รีเซต

เศรษฐกิจ-ดอกเบี้ย-เงินบาท โจทย์ท้าทายโค้งสุดท้ายของปี

เศรษฐกิจ-ดอกเบี้ย-เงินบาท โจทย์ท้าทายโค้งสุดท้ายของปี
TNN ช่อง16
19 พฤศจิกายน 2563 ( 17:19 )
49
เศรษฐกิจ-ดอกเบี้ย-เงินบาท โจทย์ท้าทายโค้งสุดท้ายของปี

        ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวานนี้( 18 พ.ย.63) มีมติเป็นเอกฉันท์ ให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี ซึ่งเป็นตามที่ตลาดการเงินคาดการณ์ไว้  โดยคณะกรรมการฯ ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ฟื้นตัวได้ดีกว่าที่คาดการณ์ และอัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินอยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง  แต่การฟื้นตัวเศรษฐกิจยังเปราะบางและมีความไม่แน่นอนสูง คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในการประชุมครั้งนี้  



      
  ความกังวลหลักๆก็คือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่เปราะบางที่คณะกรรมการฯให้ความสำคัญในการประชุมครั้งนี้  คือ  สภาพคล่องยังกระจายตัวไม่ทั่วถึงเนื่องจาก credit risk ที่สูงขึ้น แม้อัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินโดยรวมจะต่ำเป็นประวัติการณ์  โดยอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 0.5%  อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี อยู่ที่ 0.88%  และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ธนาคารเรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี หรือ MLR ของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบเฉลี่ยอยู่ที่ 6.11% 

        สะท้อนได้จากสินเชื่อภาคธุรกิจขนาดใหญ่ ( วงเงินสินเชื่อ 500 ล้านบาทขึ้นไป) ที่ยังขยายตัวได้ 10.8% ในไตรมาส3/63  แต่สินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอียังหดตัว  3.1%  แม้จะมีสินเชื่อ soft loan ช่วยเหลือ  แต่หากไม่มีสินเชื่อ soft loan  จะทำให้สินเชื่อเอสเอ็มอีแย่ลงอีก หรือหดตัว 6% 


        นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ เป็นกังวลเรื่องรายได้ครัวเรือนที่ยังคงเปราะบาง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระในภาคบริการ  แม้ตลาดแรงงานปรับตัวดีขึ้นกว่าที่คาดในไตรมาสที่ 3 โดยอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 2.1% แต่ต้องใช้เวลาอีกกว่า 2 ปีกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมจะกลับสู่ระดับก่อนการระบาด ทำความเสี่ยงยังคงมีอยู่สูง 

        ขณะที่ สถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเร็ว โดยการประชุม กนง. ครั้งนี้เงินบาทแข็งค่าขึ้น  4.3% จากการประชุมครั้งก่อน แต่สอดคล้องไปกับสกุลเงินอื่นๆ เนื่องจากค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง 2.1% ทำให้ทุกสกุลเงินสกุลแข็งค่าขึ้นเกือบทั้งหมด  แต่หากดูค่าเงินบาทตั้งแต่ปลายปี 2562 จนถึงวันที่ 17 พ.ย.63 เงินบาทยังอ่อนค่าเล็กน้อย หรืออ่อนลง 0.6%   ซึ่งเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเร็ว นั้นเกรงว่าจะกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ  จึงเห็นควรให้พิจารณาความจำเป็นของการดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติม นอกเหนือจากการเข้าดูแลค่าเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ดำเนินการในช่วงที่ผ่านมา

CR:Pixabay 

       นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย มองว่า
การดำเนินนโยบายของ กนง.ต่อจากนี้   มีความเป็นไปได้ที่จะเห็นมาตรการผ่อนคลายเพิ่มเติมเพื่อไม่ให้กระทบกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยจะเห็นการส่งสัญญาณมาตรการการเงินผ่อนคลายที่ไม่ใช่อัตราดอกเบี้ย แต่จะใช้เครื่องมืออื่นๆ เข้ามาช่วยเหลือเพิ่มเติม เช่น มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) เพื่อให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) เข้าถึงมากขึ้น หรือมาตรการดูแลค่าเงินเพื่อไม่ให้เคลื่อนไหวแข็งค่าเร็วเกินไป 

        ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า เศรษฐกิจไทยยังมีโอกาสเผชิญกับอีกหลายปัจจัยเสี่ยงในระยะข้างหน้า ซึ่งกนง. สามารถผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมได้หากจำเป็น แม้ในกรณีพื้นฐาน กนง.น่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ในช่วงหลายเดือนข้างหน้า แต่คงต้องยอมรับว่า การดูแลให้เศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง จะยังเป็นโจทย์ที่มีความท้าทายค่อนข้างมาก เนื่องจากขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของหลายปัจจัย  อาทิ การระบาดซ้ำของโควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศ สถานการณ์ทางการเมืองของไทย ตลอดจนประสิทธิผลและความเพียงพอของมาตรการด้านเศรษฐกิจที่ออกไป  โดยหากเกิดสถานการณ์ที่พลิกผันจนมีผลกระทบต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย  ความจำเป็นของการผ่อนคลายนโยบายการเงินด้วยการปรับลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมก็จะมีมากขึ้น



เกาะติดข่าวที่นี่

website: www.TNNTHAILAND.com
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE

ข่าวที่เกี่ยวข้อง