รีเซต

CPF ชูความสำเร็จฟาร์มไก่ไข่รักษ์โลกใช้พลังงานทดแทน ตอบโจทย์ผู้บริโภคใส่ใจสินค้าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

CPF ชูความสำเร็จฟาร์มไก่ไข่รักษ์โลกใช้พลังงานทดแทน  ตอบโจทย์ผู้บริโภคใส่ใจสินค้าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
TNN ช่อง16
3 พฤศจิกายน 2566 ( 16:10 )
70

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ส่งเสริมคนไทยมีส่วนร่วมดูแลสิ่งแวดล้อม บริโภคไข่ไก่รักษ์โลก ที่มีส่วนช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก  พัฒนาฟาร์มไก่ไข่ที่ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนภายในฟาร์ม จากการเปลี่ยนมูลไก่เป็นพลังงานด้วยระบบไบโอแก๊ส ลดการพึ่งพาพลังงานจากภายนอก และร่วมดูแลชุมชนรอบข้าง ส่งผลให้ ฟาร์มไก่ไข่ 2 แห่งของซีพีเอฟ ได้แก่  ฟาร์มจักราชและฟาร์มโพธิ์ประทับช้าง ได้รับรางวัลดีเด่น ด้านพลังงานทดแทน ประเภทโครงการที่ไม่เชื่อมโยงกับระบบสายส่งไฟฟ้า (Off-Grid) ปี 2022 จากกระทรวงพลังงาน 

นอกจากนี้ ฟาร์มจักราชยังเป็นตัวแทนระดับภูมิภาครับรางวัล ASEAN Energy Awards 2022 จากศูนย์พลังงานอาเซียน ตอกย้ำความมุ่งมั่นของซีพีเอฟในการขับเคลื่อนการผลิตอาหารคาร์บอนต่ำ  มีส่วนร่วมลดภาวะโลกร้อน 

นายสมคิด วรรณลุกขี ผู้อำนวยการใหญ่ ธุรกิจไก่ไข่ ซีพีเอฟ กล่าวว่า ฟาร์มไก่ไข่จักราช และฟาร์มโพธิ์ประทับช้างเป็นฟาร์มที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่  เพื่อควบคุมคุณภาพไข่ไก่มีความสด สะอาด ปลอดภัย ปลอดจากยาปฏิชีวนะ และที่สำคัญเป็นไข่ไก่ที่มาจากกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ การลำเลียงไข่จากฟาร์มมายังโรงคัดไข่ด้วยระบบสายพานอัตโนมัติ ช่วยลดการใช้พลังงานจากการขนส่งและการสูญเสียระหว่างการผลิต  รวมถึงนำมูลสัตว์มาหมักในระบบการหมักก๊าซชีวภาพ เป็นเทคโนโลยีที่นำของเสีย หรือมูลไก่จากฟาร์มมาหมัก และนำก๊าซที่ได้จากการหมักมาใช้ปั่นกระแสไฟฟ้าสำหรับใช้ในฟาร์ม นอกจากนี้ ยังเป็นฟาร์มที่ป้องกันกลิ่นและไม่ปล่อยน้ำเสียออกสู่ชุมชนข้างเคียง นอกจากนี้ กากของเหลือที่เกิดจากการหมัก ฟาร์มยังนำไปใช้เพิ่มธาตุอาหารในดิน และแบ่งปันให้กับเกษตรกรที่อยู่รอบๆ ฟาร์ม ช่วยประหยัดต้นทุนและค่าปุ๋ยอีกด้วย 

“การดำเนินโครงการเปลี่ยนของเสียเป็นพลังงานฟาร์มไข่ไก่ทั้งสองแห่ง เป็นการดำเนินงานของซีพีเอฟ ในการผลิตและส่งมอบผลิตภัณฑ์ไข่ไก่ที่สด สะอาด ปลอดภัย และมาจากกระบวนการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนใช้ในฟาร์ม ลดการพึ่งพาพลังงานจากภายนอก รวมทั้งช่วยดูแลชุมชนรอบข้างเรื่องกลิ่นและของเสีย ถือเป็นการผลิตอาหารที่ส่งเสริมให้ผู้บริโภคได้มีส่วนร่วมลดโลกร้อน” นายสมคิดกล่าว 

ปัจจุบัน ฟาร์มจักราชและฟาร์มโพธิ์ประทับช้าง มีการติดตั้งระบบผลิตก๊าซชีวภาพจากมูลไก่และน้ำเสียแบบบ่อหมักไร้อากาศ (Anaerobic Covered Lagoon) เปลี่ยนของเสียเป็นพลังงานไฟฟ้าใช้ในการดำเนินงานภายในฟาร์มได้ประมาณร้อยละ 70-80 ของการใช้พลังงานในฟาร์มทั้งหมด ช่วยลดค่าใช้จ่ายการซื้อไฟฟ้าจากภายนอกได้ โดยผลดำเนินงานโครงการก๊าซชีวภาพของฟาร์ม 2 แห่งสามารถผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้ารวมปีละกว่า 4 ล้านกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง เทียบเท่าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 2,477 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ นอกจากนี้ ซีพีเอฟ ยังอยู่ระหว่างการศึกษาติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานจากแสงอาทิตย์เพิ่มเติม เพื่อพัฒนาสู่ “ฟาร์มไข่ไก่ต้นแบบที่ใช้พลังงานหมุนเวียนภายในฟาร์ม 100% พึ่งพาพลังงานจากภายนอกเป็นศูนย์ (RE100 Farm) 

ผลิตภัณฑ์ไข่ไก่สดของซีพีเอฟยังใช้บรรจุภัณฑ์รักษ์โลกถาดและกล่องใช้กระดาษและพลาสติกรีไซเคิล 100% ทั้งนี้ ไข่ไก่ Cage Free และไข่ไก่ปลอดสาร 21 รายการยังได้ขึ้นทะเบียนรับรองเป็นสินค้าช่วยลดโลกร้อน คาร์บอนฟุตพริ้นท์ หรือ “ฉลากลดโลกร้อน” และ ไข่ไก่ Cage Free แบรนด์ยูฟาร์ม 2 รายการ ได้รับ "ฉลากคาร์บอนนิวทรัล"  เป็นรายแรกของไทยและภูมิภาคเอเชีย  จากองค์การบริหารการจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. สร้างห่วงโซ่อุปทานอาหารที่สร้างความยั่งยืน เป็นทางเลือกให้ผู้บริโภคที่ใส่ใจต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และเป็นความมุ่งมั่นสนับสนุนการขับเคลื่อนองค์กรสู่เป้าหมาย Net-Zero ปี 2050 อีกด้วย

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง