ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขอรับเลขผลิตอาหาร แต่ต้องขออนุญาตเปิดร้านจำหน่ายจากท้องที่ และปฏิบัติตามสุขลักษณะ นอกจากนั้น ที่สำคัญไม่แพ้กันคือ ข้อกฎหมายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ และการแสดงฉลาก ซึ่งต้องมีเลข 13 หลัก ที่ได้รับอนุญาตจาก อย.ด้วย

 

 

ขายน้ำส้มทางออนไลน์ รู้ไว้ต้องขอใบอนุญาตอิเล็กทรอนิกส์ด้วย

 

ใครขายน้ำส้มขวดผ่านทางออนไลน์ก็ต้องไปขอใบอนุญาตอิเล็กทรอนิกส์ จากกระทรวงพาณิชย์ด้วยเช่นกัน ไม่อย่างนั้นก็จะเข้าข่ายมีความผิดตามกฎหมายได้

 

 

ขายน้ำส้มคั้น น้ำส้มขวด ถ้าทำตามกฎหมายสรรพสามิตอยู่แล้ว ต่อให้ถูกล่อซื้อก็เอาผิดไม่ได้ ?

 

ข้อมูลกจาก สำนักงานอัยการสูงสุด ได้เคยมีหนังสือเมื่อวันที่ 2 มิ.ย.2557 เรื่องแนวทางพิจารณาข้อแตกต่างระหว่างการล่อซื้อ และการล่อให้กระทำความผิด สรุปได้ว่า

 

  • ถ้าจำเลยกระทำผิดอยู่ก่อน แล้วมีการล่อซื้อ ถือว่าชอบด้วยกฎหมาย
  • ถ้าจำเลยไม่ได้กระทำผิดเป็นปกติ หรือถูกจ้างวานให้ทำผิด ด้วยการล่อซื้อ ถือว่าไม่ชอบทางกฎหมาย

 

และสิ่งที่ตอกย้ำถึงการ "ล่อซื้อ" ของกลุ่มบางกลุ่ม ในมุมมองของนายเกิดผล แก้วเกิด ทนายความชื่อดัง ได้ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ผ่านเพจเฟซบุ๊ก ทนายเกิดผล แก้วเกิด ถึงกรณีการล่อซื้อ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่? ได้อย่างน่าสนใจว่า

 


การล่อซื้อ เป็นการแสวงหาหลักฐานเพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดตามกฎหมาย  แต่พฤติการณ์ใด ที่จะถือว่า การล่อซื้อนั้นชอบหรือไม่ชอบ และผู้ที่ถูกล่อซื้อกระทำผิดกฎหมายหรือไม่ แนวทางการพิจารณาคดี ของศาล มี 2 กรณี 

 

1. การล่อซื้อ ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และถือว่าผู้ถูกจับไม่ได้กระทำความผิดกฎหมาย

 

เป็นกรณีที่ ผู้ถูกจับไม่ได้มีเจตนาจะทำผิดกฎหมายมาตั้งแต่ต้น แต่ถูกสายลับ สายสืบ หรือตำรวจออกอุบายล่อลวงให้หลงเชื่อ แล้วกระทำตามที่ถูกอุบายนั้น ๆ  ซึ่งศาลตีความว่า เป็นการกระทำผิดเพราะกลอุบายของเจ้าหน้าที่รัฐ หรือผู้ที่อ้างตนว่าเป็นผู้เสียหายล่อลวงให้ผู้ถูกจับกนะทำผิดกฎหมาย

 

กรณีปรากฏว่า การกระทำของเจ้าพนักงานตำรวจอาจเข้าข่ายไม่ชอบด้วยกฎหมายเสียเอง โดยมีแนวฎีกาของศาลวินิจฉัยว่า พฤติกรรมการล่อซื้อแล้วเข้าจับกุมในบางกรณี อาจถือว่าไม่ใช่เป็นการแสวงหาพยานหลักฐานโดยชอบด้วยกฎหมาย อาทิ การล่อซื้อโดยให้บุคคลที่ไม่มีเจตนาที่จะกระทำความผิดมาแต่แรกลงมือกระทำความผิดตามที่ถูกล่อ การนั้น ๆ ย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นต้น

 

ยกตัวอย่าง แนวฎีกาที่วินิจจัยว่า การล่อซื้อแล้วจับกุมที่มิชอบด้วยกฎหมาย คือ คำพิพากษาฎีการที่ 4077/2549 “การที่ผู้เสียหายใช้ให้ อ.สั่งให้จำเลยซื้อแผ่นซีดีละเมิดลิขสิทธิ์ของกลางจากตลาดนัดให้ เพื่อที่จะได้หลักฐานในการกระทำความผิด โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยมีพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้าด้วยความสมัครใจของตนเองมาก่อน และพร้อมที่จะจัดหาแผ่นซีดีละเมิดลิขสิทธิ์ดังกล่าวทันที การที่ผู้เสียหายดำเนินการแสวงหาพยานหลักฐานด้วยตนเองแล้วแจ้งความร้องทุกข์เพื่อนำพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยจึงเป็นกรณีที่ผู้เสียหายได้จูงใจหรือล่อให้จำเลยกระทำผิด ไม่ถือว่าเป็นผู้เสียหายตามกฎหมาย” 


คำพิพากษาฎีกาที่ 4301/2543 วินิจฉัยว่า “การที่บริษัทไมโครซอฟท์ จ้างนักสืบเอกชน ไปล่อซื้อโปรแกรมคอมพิวเตอร์โดยทำทีไปติดต่อซื้อคอมพิวเตอร์จากจำเลยโดยมีข้อตกลงว่าจำเลยต้องแถมโปแกรมคอมพิวเตอร์แก่สายลับด้วย หลังจากจำเลยประกอบคอมพิวเตอร์เสร็จแล้วมีการทำซ้ำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของผู้เสียหายลงในฮาร์ดดีสก์ในเครื่องคอมพิวเตอร์และส่งมอบให้แก่สายลับ ศาลเห็นว่าการกระทำของจำเลยเกิดขึ้นเนื่องจากการล่อซื้อของสายลับ มิใช่กระทำขึ้นโดยผู้กระทำมีเจตนากระทำผิดอยู่แล้วก่อนการล่อซื้อเท่ากับโจทก์เป็นผู้ก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิด โจทก์ย่อมไม่อยู่ในฐานะเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยจึงไม่มีอำนาจฟ้องคดี” 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9600/2554 วินิจฉัยว่า “ร. ผู้รับมอบอำนาจช่วงจากผู้เสียหายว่าจ้างจำเลยให้บันทึกเพลงของผู้เสียหายลงแผ่นซีดีคาราโอเกะอันเป็นการก่อให้จำเลยทำซ้ำ ซึ่งงานดนตรีกรรม สิ่งบันทึกเสียง และโสตทัศนวัสดุอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายซึ่งเป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง จำเลยมิได้กระทำความผิดโดยทำซ้ำงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายตามที่โจทก์ฟ้องอยู่ก่อนแล้วและนำแผ่นซีดีและวีซีดีคาราโอเกะที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายนั้นออกขายแก่ ร. ผู้ล่อซื้อ อันจะถือเป็นการแสวงหาพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ว่าจำเลยได้กระทำการละเมิดสิทธิ์ของผู้เสียหายตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 (3) เมื่อ ร. ผู้รับมอบอำนาจช่วงจากผู้เสียหายเป็นผู้ก่อให้จำเลยกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 27 (1) และ 28 (1) เพื่อให้เจ้าพนักงานจับจำเลยมาดำเนินคดี ผู้เสียหายจึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยที่มีอำนาจร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยในความผิดดังกล่าวได้ 

 


2. ในกรณีที่ถือว่า การล่อซื้อชอบด้วยกฎหมาย

 

ผู้ถูกจับกระทำผิดกฎหมาย คือ กรณีที่ผู้กระทำความ มีเจตนา หรือ ตั้งใจทำความผิดมาตั้งแต่แรก เป็นอาจิณ อยู่แล้ว ไม่ว่าจะมีการล่อซื้อหรือไม่ผู้กระทำความผิดก็เจตนาทำผิดมาตั้งแต่ต้น สำหรับ คำพิพากษาที่ศาลวินิจฉัยว่า ชอบด้วยกฎหมายและเป็นกรณีที่สามารถรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ มีดังนี้ คือ

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 412/2545 “จำเลยมีพฤติการณ์กระทำการละเมิดลิขสิทธิ์โปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์อยู่ก่อนแล้ว โจทก์ส่งสายลับไปล่อซื้อและจับกุมจำเลยมาดำเนินคดี มิใช่เป็นการก่อให้จำเลยกระทำความผิด แต่เป็นการดำเนินการเพื่อจับกุมปราบปรามผู้กระทำผิด เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยมีอำนาจร้องทุกข์มีอำนาจฟ้องและศาลมีอำนาจรับฟังพยานหลักฐานที่เกิดจากการล่อซื้อโดยชอบได้” 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 59/2552 “การที่เจ้าพนักงานตำรวจใช้สายลับนำเงินไปล่อซื้อยาเสพติดให้โทษจากจำเลย มิเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย มิได้ผิดศีลธรรมและทำนองคลองธรรม มิได้เป็นการใส่ร้ายป้ายสีหรือยัดเยียดความผิดให้จำเลย #หากจำเลยมิได้มียาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครองเพื่อจำหย่าย เมื่อสายลับไปซื้อยาเสพติดให้โทษจากจำเลย จำเลยย่อมไม่มียาเสพติดให้โทษจำหน่ายให้กับสายลับ ความผิดย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้ #การกระทำของเจ้าพนักงานดังกล่าวจึงเป็นเพียงวิธีการพิสูจน์ความผิดของจำเลย ไม่เป็นการแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบ ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน รับฟังลงโทษจำเลยได้ ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 22”

 

ทั้งนี้ นายเกิดผล แก้วเกิด ยังให้สัมภาษณ์ผ่านเว็บไซต์เนชั่นออนไลน์เรื่องการทำน้ำผลไม้ว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เคยมีมติให้ชำระภาษีสรรพสามิตเกี่ยวกับน้ำผลไม้ น้ำผัก ในอัตราร้อยละ 3 เว้นแต่ผู้ผลิตจะขออนุญาต หรือขอยกเว้นอัตราภาษี แต่ต้องทำตามเงื่อนไข ซึ่งเจ้าหน้าที่กรมสรรพสามิตสามารถเข้าไปตรวจ และล่อซื้อได้ แต่ผู้ค้าท่านนั้นต้องมีพฤติกรรมผลิตผิดกฎหมายสรรพสามิตอยู่แล้ว

 

"แต่ถ้าผู้ค้าไม่เคยมีพฤติกรรมเหล่านั้นเลย หรือขายเพียงเล็กน้อย แต่เจ้าหน้าที่หลอกให้ทำผิด หรือล่อซื้อ จนแม่ค้าพ่อค้าหลงเชื่อ ถือเป็นการแสวงหาหลักฐานโดยมิชอบ"

 

อย่างไรก็ตาม กรณีการล่อซื้อน้ำส้ม คงต้องติดตามกันต่อไปว่าจะออกมารูปแบบไหน แต่สิ่งที่คนในสังคมคงอยากเห็นคือการล่อซื้อที่ผู้ค้ากระทำผิดกฎหมายจริง ๆ ไม่ใช่ถูกล่อซื้อทั้งที่ไม่ผิด แถมยิ่งในยุคที่โควิด-19 ระบาดด้วยแล้ว อย่าซ้ำเติมคนสุจริต และผู้ค้าที่ขายของสุจริตต้องรู้เท่าทันวิธีการค้าขายทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์ว่ามีข้อปฏิบัติ ข้อกฎหมายอย่างไรบ้าง จะได้ทำตามกฎตามระเบียบที่ถูกต้อง

 

ขายน้ำส้มคั้น น้ำส้มขวด ใครจะไปคิดว่า จะวุ่นวาย แต่ถ้าทำถูกกฎหมายก็ไม่วุ่นวายแล้ว

 

 

ข่าวเกี่ยวข้อง :

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง