รีเซต

เครือข่ายชาวเล โวยอุทยานฯ ซ้ำเติมชาวบ้านยามวิกฤต ออกประกาศไล่รื้อ 'บาฆัด'

เครือข่ายชาวเล โวยอุทยานฯ ซ้ำเติมชาวบ้านยามวิกฤต ออกประกาศไล่รื้อ 'บาฆัด'
ข่าวสด
10 กันยายน 2564 ( 11:49 )
81

เครือข่ายชาวเล โวยอุทยานฯ ซ้ำเติมชาวบ้านยามวิกฤต ออกประกาศไล่รื้อ 'บาฆัด' ของชาวอูรักลาโว้ย ชี้ผิดข้อตกลงทำไว้กับ 'วราวุธ' รมว.ทส.

 

 

วันที่ 10 ก.ย.64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 9 ก.ย. นายวิทวัส เทพสง ผู้ประสานงานเครือข่ายชาวเลอันดามัน เปิดเผยว่า อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-เกาะพีพี ได้ประกาศให้ชาวเลอูรักลาโว้ยเร่งรื้อถอนบาฆัด(ทับหรือที่พักระหว่างการออกเรือ) ออกจากพื้นที่ชายฝั่งของเกาะพีพี ภายในวันที่ 31 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยระบุว่าเป็นสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำเขตอุทยานฯ

 

 

แต่ชาวบ้านยืนยันว่าบาฆัดที่ตั้งอยู่บริเวณชายหาดเป็นที่พักของชาวเลมาตั้งแต่บรรพบุรุษก่อนประกาศเขตอุทยานฯ โดยใช้เป็นจุดจอดเรือ ที่เก็บอุปกรณ์ประมง และจุดหลบลมมรสุมซึ่งเลือกทำเลสร้างบาฆัดใกล้แหล่งหาปลา นอกจากนี้ยังเป็นพื้นที่ทางจิตวิญญาณ(หลาโต๊ะ) อยู่ในเส้นทางเดินเรือของชาวเลอันดามันที่ใช้ประโยชน์ตามวิถีมานับพันปี ชาวบ้านจึงไม่ยินยอมให้มีการรื้อถอนบาฆัด

 

 

ตอนนี้จึงช่วยกันเฝ้าระวังไม่ให้เจ้าหน้าที่แอบเข้ามารื้อถอน เพื่อหวังให้มีการผ่อนปรนและเจรจาหาทางออกร่วมกัน และได้มีการยื่นส่งหนังสือคัดค้านประกาศฉบับดังกล่าวต่อสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อเรียกร้องสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล

 

 

"ในอดีตชาวเลมีเส้นทางหากินเชื่อมโยงเกาะแก่งต่างๆ ทั้งอันดามันมานับพันปี จึงไม่ใช่การบุกรุกอุทยานอย่างแน่นอน ที่เกาะพีพีมีบาฆัดอยู่ 4 แห่ง คือ อ่าวโล๊ะลาน่า อ่าวโล๊ะมุดีใกล้หาดแหลมตง อ่าวลันตี และอ่าวปากหนาม ก็เหมือนเป็นเถียงนา หรือกระท่อมชาวเลที่ใช้เป็นที่พักยามออกหาปลาหมุนเวียนไปเพื่อหลบมรสุม เป็นที่ซ่อมลอบดักปลา ทำอวน และมีบ่อน้ำจืดให้ชาวเลที่เดินเรือแวะเติมน้ำได้ สมัยก่อนที่จะมีอุทยาน ชาวเลออกเรือจากเกาะอาดัง เกาะหลีเป๊ะ มาจากตรัง จากภูเก็ตมาหาปลาแถวนี้ก็ต้องมาพักที่นี่" นายวิทวัส กล่าว

 

 

 

นายวิทวัส กล่าวอีกว่า ประกาศของทางอุทยานฯ ฉบับนี้ขัดต่อข้อตกลง 3 ฝ่าย ระหว่าง เครือข่ายชาวเล อุทยานฯ และดร.ธนพร ศรียากูล ที่ปรึกษาประจำสำนักงานเร่งรัดนโยบายของนายกรัฐมนตรี ตามผลการประชุมวันที่ 30 มีนาคม 2563 ที่ให้มีการร่วมสำรวจ 14 พื้นที่นำร่องที่มีพื้นที่บาฆัดรวมอยู่ด้วย เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาร่วมกัน

 

 

รวมทั้งขัดต่อบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือ(MOU) ที่นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมลงนามร่วมกับภาคีเครือข่าย เมื่อ 28 พฤศจิกายน 2563 เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาชาวเล นอกจากนี้ยังขัดต่อรัฐธรรมนูญ ม.70 ที่รัฐต้องให้ความคุ้มครองวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ ชาวบ้านจึงต้องการให้อุทยานฯ ยกเลิกประกาศ แล้วเดินหน้าพิสูจน์สิทธิร่วมกันตามข้อตกลงที่ให้ไว้กับชาวเล

 

 

"ชาวบ้านต้องการให้ชะลอคำสั่งรื้อถอนออกไป แล้วให้กรมอุทยานเร่งสำรวจพื้นที่นำร่องตามข้อตกลงกับชาวเลให้เสร็จก่อน ยิ่งช่วงโควิดนี้ การหาปลาเป็นช่องทางหากินที่เหลือเพียงอย่างเดียวของชาวเล จึงไม่อยากให้อุทยานทำการซ้ำเติมชาวบ้านในวิกฤตตอนนี้ และอุทยานอยู่มานานแต่ไม่เคยสำรวจกันเขตให้คนดั้งเดิม ชาวเลได้รับพระราชทานนามสกุล พระราชทานให้สิทธิที่ดินก่อนมีอุทยาน แต่ปัจจุบันที่ดินพระราชทานเหลือเพียง 2 ไร่ แต่กลับไปให้สิทธิเอกชนมาทำการท่องเที่ยวไปทั่วทั้งอันดามัน อะไรคือความเป็นธรรมสำหรับชาวบ้าน" นายวิทวัส กล่าว

 

 

ด้าน นางสาวพรสุดา ประมงกิจ ชาวเลชุมชนหาดแหลมตง เกาะพีพี จ.กระบี่ กล่าวว่า ในอดีตบนเกาะพีพีชาวเลจะตั้งบ้านอาศัยอยู่ใกล้อ่าวหรือชายหาดหลายจุดของเกาะ และมีการสร้างบาฆัดไว้ใกล้แหล่งหาปลา

 

 

แต่นับตั้งแต่ปี 2530 เป็นต้นมา กระแสการท่องเที่ยวบีบให้ชาวบ้านถูกขับไล่จากชุมชนตนเอง จนปัจจุบันต้องมาแออัดอยู่ในพื้นที่ 2 ไร่ ที่หาดแหลมตง จึงเหลือชุมชนชาวเลเพียงแห่งเดียวบนเกาะพีพี ซึ่งเป็นทั้งหมู่บ้านและหน้าหาดใช้เป็นที่จอดเรือ และยังถูกบีบจากนายทุนและอุทยานฯ จนชาวเลแทบจะไม่มีที่ไปแล้ว

 

 

"ชาวเลบนพีพีเหลือชุมชนเดียวที่แหลมตง จากเมื่อก่อนเราจะกระจายกันอยู่ตามหาดหรืออ่าวทั่วเกาะ พอการท่องเที่ยวเข้ามา พี่น้องกระจัดกระจายไปอาศัยกับพี่น้องที่เกาะหลีเป๊ะ เกาะภูเก็ต หรือเกาะจำ บาฆัดที่เหลือ 4 แห่งก็เป็นที่พักของพี่น้องชาวเลจากเกาะจำที่มาหากินจับปลาที่เกาะพีพี ส่วนชาวเลพีพีจะมีบาฆัดที่เกาะไผ่ จะหมุนเวียนไปตามมรสุม ตอนนี้แทบไม่เหลือพื้นที่ให้ชาวเลแล้ว มีแต่ของนายทุนกับอุทยาน" นางสาวพรสุดา กล่าว

 

 

วันเดียวกัน ฝ่ายปกครองท้องที่หมู่ 7 หมู่ 8 และองค์การบริหารส่วนตำบลอ่าวนาง อ.เมือง จ.กระบี่ ได้ลงนามในคำสั่งงดเดินทางเข้า-ออกพื้นที่เกาะพีพี เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิดส่งผลให้มีผู้ที่ได้รับเชื้อในพื้นที่เกาะพีพีจึงจำเป็นต้องงดการเดินางเข้า-ออกเกาะพีพีระหว่างวันที่ 11 -18 กันยายน 2564 แต่นักท่องเที่ยวที่เดินทางผ่านโครงการภูเก็ตแซนด์บ๊อกซ์สามารถเดินทางผ่านโดยเส้นทางเรือโดยสารของโครงการได้ แต่ในส่วนของนักท่องเที่ยวชาวไทยและคนในพื้นที่เกาะพีพีขอความร่วมมืองดเดินทางเข้า-ออก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง