รีเซต

คิดเห็นแชร์ : X-ray ส่งออกประเทศไทย เริ่มเห็นแสงสว่างปลายทาง

คิดเห็นแชร์ : X-ray ส่งออกประเทศไทย เริ่มเห็นแสงสว่างปลายทาง
มติชน
26 กันยายน 2563 ( 12:06 )
57

คิดเห็นแชร์ : X-ray ส่งออกประเทศไทย เริ่มเห็นแสงสว่างปลายทาง

สวัสดีค่ะท่านผู้อ่าน วันนี้ดิฉันขอนำเสนอรายละเอียดเกี่ยวกับสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศของไทยใน 8 เดือนแรกของปี 2563 ซึ่งเพิ่งแถลงตัวเลขไปเมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น

 

ภาพรวมการค้าไทยเริ่มปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เห็นได้จากอัตราการหดตัวที่ลดลง และมูลค่าการส่งออกและการนำเข้าขยายตัวต่อเนื่องจากจุดต่ำสุดในเดือนมิถุนายน 2563 โดยการส่งออกเดือนสิงหาคม 2563 มีมูลค่า 20,212.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นการฟื้นตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และกลับมาแตะระดับสูงกว่าสองหมื่นในรอบ 5 เดือน อย่างไรก็ดี การส่งออกเดือนสิงหาคม ยังหดตัว 7.94% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 15,863.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 19.68% ส่งผลให้การค้าเกินดุล 4,349.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การส่งออกของไทยเริ่มฟื้นตัวอย่างช้าๆ คือการที่สถานการณ์เศรษฐกิจและการค้าโลกมีทิศทางที่ดีขึ้น โดยองค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ปรับประมาณการเศรษฐกิจโลกปี 2563 ดีขึ้น โดยเห็นว่าจะหดตัว 4.5% จากเดิม 6% จากเศรษฐกิจของสหรัฐ จีน และยุโรป มีแนวโน้มดีขึ้น

 

สอดคล้องกับสถิติทางการค้าอื่นๆ ปรับตัวดีขึ้นและมีพัฒนาการที่ดี ได้แก่

1.การขนส่งฟื้นตัวต่อเนื่องตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ทั้งเที่ยวบินพาณิชย์ขนส่งสินค้าและการใช้ท่าเรือขนส่งสินค้า โดยการขนส่งทางเรือในภูมิภาคเอเชีย (จีนและฮ่องกง) กลับมาขยายตัวอีกครั้งในเดือนสิงหาคมนี้เมื่อเทียบกับปีก่อน

2.ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (Manufacturing PMI) ของโลก เดือนสิงหาคม อยู่ที่ 51.8 สูงกว่าระดับ 50 โดยเป็นการฟื้นตัวต่อเนื่องและมีค่าสูงสุดในรอบ 21 เดือน นับจากเดือนพฤศจิกายน เช่นเดียวกับภูมิภาคหรือประเทศเศรษฐกิจสำคัญ อาทิ สหรัฐและเอเชีย (จีนและไทย)

3.ตัวเลขคำสั่งซื้อสินค้าส่งออกของโลก (Global New Export Orders) เดือนสิงหาคมอยู่ที่ 49.9 สูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และแตะระดับสูงสุดในรอบ 2 ปี

4.ยอดการค้าปลีกปรับตัวดีขึ้นในหลายประเทศ อาทิ จีน สหรัฐ ตุรกี ฝรั่งเศส และสเปน โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มเครื่องใช้ในบ้าน อาหารและของชำ สินค้าเกี่ยวกับสุขภาพ และเสื้อผ้า (ที่มา : OECD Economic Outlook, Sept 2020) โดยดัชนียอดขายปลีก (Retail Sales) ของจีนในเดือนสิงหาคม ขยายตัวเป็นครั้งแรกของปีนี้ที่ 5.6% หลังจากหดตัวต่อเนื่อง 7 เดือน และ 5.มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการต่ออายุมาตรการในหลายประเทศเพื่อประคองสภาพคล่องและกำลังซื้อ

 

สำหรับกลุ่มสินค้าที่การส่งออกขยายตัวต่อเนื่อง แบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่

 

1.สินค้าอาหาร เช่น ข้าวพรีเมียม ข้าวขาว 100% บวก 7.5% ข้าวกล้อง บวก 6.7% ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง บวก 15.6% น้ำมันปาล์ม บวก 599.6% น้ำมันถั่วเหลือง บวก 18.3% อาหารทะเลกระป๋อง ทูน่ากระป๋อง บวก 13.2% กุ้งกระป๋องบวก 22.7% สิ่งปรุงรสอาหาร บวก 4.2% นมและผลิตภัณฑ์นม บวก 4.4% และอาหารสัตว์เลี้ยง บวก 22.3%

2.สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านและสินค้าไลฟ์สไตล์ ตู้เย็น บวก 23.1% เครื่องซักผ้าและเครื่องซักแห้ง บวก 31.3% เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน บวก 24.4% สบู่ บวก 40.0% รองเท้ากีฬา บวก 96.7% กล้องถ่ายรูปและอุปกรณ์ บวก 3.6% และอุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด บวก 21.0%

3.สินค้าที่เกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น ถุงมือยาง บวก 125.9% โดยขยายตัวดีในตลาดสหรัฐ สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น จีน และเยอรมนี

นอกจากนี้ สินค้าอุตสาหกรรมที่หดตัวสูง เริ่มส่งสัญญาณการฟื้นตัวจากอัตราการหดตัวที่น้อยลง เช่น ยานยนต์และส่วนประกอบ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ และเครื่องปรับอากาศ ขณะที่สินค้าเกษตรบางตัวยังชะลอตัวโดยเฉพาะยางพารา น้ำตาลทราย และข้าว ในภาพรวมสินค้าเกษตรและเกษตรอุตสาหกรรมหดตัว 13.2% และสินค้าอุตสาหกรรมหดตัว 6.2%

ในด้านรายตลาด แม้ภาพรวมการส่งออกยังหดตัว แต่ตลาดสำคัญอย่างสหรัฐยังขยายตัวได้ดี บวก 15.2% หลายตลาดกลับมาขยายตัว เช่น เนเธอร์แลนด์ บวก 1.1% และเมียนมา บวก 2.7% นอกจากนี้ การส่งออกในหลายตลาดเริ่มหดตัวน้อยลง สะท้อนสัญญาณการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป อาทิ ญี่ปุ่น เวียดนาม มาเลเซีย ลาว สหราชอาณาจักร เยอรมนี และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

สรุปการส่งออก 8 เดือนแรกของปี 2563 มีมูลค่า 153,374.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 7.75% การนำเข้า มีมูลค่า 134,981.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 15.31% ส่งผลให้การค้าเกินดุล 18,393.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยการส่งออกไทยสอดคล้องกับแนวโน้มของภูมิภาค

การส่งออกประเทศในภูมิภาค 8 เดือนแรกของ ปี 2563 : อินเดีย ลบ 21.3% ญี่ปุ่น ลบ 14.6% เกาหลีใต้ ลบ 10.6% สิงคโปร์ ลบ 9.5% ไทย ลบ 7.75% อินโดนีเซีย ลบ 6.5% จีน ลบ 2.3% ไต้หวัน บวก 1.5% และเวียดนาม บวก 2.3%

การส่งออกที่เหลือของปีนี้มีปัจจัยสนับสนุนการฟื้นตัว ได้แก่ 1.แนวโน้มเศรษฐกิจและการค้าปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากสถิติการค้าไม่ว่าจะเป็นการขนส่งสินค้า การผลิต และคำสั่งซื้อสินค้าใหม่ 2.มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ จะรักษาสภาพคล่องและกระตุ้นให้การใช้จ่ายของประชาชนฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปเป็นผลดีต่อสินค้าไทยในอนาคต 3.กลุ่มสินค้าเกษตรและอาหารแปรรูปและสินค้าวิถีนิว นอร์มอล (New Normal) เช่น ถุงมือยาง ของแต่งบ้าน ที่ยังมีแนวโน้มไปได้ดี โดยสินค้ากลุ่มนี้ยังจะขยายตัวแม้ไตรมาส 4 ซึ่งปกติตัวเลขส่งออกจะลดลง เพราะยังมีอุปสงค์จากประเทศที่มีการติดเชื้อมากรองรับอยู่ จากการที่ไทยสามารถป้องกันโรคโควิดไม่ให้แพร่กระจายในประเทศได้เป็นอย่างดี สร้างความเชื่อมั่นให้กับสินค้าไทยอย่างมาก

 

ขณะเดียวกัน ยังมีปัจจัยที่กดดันการส่งออกหรือปัจจัยอื่นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่ 1.ความเสี่ยงของการปิดประเทศจากการแพร่ระบาดระลอกสอง แต่คาดว่าเป็นการปิดเมืองเฉพาะพื้นที่ รวมถึงความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดที่รุนแรงขึ้นในประเทศเพื่อนบ้านที่อาจกระทบต่อการค้าบริเวณชายแดน 2.ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐ-จีนยังเกิดได้ต่อเนื่อง และผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐที่สร้างความไม่แน่นอนต่อเศรษฐกิจระหว่างประเทศ 3.ราคาน้ำมันอยู่ระดับต่ำกว่าปีก่อนจะทำให้สินค้ากลุ่มที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันราคาไม่ขึ้น และ 4.แนวโน้มการนำเข้าสินค้าทุนและปัจจัยการผลิตในภาคอุตสาหกรรมของไทยลดลง บ่งบอกว่าการส่งออกภาคอุตสาหกรรมอาจต้องใช้เวลาฟื้นตัวมากกว่าภาคเกษตรและอาหาร

 

อย่างไรก็ตาม ดิฉันมองว่าภาคเอกชนไทยรับมือกับโควิดได้ดีพอสมควร โดยมีสินค้าดาวรุ่งหลายตัวเกิดขึ้น เช่น ถุงมือยาง อาหารสัตว์เลี้ยง เพิ่มเติมจากดาวรุ่งเดิม เช่น รถจักรยานยนต์ เครื่องดื่ม และการขนส่งระหว่างประเทศ เริ่มกลับมาคล่องตัวมากขึ้น แต่ต้องระวังไม่ให้เกิดการระบาดรอบสอง ถ้าไม่มีปัจจัยร้ายแรง การส่งออกไทยน่าจะเห็นแสงสว่างที่ปลายทางบ้าง ไม่ติดลบถึงสองหลักเหมือนที่บางฝ่ายคาดการณ์ และปีหน้าฟื้นตัวต่อไปได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง