รีเซต

WeTac ผิวหนังเทียมโฉมใหม่ ส่งตรงประสบการณ์สมจริงจาก Metaverse สู่ฝ่ามือมนุษย์

WeTac ผิวหนังเทียมโฉมใหม่ ส่งตรงประสบการณ์สมจริงจาก Metaverse สู่ฝ่ามือมนุษย์
TNN ช่อง16
22 ธันวาคม 2565 ( 16:41 )
100

ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งฮ่องกง (City University of Hong Kong) ได้เปิดตัววีแทค (WeTac) ผิวหนังจำลอง ที่ทั้งบางเบา และให้สัมผัสเสมือนจริงกับผู้ใช้ที่ใช้เทคโนโลยี VR และ AR ได้ เพื่อตอบสนองความต้องการทางเทคโนโลยีใหม่ ๆ 


โดยระบบผิวหนังจำลองวีแทค ทำขึ้นมาจากแผ่นไฮโดรเจลที่ไม่ระคายเคืองผิวหนัง สามารถใช้งานด้วยการแปะติดอยู่บนฝ่ามือของผู้ใช้ และจะช่วยส่งข้อมูลการสัมผัสของแต่ละบุคคลไปยังโลกเสมือน วีแทคยังมีส่วนประกอบหลัก ๆ  2 ส่วน คือ 1. ตัวกระตุ้น (actuator) แบบยืดหดได้ ซึ่งทำหน้าที่เป็นแผงควบคุม ที่จะติดอยู่ที่บริเวณข้อมือ และ 2. แผ่นแปะฝ่ามืออิเล็กโทรดไฮโดรเจลที่เป็นชิ้นส่วนสัมผัสกับผิวหนัง 


อุปกรณ์ทั้งหมดมีน้ำหนักเพียง 19.2 กรัม และมีขนาดเล็กเพียง 5 x 5 เซนติเมตร x 2.1 มิลลิเมตร นอกจากนี้ยังมีระบบสัญญาณบลูทูธแบบใช้พลังงานต่ำ (Bluetooth Low Energy) และแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนขนาดเล็กแบบชาร์จซ้ำได้ ทั้งนี้ ความหนาของแผ่นแปะฝ่ามือวีแทค จะมีความหนาเพียง 220 ไมครอน ถึง 1 มิลลิเมตรเท่านั้น

ที่มาของรูปภาพ University of Hong Kong


ดร.หยู ซิงเหงอ (Yu Xinnge) รองศาสตราจารย์ แห่งภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ และเป็นผู้นำการวิจัย เผยว่า นอกเหนือจากการมองเห็นและการได้ยินแล้ว การสัมผัสที่รู้สึกได้ จะช่วยให้การใช้งานเทคโนโลยี VR, AR ในโลกเสมือนความเป็นจริงมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทีมวิจัยจึงเริ่มการพัฒนาการสัมผัสแบบไร้สายที่บางเบา ทั้งยังมีความนุ่ม และเป็นมิตรกับผิวหนังมากขึ้น และผู้ใช้ยังสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระเมื่อติดอุปกรณ์นี้ที่มือเหมือนกับผิวหนังอีกชั้น 


ขณะที่ถุงมือแบบสัมผัสในตลาดปัจจุบัน ทำขึ้นมาจากด้วยปั๊มลมและท่ออากาศ รวมถึงระบบควบคุมที่มีสายระโยงระยาง ซึ่งไม่ได้มอบประสบการณ์เสมือนจริงให้กับผู้ใช้ ขณะที่วีแทคมีความบาง นุ่ม และไม่ทำให้ผิวหนังรู้สึกระคายเคือง ช่วยประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น



ผิวหนังเทียมวีแทค ยังสามารถใช้ในโลกเสมือนจริง ทั้งแบบ VR และ AR และยังใช้กับอุปกรณ์ในงานที่มีความเสี่ยงอันตราย เช่น แขนกลแบบบลูทูธที่ใช้ในการกู้ระเบิด ทั้งยังมีความสามารถในการปรับระดับสัมผัสหนักเบา ช่วยให้ผู้ใช้สามารถสัมผัสกับวัตถุเสมือนจริง หรือใช้ในเกมที่ต้องการความสมจริง, การฝึกซ้อมกีฬา, การฝึกอบรมทางเทคนิค, การมีปฏิสัมพันธ์ต่าง ๆ หรือแม้แต่หุ่นยนต์ควบคุมระยะไกลได้อีกด้วย


ที่มาของข้อมูล designboom

ที่มาของรูปภาพ University of Hong Kong

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง