วิธีเช็กรอยร้าวผนัง 6 ประเภท หลังการระเบิด #ไฟไหม้โรงงานกิ่งแก้ว
เหตุการณ์ไฟไหม้ที่โรงงานกิ่งแก้ว ที่มีการระเบิดก่อให้เกิดเกิดรอยร้าวบนผนัง อาจสร้างความกังวลใจให้แก่ผู้อยู่อาศัยได้ไม่น้อยเลยทีเดียว นอกจากเรื่องของความสวยงามแล้ว ยังมีเรื่องของความปลอดภัยที่น่ากังวล ครั้งนี้ trueID จะมาช่วยคุณทำความเข้าใจในการซ่อมแซมรอยร้าวผนังให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด โดยเริ่มตั้งแต่ต้นเหตุของรอยร้าว เพื่อให้คุณสามารถแก้ไขได้ตรงจุด และได้แบ่งรอยร้าวประเภทต่างๆ ทั้งที่เป็นอันตราย และไม่อันตรายจะมีแบบไหนบ้างไปติดตามกัน
สาเหตุของรอยร้าวเกิดจากอะไร
บ้าน และอาคารโดยส่วนใหญ่จะต้องประสบพบเจอกับปัญหารอยร้าวผนังขึ้นมาเมื่อถึงจุดใดจุดหนึ่ง รอยแตกบนผนังส่วนใหญ่จะเป็นรอยแตกร้าวที่เกิดจากการทรุดตัวตามธรรมชาติ เพราะตัวอาคารจะมีการขยับ และขยายตัว เพื่อรองรับน้ำหนักที่เพิ่มมากขึ้น ก่อให้เกิดรอยแตกร้าวเล็กน้อยบนผนัง โดยบริเวณที่พบเห็นได้บ่อยคือรอยร้าวบริเวณมุมหน้าต่าง และบานประตู แต่ก็มีสาเหตุอื่นๆ ด้วยเช่นกันที่ก่อให้เกิดรอยร้าว ดังนี้
- รอยร้าวที่เกิดจากความชื้น
- รอยร้าวที่เกิดจากการทรุดตัวของการขุดดิน
- มีการคำนวณการรองรับน้ำหนักของอาคารที่ผิดพลาด
- การเติบโตของรากต้นไม้
- การสั่นสะเทือนของการจราจรบนท้องถนน
- มีการติดตั้งท่อระบายน้ำเสีย
- สภาพภูมิอากาศ
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของสาเหตุที่ก่อให้เกิดรอยร้าวผนังเท่านั้น รอยแตกร้าวอาจเกิดมาจากหลายปัจจัยรวมกัน เช่น การก่อสร้างบนพื้นที่ทรุดตัว ส่งผลทำให้กำแพงอิฐโครงสร้างภายในโค้งงอ และผลลัพธ์ก็คือรอยร้าวตามผนังต่างๆ
ต่อไปมาดูประเภทของรอยร้าวผนังเพื่อให้คุณได้ประเมินความเสี่ยงเบื้องต้นกัน
ลักษณะและประเภทของรอยร้าว
เมื่อรู้ที่มาที่ไปของสาเหตุที่ก่อให้เกิดรอยร้าวผนังแล้ว ขั้นตอนต่อไป มาสังเกตดูกันว่า ประเภทของรอยร้าวรูปแบบไหนที่เป็นอันตราย และต้องได้รับการซ่อมแซมโดยด่วน
(1) รอยร้าวผนังแบบแตกลายงา
รอยร้าวแบบแตกลายงา เป็นรอยร้าวผนังที่สามารถพบเห็นได้บ่อยมากที่สุด โดยสาเหตุหลักๆ มาจาก
- การผสมปูนที่ไม่ได้สัดส่วน
- การฉาบปูนจากช่างที่ไม่มีความชำนาญมากพอ
- ไม่ได้บ่มน้ำก่อนฉาบปูนกับวัสดุอย่างอิฐมวลเบาที่มีความยืดหยุ่นกว่าอิฐปกติ ซึ่งเมื่อก่ออิฐมวลเบาเสร็จต้องมีการพรมน้ำบนอิฐและทิ้งไว้ 7 วันก่อนลงมือฉาบปูน แต่หลายคนอาจจะข้ามขั้นตอนตรงนี้ไปเพราะใช้ระยะเวลานาน จึงก่อให้เกิดรอยร้าวบนผนังแบบลายงาได้
โดยรอยร้าวลักษณะนี้ไม่เป็นอันตราย ไม่ส่งผลต่อโครงสร้างภายใน แต่ก็ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้นานเพราะเมื่อเกิดฝนตก ผนังจะกักเก็บความชื้นไว้ ทำให้ผนังบวม เกิดปัญหาสีลอกร่อน และเชื้อราได้ แนะนำให้อุดโป๊วด้วย วอลล์ พุตตี้ (Wall Putty) อะคริลิก ฟิลเลอร์ (Acrylic Filler) ซึ่งเป็นอะคริลิกอุดโป๊วสีขาว เปิดใช้ได้ทันที เมื่อโป๊วเสร็จแล้วสามารถทาสีทับได้ นอกจากนี้ยังไม่ทำให้สีทับหน้าเกิดการเหลืองตัวอีกด้วย
(2) รอยร้าวผนังแบบแนวทแยง/เฉียงกลางผนัง
รอยร้าวผนังแบบแนวทแยง หรือแบบเฉียงกลางผนัง สามารถสันนิษฐานได้ว่าเกิดจากปัญหาเกี่ยวกับฐานรากของตัวบ้าน เป็นรอยร้าวที่ต้องได้รับการแก้ไขโดยด่วน โดยสาเหตุอาจเกิดจาก
- เสาบางต้นในบ้านมีการทรุดตัว ทำให้ไม่สามารถรับน้ำหนักได้ดีเหมือนเดิม ส่งผลให้ผนังเกิดการแตกร้าวลงมา
- การต่อเติมบ้านที่ไม่เป็นไปตามหลักการ ส่งผลให้เสาเดิมในบ้านไม่สามารถรับน้ำหนักได้
โดยรอยร้าวลักษณะนี้ถือเป็นรอยร้าวที่เป็นอันตราย เพราะจะเห็นได้ชัดเจนเลยว่าผนังจะเริ่มพังลงมาแล้ว ฉะนั้นควรรีบปรึกษาช่างผู้เชี่ยวชาญโดยด่วน เพื่อหาทางแก้ไขได้อย่างทันท่วงที
(3) รอยร้าวเฉียงๆ ตามมุมขอบวงกบ
รอยร้าวแบบต่อไปคือ รอยร้าวเฉียงๆ ตามมุมขอบวงกบบริเวณหน้าต่าง หรือบานประตู โดยให้สังเกตดูว่า หากรอยไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ก็สามารถสันนิษฐานได้ว่าเกิดการยืดขยายของวงกบหน้าต่าง หรือบานประตู ที่อาจจะเกิดมาจากสภาพอากาศที่เมื่ออุณหภูมิสูงก็อาจทำให้โครงสร้างภายในมีการขยายตัว หากมีอุณหภูมิต่ำก็ทำให้โครงสร้างมีการหดตัวได้ โดยรอยร้าวลักษณะนี้ถือว่าไม่รุนแรง สามารถซ่อมแซมได้เอง
- ในกรณีที่รอยแตกร้าวอยู่ภายในตัวบ้าน แนะนำให้ใช้ อะคริลิก ซีลแลนท์ (Acrylic Sealant) ซึ่งมีทั้งแบบหลอดและแบบกระป๋อง
- กรณีที่เป็นรอยร้าวที่อยู่ด้านนอกตัวบ้าน หรือรอยร้าวที่มีแนวโน้มว่าอาจจะขยายหรือหดตัวได้อีกบ่อยๆ แนะนำให้ใช้ โพลียูริเทน ซีลแลนท์ (PU Sealant) ซึ่งมีคุณสมบัติยืดหยุ่นตัวได้มากกว่า
แต่ถ้าเกิดเป็นรอยร้าวแบบเฉียงๆ ในทิศทางเดียวกัน เกิดเป็นร่องรอยที่สามารถสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน และดูจะมีการขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ให้สันนิษฐานว่ากำลังเกิดปัญหากับฐานรากอาคารที่มีการทรุดตัว ซึ่งควรที่จะเรียกช่างผู้เชี่ยวชาญเข้ามาซ่อมแซมโดยด่วน
(4) รอยร้าวผนังแนวดิ่งกลางคาน
หากรอยร้าวเป็นแบบแนวดิ่งกลางผนัง รอยร้าวแนวตั้งจะมีลักษณะของรอยที่กว้างช่วงบน หรือแคบลงมา รอยร้าวนี้แสดงถึงปัญหาของโครงสร้างภายในอาคาร อย่างคานที่รับน้ำหนักมากเกินไป ทำให้หินหรืออิฐภายในผนังดันตัวจนเกิดเป็นรอยร้าว การคำนวณน้ำหนักโครงสร้างที่ผิดพลาด ทำให้อาคารรับน้ำหนักได้ต่ำกว่ามาตรฐาน โดยรอยร้าวลักษณะนี้เป็นอันตราย ควรเรียกช่างผู้เชี่ยวชาญมาซ่อมแซมโดยด่วน และให้ทำการย้ายของจากชั้นบนลงมาเพื่อเป็นการถ่ายเทน้ำหนักในเบื้องต้นก่อน
(5) รอยร้าวแนวเฉียงที่หัวเสา (ลามไปถึงคาน)
รอยร้าวผนังประเภทต่อมาคือ รอยร้าวแนวเฉียงที่หัวเสา ที่อาจลามไปถึงคาน รอยร้าวนี้จะมีลักษณะทั้งแบบแนวเฉียง หรือแนวดิ่ง โดยมักจะเกิดขึ้นกับปลายทั้งสองข้างของคาน สาเหตุส่วนใหญ่จะมาจากการที่คานไม่สามารถรับน้ำหนักได้ไหว หรือการที่คานต้องรับน้ำหนักที่มากเกินกว่าที่คำนวณมาในตอนแรก ทำให้เสาและคานแยกตัวออกจากกัน รอยร้าวลักษณะนี้มีอันตราย อาจเป็นสาเหตุให้บ้านหรืออาคารถล่มลงมาได้ ควรเรียกผู้เชี่ยวชาญเข้ามาแก้ไขโดยด่วน
(6) รอยร้าวบนพื้น
รอยร้าวบนพื้นจะมีลักษณะร่องรอยที่แตกต่างกันไป บ่งบอกถึงปัญหาที่แตกต่างกัน โดยเราจะขอหยิบยกมา 2 ประเภทให้ได้สังเกตกันคือ หากรอยร้าวบนพื้นมีลักษณะเป็นรอยร้าวแนวเฉียงเข้าหาเสาทั้งสี่มุม สามารถสันนิษฐานได้ว่าพื้นมีการแอ่นตัว เพราะต้องรองรับน้ำหนักที่มากเกินไป รอยร้าวบนพื้นรูปแบบต่อไปคือเป็นแนวเส้นตรง หรือเป็นรูปตีนกา สามารถสันนิษฐานได้ว่าตัวคอนกรีตอาจมีการยืดและหดตัวตามสภาพภูมิอากาศ หากเป็นรอยลึกให้ระมัดระวังในเรื่องของการรั่วซึม เพราะอาจส่งผลต่อโครงสร้างของเหล็กภายใน ที่อาจก่อให้เกิดสนิม และแตกร้าวออกมาได้
วิธีสังเกตความเสียหายของรอยร้าว
เมื่อทำความรู้จักกับรอยร้าวทั้ง 6 ประเภทกันแล้ว ให้คุณลองออกไปสำรวจตามจุดต่างๆ ของบ้านกันดู หากไม่แน่ใจว่ารอยร้าวที่เกิดขึ้นเป็นอันตรายหรือไม่ เราแนะนำให้คุณเอาเอาดินสอขีดแ้วลงวันที่เอาไว้ เพื่อบันทึกการเปลี่ยนแปลงของรอยแตกร้าวนั้นว่ามีการขยายตัวไปในลักษณะใด พร้อมกับลงบันทึกขนาดของรอย ทั้งทางยาวและทางกว้าง ทีนี้เราก็จะสามารถสังเกตได้ง่ายขึ้นว่า ร่องรอยนั้นมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นมากน้อย และรวดเร็วแค่ไหน เพื่อให้เราสามารถซ่อมแซมรักษาได้อย่างทันท่วงที
วิธีการแก้ไข/ซ่อมแซม/ป้องกันรอยร้าวบนผนัง
- เลือกจ้างผู้รับเหมาที่น่าเชื่อถือ ทำงานละเอียด
- ดูแลดินบริเวณบ้านให้ดี
- หลีกเลี่ยงการปลูกต้นไม้ขนาดใหญ่จำนวนเยอะๆ บริเวณรอบตัวบ้าน หรือเว้นระยะการปลูกต้นไม้ให้ห่างจากตัวบ้านประมาณอย่างน้อย 5-10 เมตร
รอยร้าวปัญหาที่อาจจะฟังดูเล็ก แต่บอกเลยว่าไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เลย รอยร้าวผนังอาจเป็นสาเหตุให้บ้าน และอาคารถล่มลงมาได้ แต่เราไม่อยากให้คุณตื่นกระหนกมากจนเกินไป ให้ทำการสำรวจและสังเกตให้ดี หากรอยร้าวนั้นไม่ได้มีการขยายเพิ่มเติม เป็นเพียงรอยร้าวเล็กๆ น้อยๆ เท่าก็สามารถซ่อมแซมได้อย่างง่ายดาย ตามความเหมาะสม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น หากรูปแบบของรอยร้าว ไปเข้าข่ายกับรอยร้าวที่เป็นอันตรายที่เราได้กล่าวถึงไป ควรเรียกช่างหรือวิศวกรเข้ามารักษา เพื่อป้องกันผลเสียที่อาจะก่อให้เกิดในอนาคตได้
ขอบคุณข้อมูล : TOA
รูปภาพโดย ฟอร์ม PxHere