ธปท.ห่วงหลังโควิดศก.ฟื้นแต่ไม่เติบโตจริง เพราะรายได้ยังหด-จ้างงานชะลอ-คลังพร้อมลงทะเบียนคนจนต้นปี’65
ธปท.ห่วงเศรษฐกิจฟื้นไม่จริง - นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวในการเสวนาพิเศษ “การเงิน-การคลัง” กู้วิกฤตเศรษฐกิจไทย ในงานสัมมนา Thailand 2022 UNLOCK VALUE ก้าวสู่เส้นทางใหม่ไร้ขีดจำกัด จัดโดย น.ส.พ.ประชาชาติธุกิจ ว่า การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบเร่งด่วนผ่านการใช้เม็ดเงินเพื่อเข้ามาช่วยเหลือเยียวยาภาคประชาชน และภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการระบาดของโควิด-19 ถือเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อพยุง และประคองให้เศรษฐกิจไทยยังพอเติบโตได้บ้าง แม้ว่าจะไม่เต็มที่ก็ตาม
เป็นผลให้ในช่วงปี 2563-2564 รัฐบาลมีการกู้เงิน จำนวน 1.5 ล้านล้านบาท เพื่อช่วยให้ประชาชนและภาคธุรกิจยังพอมีรายได้ไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ทำให้ภาพรวมการบริโภคภาคประชนในปีนี้เติบโตได้ที่ 1.6% สะท้อนว่านโยบายด้านการคลังเปิดช่องให้มีการใช้จ่ายได้มากขึ้น ขณะเดียวกันการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ และการเปิดประเทศอย่างเต็มที่ในปี 2565 จะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจสามารถเดินหน้าได้ตามวิถี
ทั้งนี้ ยอมรับว่าการกู้เงินเพื่อใช้ดูแลและเยียวยาประชาชนจากผลกระทบของโควิด-19 ของรัฐบาลในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้สัดส่วนหนี้สาธารณะของประเทศเพิ่มขึ้น แต่รัฐบาลก็ได้มีการขยับเพดานหนี้สาธารณะเพิ่มจาก 60% ต่อจีดีพี เป็น 70% ต่อจีดีพี เพื่อเปิดช่องให้รัฐบาลมีช่องในการบริหารด้านคลังได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่จะทำแบบสุดโต่งเกินไปก็คงไม่ได้ เพราะเรื่องนี้ถือเป็นความน่าเชื่อถือของประเทศ
“การกู้เงินเพื่อเยียวยาประชาชนนั้น ถือเป็นการช่วยเหลือแบบเฉพาะหน้า แต่เมื่อสถานการณ์ต่างๆ ดีขึ้น การสร้างเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวและเดินหน้าต่อได้เป็นเรื่องสำคัญ การช่วยให้คนมีงานทำ มีรายได้เป็นของตัวเองเป็นสิ่งที่ต้องดำเนิน เมื่อส่วนนี้เดินหน้าได้ การเยียวยาและช่วยเหลือก็ต้องลดลง แต่หันไปเน้นในเรื่องการแบ่งเบาภาระให้ประชาชนเพิ่มขึ้น ซึ่งรัฐบาลได้ดำเนินการผ่านมาตรการต่างๆ โดยเฉพาะการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยเพื่อรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่คาดว่าจะมีการเปิดลงทะเบียนใหม่ในช่วงต้นปีหน้า” นายอาคม กล่าว
นายอาคม กล่าวอีกว่า การขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลังจากนี้ การพึ่งพาการเติบโตจากภายในและภายนอกประเทศจะต้องมีความสมดุลกันมากขึ้น เน้นการเติบโตของเศรษฐกิจรายบุคคล รวมทั้งต้องมีเครื่องยนต์ใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐบาลได้ดำเนินการผ่านโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งจะเป็นกลไกใหม่ที่สำคัญที่ช่วยให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ในระยะถัดไป โดยการดำเนินการทั้งหมดจะต้องอยู่ภายใต้กรอบ กติกาของวินัยการเงินและการคลัง
ด้านนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังเผชิญภาวะการระบาดของโควิด-19 การดำเนินนโยบายต่างๆ แบบไร้ขีดจำกัดจำมีผลข้างเคียง ดังนั้นมองว่าการประสานระหว่างนโยบายด้านการเงินและด้านการคลังเป็นเรื่องสำคัญ โดยนโยบายด้านการคลังมีจุดแข็งในเรื่องให้ผลเร็ว ตรงจุด ขณะที่นโยบายด้านการเงิน ต้องใช้เวลาในการส่งผ่านไปยังระบบ และให้ผลไม่ตรงจุด ซึ่งการใช้จุดแข็งของแต่ละนโยบายมาดำเนินการจะทำให้เกิดประสิทธิภาพเต็มที่ที่สุด
นอกจากนี้ การทำนโยบายต้องมีความยืดหยุ่น ไม่ยึดติด สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ แต่ต้องทำแล้วเห็นผลได้จริง ส่วนมาตรการทำมาตรการคิวอีนั้น ต้องยอมรับว่าไม่เหมาะกับบริบทและไม่ตอบโจทย์กับประเทศไทย เนื่องจากมาตรการจะส่งผลดีกับผู้ประกอบการรายใหญ่เป็นหลัก ขณะที่ผู้ประกอบการรายย่อย โดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างหนักจะไม่ได้รับประโยชน์จากการทำคิวอี
ที่ผ่านมา ธปท. พยายามเน้นการใช้เครื่องมือทางการเงินอย่างเต็มที่ และทำให้ถึงที่สุด การออกนโยบายจะมีการวางเป้าหมายให้ชัดเจน ต้องรับรู้ขีดจำกัด และคำนึงถึงขีดจำกัดของการใช้นโยบายทั้งภาคการเงินและการคลังที่จะต้องไม่สุดโต่ง เพราะจะมีผลข้างเคียง โดยหลายประเทศที่ทำนโยบายการเงินแบบสุดโต่ง จะเห็นอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมากๆ
ขณะที่ฝั่งการคลังก็มีการกระตุ้นอย่างเต็มที่ สุดท้ายหนี้สาธารณะก็สูงขึ้น ซึ่งปัจจุบันสัดส่วนหนี้สาธารณะของทั่วโลกสูงสุดนับตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะที่ต้นทุนการกู้ยืมเงินก็ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ แต่การทำนโยบายเศรษฐกิจแบบนี้นานเกิดไปก็จะเกิดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพ ซึ่งจะทำให้ทุกอย่างในระบบเศรษฐกิจรวนไปหมด ดังนั้นนโยบายการเงินและการคลังจะต้องไปด้วยกัน ขาดฝั่งใดฝั่งหนึ่งไม่ได้
สำหรับปัญหาเรื่องแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นกว่าคาดการณ์ จนทำให้หลายฝ่ายเป็นห่วงว่าธนาคารกลางของกลุ่มประเทศหลักจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด ส่งผลให้ตลาดการเงินผันผวนนั้น ถือเป็นอีกสัญญาณหนึ่งที่ ธปท. จับตามอง และไม่ชะล่าใจ แม้ว่าจะไม่เป็นความเสี่ยงกับเศรษฐกิจไทยก็ตาม
เนื่องจากความเสี่ยงเรื่องความเปราะบางของเศรษฐกิจไทยต่อการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของโลกนั้นยังไม่น่าจะเยอะ เนื่องจากต่างชาติไม่มีน้ำหนักมากนักในการลงทุนในตลาดพันธบัตรไทยเมื่อเทียบกับภูมิภาค ดังนั้นแม้ว่าอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกจะมีการปรับตัวสูงขึ้น โอกาสที่จะทำให้อัตราดอกเบี้ยของไทยปรับขึ้นเร็วและแรงก็ไม่น่าจะเห็น หรือหากมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยจริง ผลที่ส่งผ่านไปยังระบบเศรษฐกิจจริงก็ไม่น่าจะเยอะ
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวอีกว่า สัญญาณเตือนภัยที่น่าจับตามองสำหรับเศรษฐกิจไทย คือ การฟื้นตัวที่คาดว่าจะช้าและไม่เท่าเทียมกัน โดยประเมินว่าจะได้เห็นตัวเลขเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไทยกลับมาเติบโตใกล้เคียงระดับก่อนการระบาดได้ในปี 2566 แต่ก็ยังเป็นการฟื้นตัวเชิงตัวเลขเท่านั้น ขณะที่ความรู้สึกของคนทั่วไปจะไม่รู้สึกว่าฟื้นตัว โดยเฉพาะในตลาดแรงงาน และรายได้ของคนจะฟื้นตัวช้ากว่าตัวเลขจีดีพี เพราะไทยพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยว ที่แม้ปัจจุบันจะมีการเปิดประเทศแล้ว แต่ก็มองว่ามีความเสี่ยงที่จะไม่เห็นตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ 6 ล้านคนตามที่คาดการณ์
ขณะที่ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ก็ยังเป็นความเสี่ยงอยู่ ดังนั้นแม้หลายฝ่ายหวังว่าการเปิดประเทศจะเป็นเรื่องที่ดี แต่ก็เป็นการดีแบบไม่ทั่วถึง
โจทย์สำคัญของการทำนโยบายเศรษฐกิจ คือ ต้องทำอย่างไรให้การฟื้นตัวไม่สะดุด ตลาดการเงินไม่เกิดปัญหาทั้งในด้านความสามารถการชำระหนี้ และหนี้เสียไม่เพิ่มขึ้น ทุกอย่างต้องสมูทที่สุด ตรงจุด เพื่อช่วยเหลือภาคเศรษฐกิจที่อาจจะฟื้นตัวล่าช้า เฉพาะเฉพาะเศรษฐกิจขาล่าง โดยมองว่าเรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญของนโยบายการคลัง ส่วนนโยบายการเงินจะต้องมีการทำงานที่ช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวในส่วนดังกล่าวด้วย
โดยต้องยอมรับว่านโยบายการคลังยังเป็นพระเอกในการกอบกู้เศรษฐกิจขาล่าง เพราะแรงและตรงจุด โดยในปี 2563 เศรษฐกิจขยายตัวติดลบ 6% แต่หากไม่มีนโยบายการคลัง ไม่มีการกู้เงินมาช่วยจะเห็นเศรษฐกิจติดลบถึง 9% ส่วนปี 2564 คาดว่าจะโตได้ 0.7% แต่ถ้าไม่มีนโยบายการคลังจะเห็นเศรษฐกิจติดลบ 4% เช่นเดียวกับปีหน้า โดยเบ็ดเสร็จพบว่าในช่วง 3 ปี (2563-2565) นโยบายการคลังจะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจโตเพิ่มได้ 10.8%