รีเซต

เศรษฐกิจวัคซีนคึกคัก ชาติมหาอำนาจแห่ตุน วัคซีนโควิด-19

เศรษฐกิจวัคซีนคึกคัก ชาติมหาอำนาจแห่ตุน วัคซีนโควิด-19
TNN ช่อง16
29 ธันวาคม 2563 ( 09:52 )
243
เศรษฐกิจวัคซีนคึกคัก ชาติมหาอำนาจแห่ตุน วัคซีนโควิด-19

ภาพการส่งมอบวัคซีนต้านโควิด-19 ของบริษัทไฟเซอร์ของสหรัฐและบริษัทไบโอเอ็นเทคของเยอรมนี จากโรงงานผลิตที่ประเทศเบลเยี่ยม ไปถึงโรงพยาบาลในประเทศกลุ่มสหภาพยุโรป ทั้ง เยอรมัน ฮังการี และสโลวาเกียเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ก่อนที่จะทยอยฉีดให้ประชาชนกลุ่มแรกที่แต่ละประเทศจัดสรรให้ กลายเป็นภาพข่าวใหญ่ที่เผยแพร่ไปทั่วโลก แต่รายละเอียดเล็กๆ ที่ทำให้เรากังวัล คือการส่งมอบไม่ถึง 1 หมื่นโดส ในล็อตแรกเท่านั้น


ติดตามรายการเศรษฐกิจ Insight ตอน เศรษฐกิจวัคซีนคึกคัก ชาติมหาอำนาจแห่ตุน วัคซีนโควิด-19

หลายประเทศทยอยฉีดวัคซีนให้ประชาชนแล้ว ทั้งอังกฤษ สหรัฐฯ และล่าสุด หลายประเทศในสหภาพยุโรป ซึ่งแน่นอนว่าทั้งหมดเป็นกลุ่มประเทศร่ำรวย และมีความพร้อมสำหรับการเข้าถึงวัคซีนเป็นกลุ่มประเทศแรกๆ ของโลก โดยเฉพาะจาก 3 บริษัท หลักที่มีความคืบหน้ามากที่สุด คือ 

Moderna จากมหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ด อังกฤษ ราคา 50 ดอลลาร์สหรัฐ มีประสิทธิภาพต้านทานโควิดได้ 94% และต้องจัดเก็บภายใต้อุณหภูมิ 2-7 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิมาตรฐานสำหรับตู้เย็นที่ใช้ในครัวเรือน เก็บรักษาได้ 30 วัน และหากต้องการเก็บรักษาเพิ่มขึ้นเป็น 6 เดือน จำเป็นจะต้องเก็บไว้ที่อุณหภูมิ ติดลบ 20 องศาเซลเซียส 

ไฟเซอร์ อิงค์ บริษัทยาสัญชาติสหรัฐฯ และ ไบโอเอ็นเทค สัญชาติเยอรมันร่วมกันพัฒนาวัคซีนต้านโควิดที่มีความก้าวหน้า สนนราคาอยู่ที่  ราคา 18 ดอลลาร์สหรัฐ มีประสิทธิภาพต้านทานโควิดได้ 90% แต่ต้องจัดเก็บในอุณหภูมิ ติดลบ 70 องศาเซลเซียส และหากจัดเก็บไว้ในอุณหภูมิปกติ จะอยู่ได้ 5 วันเท่านั้น 

แอสตร้าเซนเนก้า สัญชาติอังกฤษ-สวีเดน ผลิตวัคซีนต้านโควิด ราคา 5 ดอลลาร์สหรัฐ มีประสิทธิภาพต้านโควิด-19 ได้ค่าเฉลี่ย 70% แต่มีกลุ่มตัวอย่างซึ่งประสบความสำเร็จ 90% ซึ่งนักวิจัยประเมินว่า หากมีการเพิ่มตัวยา อาจทำให้ประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นถึงระดับ 90% ได้ ซึ่งกระบวนการในการจัดเก็บ 2-8 องศาเซลเซียส ได้นานถึง 6 เดือน 

แม้ผลสำเร็จในการต้านทานเชื้อโควิด-19 จะน้อยที่สุดสำหรับ แอสตร้าเซนเนก้า ยังมีจุดเด่นด้านการเก็บรักษา และขนส่ง ซึ่งทำให้ราคาสุทธิของ แอสตร้าเซเนก้า ถูกที่สุด  

ทีมข่าวรายการเศรษฐกิจ Insight ทำการประเมินเศรษฐกิจ วัคซีนโควิด-19 เพื่อตั้งต้นให้เห็นภาพ โดยคำนวนราคาจาก 3 บริษัทนี้ ค่าเฉลี่ยวัคซีนต้านโควิด-19 จะอยู่ที่ 24 ดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้นถ้าจะให้ครอบคลุมประชากรโลก 7,300 ล้านคน ได้ในปี 2564 เท่ากับต้องใช้เงิน 350,400  ล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่อปี หรือคิดเป็นเงินไทย ราว 10.5 ล้านล้านบาท  นี่คือเม็ดเงินที่พร้อมจะไหลเข้าไปยังบริษัท ที่มีการผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 สำเร็จ ไม่เพียง 3 บริษัท ที่กล่าวมาข้างต้น  แต่ทุกบริษัท จากทุกประเทศที่พัฒนาวัคซีนโควิด-19 สำเร็จ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่ร่ำรวย ต่างมีความพร้อมจ่ายเงินทันที 

รายการเศรษฐกิจ Insight พามาดู กำลังซื้อของกลุ่มประเทศร่ำรวยของโลก ซึ่งสั่งจองวัคซีนโควิด-19 แล้ว หนีไม่พ้นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก อย่างสหรัฐฯ ที่มีประชากร 328 ล้านคน ขณะนี้มีการจองวัคซีนไปแล้วกว่า 1,010 ล้านโดส คิดคร่าวๆ ครบ 100% ของประชากรทั้งหมดในสหรัฐฯ จะต้องใช้ 662 ล้านโดส ที่เหลืออีก เกือบ 400 ล้านโดสเป็นวัตถุประสงค์อื่นๆ เช่น การฉีดให้นักลงทุน นักท่องเที่ยว ต่างๆ ที่เดินทางเข้าประเทศสหรัฐฯ เป็นต้น 

ตามมาด้วย อังกฤษ รัฐบาลอังกฤษ ออกมาระบุว่า จนถึงขณะนี้ ได้จัดซื้อวัคซีนเป็นจำนวน 357 ล้านโดสจากบริษัทผู้พัฒนาวัคซีน 7 แห่ง ในจำนวนนี้ ครอบคลุมประชากรทั้งหมด 68 ล้านคน ของอังกฤษ ซึ่งวัคซีน ประกอบไปด้วย วัคซีนจากไฟเซอร์ และไบโอเอ็นเทค 40 ล้านโดส และ โมเดนา 7 ล้านโดส และแน่นอนว่า อังกฤษจะได้สิทธิ์วัคซีนจาก แอสตร้าเซนเนก้า ที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ด ประเทศของตนเองด้วย 

ญี่ปุ่น สั่ง 290 ล้านโดส ครอบคลุมประชากรทั้งหมด 126 ล้านคน และยังมีเหลือสำหรับบริหารจัดการได้อีก เช่นเดียวกับแคนาดา ที่สั่งไปแล้ว 96 ล้านคน ครอบคลุมประชากรทั้งหมดในประเทศ 37 ล้านคน และยังเหลือให้บริหารจัดการได้อีก 

ขณะที่กลุ่มสหภาพยุโรป มีการสั่งซื้อวัคซีนเช่นกัน 300 ล้านโดส แบ่งเป็นวัคซีน บริษัทไฟเซอร์และบริษัทไบโอเอ็นเทค 200 ล้านโดส และวัคซีนอื่นๆ 100 ล้านโดส แน่นอนยังไม่ครอบคลุมประชากรทั้งหมด 

อีกกลุ่มหนึ่ง จะเป็นกลุ่มประเทศที่สั่งจองวัคซีนต้านโควิด-19 แต่ไม่เพียงพอสำหรับประชากรในประเทศของตนเอง โดยประเทศที่มีการสั่งมากที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากสหรัฐฯ คือ ประเทศอินเดีย มีการสั่งจองทั้งสิ้น 500 ล้านโดส ครอบครุมประชาชน 250 ล้านคน แต่ประชากรในอินเดียมีมากถึง 1,386 ล้านคน แน่นอนว่า ครอบคลุมประชากรไม่ถึง 25% ของประชากรทั้งหมดของอินเดีย 

ขณะที่บราซิล สั่ง 100 ล้านโดส ไม่ถึง 25% ของประชากรทั้งหมดเช่นกัน // อินโดนีเซีย สั่งไป 100 ล้านโดสเช่นกัน ฉีดให้ประชากรได้ 50 ล้านคน จากประชากรทั้งหมด 274 ล้านคน 

รัฐบาลไทย เองสั่งจองซื้อวัคซีนบริษัท แอสตราเซเนกา งบประมาณ 6 พันล้านบาท ได้วัคซีนจำนวน 26 ล้านโดส ครอบคลุมประชากร 13 ล้านคน คาดว่าจะได้ใช้ในช่วงกลางปี 2564 และชืลี สั่งซื้อ 10 ล้านโดส ครอบคลุม 5 ล้านคน จากประชากรทั้งหมด 19 ล้านคน เกิน 25% มานิดหน่อย 

2 ประเทศมหาอำนาจของโลก อย่างจีน และรัสเซีย ซึ่งมีการวิจัยและพัฒนาวัคซีน ของประเทศตนเองมาอย่างต่อเนื่อง และเริ่มใกล้เคียงกับการนำมาใช้กับประชากรทั่วไปแล้วเช่นกัน 

เราไปเริ่มที่ วัคซีน สปุตนิก ไฟว์ วัคซีนชนิดแรกของโลก ที่ได้รับการอนุมัติให้ฉีดให้ประชาชนทั่วไปได้ โดยรัฐบาลรัสเซีย และเริ่มมีการฉีดเมื่อวันที่ 5 ธ.ค.ที่ผ่านมา แม้หลายประเทศจะไม่ให้ความเชื่อมั่น เพราะรัสเซียเร่งกระบวนการเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะขั้นการทดสอบในประชาชนทั่วไป  สถาบัน ‘กามาเลยา’ ซึ่งเป็นผู้พัฒนา สปุตนิก-ไฟว์ ระบุว่า วัคซีน สามารถต้านโควิด-19 ได้ 91-95% และมีราคาไม่ถึง 10 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อโดส ซึ่งทางการรัสเซียเผย มี 20 ประเทศให้ความสนใจสั่งจองวัคซีน สปุตนิก ไฟว์

ขณะที่ บริษัท  Sinovac Biotech ในประเทศจีน มีการพัฒนาวัคซีน ต้านโควิด-19 แถลงเมื่อ 25 ธ.ค.ที่ผ่านมา ว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพในการต้านไวรัสสูงถึง 91.25% หลังทำการทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 3 ในตุรกี กลายเป็นบริษัทแรกในประเทศจีน ที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 และเป็น บริษัทที่ 5 ของโลก ซึ่งตุรกี เป็นประเทศแรกที่ตกลงสั่งซื้อวัคซีนจากจีนแล้ว โดยสนนราคาอยู่ที่ราวๆ 2,000บาท ต่อ 2 โดส 

 

ส่วนประเทศไทย ต่อเนื่องจากการสั่งซื้อวัคซีน 26 ล้านโดสจากแอสตราเซเนก้า ไทยจะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อการผลิตในประเทศไทย โดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทของประเทศไทย จะเป็นผู้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี คาดว่า อีก 5-6 เดือน จะเริ่มผลิตได้และขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของประเทศไทย และน่าจะมีวัคซีนใช้ได้ราวครึ่งปีแรกของปี 2564 เพิ่มเติมจากคำสั่งซื้อ 26 ล้านโดสในปัจจุบัน ทั้งนี้  สยามไบโอไซเอนซ์ มีกำลังการผลิตได้ปีละ 180-200 ล้านโด๊ส หรือเดือนละ 15 ล้านโดส ครอบคลุมประชากรทั้งประเทศ หากคำนวนมูลค่าตาม ราคาต้นทุนที่ทาง AstraZeneca จำหน่ายให้กับประเทศต่างๆ ทั่วโลก คิดเป็นมูลที่ผลิตในประเทศไทย 27,000 ล้านบาท จะบอกว่านี่คือเศรษฐกิจวัคซีนของประเทศไทยระยะแรกก็ไม่ผิด  


นอกจากนี้ ประเทศไทย ยังมีเดินหน้าผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 อีก 7 รูปแบบ ประกอบด้วย 

1.แบบmRNA (เอ็มอาร์เอ็นเอ) พัฒนาโดยศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางวิจัยและพัฒนาวัคซีน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งอยู่ในขั้นตอนเตรียมการทดลองในมนุษย์ระยะที่หนึ่ง คาดว่าจะเริ่มในราวช่วงสงกรานต์ปี 2564 

2. แบบ DNA พัฒนาโดยบริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด อยู่ระหว่างการเตรียมการทดลองในมนุษย์เช่นเดียวกัน โดยจะไปทดลองระยะที่ 1 ในประเทศออสเตรเลีย ก่อนจะกลับมาทดสอบในคนระยะที่ 2 ที่ประเทศไทย 

3.แบบโปรตีนซับยูนิต(Protein Subunit) พัฒนาโดยบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด ผ่านขั้นตอนทดสอบประสิทธิภาพ/ความปลอดภัยในสัตว์ทดลอง, สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ อยู่ในขั้นทดสอบการกระตุ้นภูมิคุ้มกันเบื้องต้นในสัตว์ทดลอง

4.วัคซีนเชื้อตาย(Inactivated) พัฒนาโดยองค์การเภสัชกรรม อยู่ในขั้นทดสอบการกระตุ้นภูมิคุ้มกันเบื้องต้นในสัตว์ทดลอง ,ศูนย์วิจัยและพัฒนาวัคซีน มหาวิทยาลัยมหิดล อยู่ในขั้นพัฒนาวัคซีนตัวเลือกระดับห้องปฏิบัติการ 

5.คล้ายอนุภาคไวรัส (Viral Like Particle:VLP) พัฒนาโดย คณะแพทยศาสตร์ ศิริราช และสวทช.อยู่ในขั้นทดสอบการกระตุ้นภูมิคุ้มกันเบื้องต้นในสัตว์ทดลอง 

6.แบบใช้ไวรัสเป็นพาหะ (Viral vector) พัฒนาโดยสวทช. อยู่ในขั้นทดสอบการกระตุ้นภูมิคุ้มกันเบื้องต้นในสัตว์ทดลอง 

7.แบบเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์(Live-attenuated) พัฒนาโดยสวทช.อยู่ในขั้นทดสอบการกระตุ้นภูมิคุ้มกันเบื้องต้นในสัตว์ทดลอง

นี่คือเศรษฐกิจวัคซีน เศรษฐกิจใหม่แห่งยุคนิวนอร์มอล ซึ่งเริ่ม ตั้งแต่ปลายปี 2563 และจะเห็นได้ชัดในปี 2564 ที่สำคัญ 5 บริษัท ที่มีผลสำเร็จในการพัฒนาวัคซีน และเริ่มฉีดให้ประชาชนทั่วไปแล้ว 4 บริษัท เหลือ 1 บริษัท คือ Sinovac Biotech จากประเทศจีน ที่ยังรอกำหนดการฉีดให้ประชาชนทั่วไปอีกครั้ง ยังต้องรอว่าจะมีความผิดปกติอะไรในขั้นนี้หรือไม่ รวมถึงบริษัทอื่นๆ ที่จะทยอยแถลงผลสำเร็จการพัฒนาวัคซีนขึ้นเรื่อยๆ 

ขณะที่ในประเทศไทย รัฐบาลยืนยัน จะได้รับวัคซีนฉีดเป็นการทั่วไป กลางปีหน้า ส่วนประเทศที่มีรายได้น้อย หลายประเทศยังเข้าไม่ถึงวัคซีน ซึ่งองการอนามัยโลกเองแสดงความเป็นห่วงในเรื่องนี้เช่นกัน ยังต้องติดตามต่อไปว่าทั่วโลกจะดำเนินการอย่างไร 

ติดตามรายการเศรษฐกิจ Insight ตอน เศรษฐกิจวัคซีนคึกคัก ชาติมหาอำนาจแห่ตุน วัคซีนโควิด-19

เกาะติดข่าวที่นี่

website: www.TNNTHAILAND.com
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง