รีเซต

นักเศรษฐศาสตร์ ห่วงโครงสร้างการเลี้ยงหมูจะเปลี่ยนไปมาก ผู้เลี้ยงหมูรายย่อยจะหายไป

นักเศรษฐศาสตร์ ห่วงโครงสร้างการเลี้ยงหมูจะเปลี่ยนไปมาก ผู้เลี้ยงหมูรายย่อยจะหายไป
มติชน
5 มกราคม 2565 ( 13:20 )
68
นักเศรษฐศาสตร์ ห่วงโครงสร้างการเลี้ยงหมูจะเปลี่ยนไปมาก ผู้เลี้ยงหมูรายย่อยจะหายไป

ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ผอ.ศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต หรือ Think Forward Center อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เขียนบทความแสดงความเห็นถึงสถานการณ์หมูแพงในขณะนี้ โดย ระบุว่า

 

ห่วงหมู สิ่งที่ผมเป็นห่วงเกี่ยวกับ สถานการณ์หมูแพง นอกเหนือจากราคาเนื้อหมูที่เพิ่มสูงขึ้นแล้ว ผมก็เป็นห่วงเรื่องโครงสร้างของการเลี้ยงหมูที่อาจเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก หลังจากเผชิญโรคระบาดครั้งใหญ่ (ซึ่งระหว่างผู้เลี้ยงกับกรมปศุสัตว์ยังบอกไม่ตรงกันว่าเป็นโรคอะไร? แต่ผมคิดว่า น่าจะเป็นโรคอหิวาต์สุกรแอฟริกัน) เพราะผมทราบจากญาติมิตรที่เลี้ยงหมูว่า ฟาร์มหมูรายย่อยจำนวนมาก ได้หยุดดำเนินการ เพราะไม่อาจจะสู้กับความเสี่ยงของโรคระบาด และต้นทุนการเลี้ยงหมูที่เพิ่มขึ้นได้

 

จริงๆแล้ว การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการเลี้ยงหมูเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้ แต่โรคระบาดในครั้งนี้ อาจซ้ำเติมให้ผู้เลี้ยงย่อยต้องล่มหายตายจากไปกระบวนการผลิตหมู ยิ่งขึ้นไปอีก

 

เราลองมาดูข้อมูลเดิมกันก่อน

ข้อมูลจากรายงานการสำรวจความเปลี่ยนแปลงทางการเกษตร ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พ.ศ. 2551 และ 2561 พบว่าจำนวนผู้เลี้ยงหมูของไทย ในปี 2551 มีเท่ากับ 285,533 ราย แต่พอถึงปี 2561 จำนวนผู้เลี้ยงหมู กลับเหลือเพียง 82,769 ราย เรียกว่าลดลงไป 70% หรือมีผู้เลี้ยงหมูหายไปจากระบบประมาณ 200,000 ราย ภายใน 10 ปี

 

การหายไปของผู้เลี้ยงหมูโดยเฉพาะรายย่อย (หมูน้อยกว่า 10 ตัว) ที่หายไปกว่า 150,000 ราย ทำให้โครงสร้างการเลี้ยงหมูกระจุกตัวมากขึ้น โดยฟาร์มขนาดใหญ่ (หมูมากกว่า 500 ตัว) ซึ่งมี 2,017 ฟาร์ม (ประมาณ 2.4% ของผู้เลี้ยงทั้งหมด) มีสัดส่วนการเลี้ยงหมูถึง 84% ของหมูที่เลี้ยงทั้งหมดในประเทศ

 

เมื่อ 10 ปีทีแล้ว สัดส่วนการเลี้ยงหมูของฟาร์มขนาดใหญ่ยังอยู่ที่ 48% ผ่านไป 10 ปี ส่วนแบ่งการเลี้ยงหมูของฟาร์มขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นมาเป็น 84% ของหมูทั้งประเทศ เรียกว่า เป็นการเพิ่มอย่างก้าวกระโดดเลยทีเดียว

 

แล้วการล้มตายของหมู และผู้เลี้ยงรายย่อย ก็อาจส่งผลให้โครงสร้างการเลี้ยงหมูของไทยยิ่งกระจุกตัวมากขึ้นไปอีก แม้จะยังไม่มีตัวเลขล่าสุดออกมาก็ตาม

 

เพราะฉะนั้น สิ่งที่ผมเป็นห่วงจึงไม่ใช่ การเอาปริมาณเนื้อหมูมาเพิ่มในตลาด (เช่น จากการนำเข้า หรือจากการลด/ห้ามการส่งออก) เพื่อให้ราคาหมูลดลงมาเท่านั้น แต่ผมยังหมายถึงการนำผู้เลี้ยงหมูรายย่อย (อย่างน้อยบางส่วน) กลับคืนมาสู่ตลาด (หรือกลับคืนสู่การเลี้ยงให้ได้) ด้วย

 

เราต้องไม่ลืมการเลิกเลี้ยงหมูของผู้เลี้ยงรายย่อยนั้น แตกต่างจากการที่เราเลิกเลี้ยงหมาหรือแมว เพราะการเลิกเลี้ยงหมูของผู้เลี้ยงหมูรายย่อยนั้น มักจะมีหนี้สิน หรือมีบาดแผลติดตัวมาด้วยเกือบทั้งสิ้น หรืออย่างน้อยก็ต้องขายทรัพย์สินที่ใช้ในการเลี้ยงหมูบางส่วนทิ้งไป เพื่อใช้ในการชำระหนี้

 

การจะนำผู้เลี้ยงหมู และหมูของผู้เลี้ยงรายย่อยกลับคืนมาจึงไม่ใช่เรื่องง่าย

 

ถ้าเราเริ่มต้นจากปริมาณหมูที่หายไปจากตลาดประมาณ 1 ใน 4 ในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2564 (ข้อมูลล่าสุดเท่าที่ผมมี) การสนับสนุนให้เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูกลับมาผลิตหมูดูจะเป็นเรื่องเร่งด่วน และจะต้องทำอย่างต่อเนื่องอย่างน้อยในระยะเวลา 2-3 ปี

 

แต่การจะให้เกษตรกรผู้เลี้ยงหมู โดยเฉพาะผู้เลี้ยงรายย่อย กลับมาสู่ระบบการเลี้ยงหมูได้นั้น จำเป็นต้องมีการดำเนินการเร่งด่วน ในหลายประการด้วยกัน คือ

 

• การสร้างความมั่นใจในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค เช่น การจัดหาวัคซีน การจัดหาเวชภัณฑ์อย่างทั่วถึง ในราคาที่เหมาะสม

 

• การมีกลไกในช่วยเหลือเยียวยา ผู้เลี้ยงหมูในกรณีที่ต้องมีการกำจัดหมูที่ติดเชื้อ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ซึ่งที่ผ่านมา รัฐบาลไม่เคยจัดเตรียมกลไกนี้ไว้ ทำให้ผู้เลี้ยงหมูและสมาคมผู้เลี้ยงหมูฯ ต้องช่วยเหลือกันเองตามอัตภาพ และนำไปสู่การเลิกเลี้ยงในที่สุด

 

• มาตรการทางการเงินสำหรับผู้เลี้ยงรายย่อย เช่น สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำมาก และมีระยะเวลาปลอดการชำระหนี้ เพื่อให้สามารถกลับมาลงทุนในการเลี้ยงหมูได้อีกครั้งหนึ่ง

 

• การจัดหาปัจจัยการผลิตพื้นฐานสำหรับการเลี้ยงหมู โดยเฉพาะลูกสุกร และอาหารสัตว์ ในต้นทุนที่เหมาะสม เพื่อให้ผู้เลี้ยงหมูรายย่อยสามารถกลับเข้าสู่ระบบได้ (ไม่นับวัคซีนและเวชภัณฑ์ ซึ่งได้กล่าวไปแล้ว)

 

• การจัดเตรียมช่องทางการตลาดภายในท้องถิ่น/จังหวัด เพื่อสร้างความมั่นคงทางการตลาดให้กับผู้เลี้ยงในระยะยาว

 

นอกจากนี้ ในระยะยาว รัฐบาลควรเปิดโอกาสให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นได้เข้ามาทำหน้าที่ในการสนับสนุนบริการทางสัตว์แพทย์ เพื่อช่วยกรมปศุสัตว์ในการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคด้วย

 

ส่วนการแก้ปัญหาระยะสั้น เช่น การนำเข้าเนื้อหมู หรือการห้ามส่งออกเนื้อหมู ผมขอยกไปพูดถึงในโอกาสถัดไป

 

แล้วถ้ารัฐบาลไม่ดำเนินการช่วยให้ผู้เลี้ยงหมูรายย่อยกลับมาล่ะ สถานการณ์จะเป็นยังไง

 

ผมคิดว่า ด้วยกลไกตลาดที่ทำให้ราคาหมูแพงขึ้น และหากมีมาตรการในการจัดการรับมือกับโรคระบาดได้อย่างมีประสิทธิผล ปริมาณหมูน่าจะกลับมาเป็นปกติได้ภายในเวลาประมาณ 1 ปี และราคาหมูก็น่าจะค่อยลดลงตามมาได้

 

แต่ปริมาณหมูที่จะเพิ่มขึ้นนั้นน่าจะอยู่ในมือของผู้เลี้ยงรายใหญ่ที่มีความพร้อมทางปัจจัยการผลิต โดยเฉพาะลูกหมู เวชภัณฑ์ และวัคซีน รวมถึงมีความพร้อมทางการเงิน และทางวิชาการมากกว่า

 

จำนวนผู้เลี้ยงหมูของไทยก็น่าจะลดน้อยลงไปอีก เช่นเดียวการกระจุกตัวของฟาร์มหมูขนาดใหญ่ก็ยิ่งน่าจะเพิ่มมากขึ้นด้วย

 

ส่วนตัวผมเอง ผมมิได้คัดค้าน/ปฏิเสธฟาร์มขนาดใหญ่นะครับ แต่ผมคิดว่า สถานการณ์โควิด-19 และการแพร่ระบาดของโรคต่างๆ รวมโรคอุบัติใหม่ ทั้งกับคนและปศุสัตว์ เป็นตัวย้ำเตือนว่า ระบบการผลิตการเกษตรที่กระจายตัวออกไป น่าจะสร้างความมั่นคงทางอาหาร และความเข้มแข็งให้กับชุมชนและประเทศ ในสถานการณ์วิกฤตได้ดี อีกทางหนึ่งเช่นกัน

อยากให้หมูและผู้เลี้ยงหมูรายย่อยกลับมาครับ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง