รีเซต

จับตาประชุมพรรคคอมมิวนิสต์จีน มุ่งกระชับอำนาจสี จิ้นผิง สู่การปกครองสมัยสาม

จับตาประชุมพรรคคอมมิวนิสต์จีน มุ่งกระชับอำนาจสี จิ้นผิง สู่การปกครองสมัยสาม
TNN ช่อง16
9 พฤศจิกายน 2564 ( 12:19 )
120

ตั้งแต่วันจันทร์ (8 พฤศจิกายน) ที่ผ่านมา พรรคคอมมิวนิสต์จีนเริ่มต้นการประชุมคณะกรรมการกลางแห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 6 เป็นวันแรก และเป็นการประชุมแบบปิด โดยมีสมาชิกของคณะกรรมการกลางมากกว่า 370 คนเข้าร่วมการประชุมที่กรุงปักกิ่ง รวมไปถึงแกนนำพรรค รัฐมนตรี หัวหน้าพรรคระดับภูมิภาค นายพลระดับสูง และผู้บริหารขององค์กรรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ


การประชุมสี่วันนี้ นำโดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ในฐานะเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ โดยปกติแล้ว ถือเป็นกิจกรรมทางการเมืองที่สำคัญที่สุดของจีน ซึ่งมักจะมีการประกาศต่าง ๆตามมา และเป็นการประชุมก่อนที่จะตามมาด้วยการประชุมสมัชชาใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในปีหน้า


การประชุมคณะกรรมการกลางแห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีนเกิดขึ้นอย่างน้อยปีละครั้ง ระยะเวลาการประชุมขึ้นอยู่กับวาระ บางครั้งเกิดขึ้นเพียงวันเดียวจบ หรืออาจยืดเยื้อไปไม่เกินห้าวัน


คณะกรรมการกลางแห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีนชุดปัจจุบัน เป็นชุดที่ 19 ได้รับเลือกเข้ามาในปี 2017 และจะร่วมประชุมในสมัชชาใหญ่ปีหน้า ซึ่งในตอนนั้นจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการกลางชุดใหม่


ปกติแล้ว คณะกรรมการกลางแต่ละชุด จะจัดประชุมเต็มคณะ 7 ครั้งระหว่างการดำรงตำแหน่ง 5 ปี การประชุมครั้งที่ 6 นี้ มักจะมุ่งเน้นไปที่เรื่องของอุดมการณ์และการสร้างพรรค ตลอดจนปูทางไปสู่การปรับเปลี่ยนคณะผู้นำสำหรับการประชุมสมัชชาของพรรคในปีต่อไป


เช่น ในการประชุมเต็มคณะครั้งที่ 6 ซึ่งเกิดขึ้นในปี 2016 ได้มีการยกประธานาธิบดีสี ในฐานะแกนหลักของพรรค และปีต่อมา “ความคิดของสี จิ้นผิง” ได้ถูกบรรจุไว้ในธรรมนูญของพรรคระหว่างการประชุมสมัชชาใหญ่


◾◾◾

🔴 สำคัญอย่างไร?


การประชุมคณะกรรมการกลางจีน คือเวทีหลักของพรรคในการแสดงความเป็นเอกภาพของกลุ่มผู้นำพรรค และบ่งชี้ถึงทิศทางของนโยบายหลัก ๆ ของจีน


การประชุมนี้ เป็นตัวโหมโรงสำหรับการแนะนำกฎหมาย กฎระเบียบที่สำคัญ ตลอดจนแผนเศรษฐกิจ และมักตามมาด้วยการประกาศนโยบายใหม่ ๆ


เช่น การประชุมคณะกรรมการกลางครั้งที่ 4 ในปี 2019 ได้มีการประกาศเรื่องกฎหมายความมั่นคงของฮ่องกงอย่างคร่าว ๆ ส่วนการประชุมครั้งที่ 3 ในปี 2018 มีการประกาศการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อยกเลิกการจำกัดวาระการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดี เป็นต้น


การประกาศเหล่านี้ จะกลายเป็นกฎหมาย หลังได้รับการเห็นชอบจากการประชุมสมัชชาประชาชนจีน ซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติของประเทศในเวลาต่อมา


บางครั้ง การประชุมคณะกรรมการกลาง ก็เกิดเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ด้วย เช่น ในปี 1978 การประชุมคณะกรรมการกลางชุดที่ 11 ครั้งที่ 3 มีการประกาศว่า จีนหันหลังต่อระบบเศรษฐกิจแบบสหภาพโซเวียต และเริ่มต้นนโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศ


ทั้งนี้ การประชุมทั้งหมด เป็นการประชุมแบบปิด และเป็นความลับสูง มักไม่ค่อยมีการปล่อยข้อมูลออกมากก่อน ประชาชนจะพอได้รู้ข้อมูลบ้างเมื่อการหารือเสร็จสิ้นแล้ว และจะมีการออกแถลงการณ์สั้น ๆ ต่อสาธารณะเพื่อสรุปผลการประชุม


◾◾◾

🔴 คาดหวังอะไร?


South China Morning Post คาดการณ์ว่า จะมีการประกาศมติใหม่เกี่ยวกับ "ความสำเร็จหลัก ๆ และประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์” ตลอดระยะเวลา 100 ปีของการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ เพื่อปูทางไปสู่การดำรงตำแหน่งสมัยที่สามของประธานาธิบดีสี ซึ่งจะเป็นผู้นำที่ทรงอิทธิพลที่สุดของจีน นับจากเหมา เจ๋อตง


อย่างไรก็ตาม มติใหม่นี้ อาจแตกต่างจากมติครั้งอื่น ๆ โดยกู่ ซู่ นักวิเคราะห์การเมืองจากมหาวิทยาลัยนานจิง คาดว่า จะเป็นมติที่ไม่โอ่อ่า แต่จะไปเน้นที่เรื่องการกระชับอำนาจและนโยบายของประธานาธิบดีสีมากกว่า


ตลอดจนยกย่องความสำเร็จของผู้นำคนปัจจุบัน เพื่อปูไปสู่การนำประเทศในอนาคตและทิศทางนโยบายต่าง ๆ


ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า มติครั้งก่อน ๆ มักจะเป็นการทบทวนข้อผิดพลาดของพรรคและเปลี่ยนนโยบายใหม่ แต่คาดว่าจะไม่เกิดขึ้นในครั้งนี้


ทั้งนี้ ก่อนหน้าการประชุมจะเริ่มต้นขึ้น หนังสือพิมพ์ People’s Daily กระบอกเสียงของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ตีพิมพ์บทความหน้าหนึ่ง ใจความว่า การตัดสินใจให้ “สี” เป็นแกนหลักของพรรคในปี 2016 และการบรรจุความคิดของสีในธรรมนูญของพรรคปีต่อมา ถือเป็นพรของพรรคคอมมิวนิสต์ ประเทศจีน และประชาชนจีน ชาวจีนทุกคนต้องสนับสนุนประธานาธิบดีในฐานะแกนหลัก และสมาชิกพรรคทุกคนต้องตามเขาในฐานะแกนหลัก

—————

เรื่อง: ธันย์ชนก จงยศยิ่ง

ภาพ: Reuters

ข่าวที่เกี่ยวข้อง