รีเซต

‘สุพัฒนพงษ์-ปรีดี’ 2 รมต.เศรษฐกิจคนใหม่ ความหวัง‘บิ๊กตู่’

‘สุพัฒนพงษ์-ปรีดี’ 2 รมต.เศรษฐกิจคนใหม่ ความหวัง‘บิ๊กตู่’
ข่าวสด
6 สิงหาคม 2563 ( 17:40 )
209
‘สุพัฒนพงษ์-ปรีดี’ 2 รมต.เศรษฐกิจคนใหม่ ความหวัง‘บิ๊กตู่’

 

วิเคราะห์การมาของ‘สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์’รองนายกฯ/รมว.พลังงาน และ‘ปรีดี ดาวฉาย’ รมว.คลัง เอกชนขานรับ...ของจริง??

ไม่พลิกโผเมื่อแม่ทัพเศรษฐกิจคนใหม่ได้รับโปรดเกล้าฯ หนึ่งคือ‘นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์’ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน กับอีกหนึ่ง‘นายปรีดี ดาวฉาย’ รมว.คลัง โดยทั้ง 2 รายนี้ถูกมองมาตั้งแต่แรกว่าจะเข้ามานั่งเก้าอี้ทีมเศรษฐกิจ หลังรัฐมนตรีกลุ่ม “4 กุมาร” ไขก๊อกไปก่อนหน้านี้

ทั้งคู่ถือว่ามีโปรไฟล์ไม่ธรรมดา และเหมาะกับตำแหน่งอย่างลงตัว

สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ คร่ำหวอดในวงการพลังงานมานาน ตำแหน่งล่าสุดเป็นกรรมการและประธานกรรมการบริหารความเสี่ยง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กรรมการและกรรมการกำกับดูแลกิจการ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

ก่อนหน้านี้เป็นประธานกรรมการ บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

 

เคยดำรงตำแหน่งสำคัญ เช่น กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) สำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านบริหารธุรกิจ) ในคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) คณะกรรมการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.น.จ.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) กรรมการสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ฯลฯ

ปรีดี ดาวฉาย

ส่วนนายปรีดี ดาวฉาย ถือว่าเป็นกูรูด้านการเงิน-ธนาคารมายาวนาน จนได้รับเลือกเป็นประธานสมาคมธนาคารไทย คนปัจจุบัน นอกจากนี้เป็นลูกหม้อคนสำคัญของธนาคารกสิกรไทย ตำแหน่งสุดท้ายก่อนมาเป็นรัฐมนตรีคือกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย

ช่วงต้มยำกุ้ง เมื่อปี 2540 ดำรงตำหน่งผู้อำนวยการฝ่ายสินเชื่ออุตสาหกรรมการผลิตและบริการ และผู้อำนวยการฝ่ายควบคุมงานสินเชื่อและหลักประกัน ปี 2542 เป็นผู้อำนวยการฝ่ายปรับโครงสร้างหนี้ และผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายปรับโครงสร้างหนี้

อีก 2 ปีถัดมา ขึ้นเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ และรองกรรมการผู้จัดการ ในปี 2547 อีก 9 ปีต่อมาขึ้นเป็นกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ส่วนตำแหน่งอื่นๆ อาทิ เมื่อปี 2559 เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช.

ด้านภาคเอกชนเหมือนจะตอบรับทั้ง 2 คนดีทีเดียว เนื่องจากถือว่ามีประสบการณ์ทำงานตรงกับตำแหน่งที่ได้รับโดยตรง นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) มองว่าง 2 คนจะช่วยเรียกความเชื่อมั่นให้ภาคเอกชนได้ เนื่องจากมีความรู้ความสามารถและความเชี่ยวชาญเฉพาะทางตรงกับตำแหน่งหน้าที่ได้รับมอบหมาย ที่สำคัญมีประสบการณ์การทำงานในภาคเอกชนมาก่อน จึงเชื่อว่าจะเข้าใจปัญหาเศรษฐกิจที่ต้องการการฟื้นฟูอย่างเร่งด่วนอยู่ในขณะนี้

สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์

สำหรับปัญหาเร่งด่วนที่ต้องการให้ทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ดำเนินการทันที คือการตั้งคณะทำงานฟื้นฟูเศรษฐกิจ เหมือนกับศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 หรือ ศบค.ที่มีหน่วยงานรัฐและเอกชนเข้าร่วม เพื่อเข้ามาแก้ปัญหาอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะปัญหาปากท้องประชาชน และการขาดสภาพคล่องของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ทำให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

หากดูชื่อชั้นแล้วทั้ง‘นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์’ และ‘นายปรีดี ดาวฉาย’ ไม่มีปัญหากับตำแหน่งที่ได้รับแน่นอน แต่ต้องไม่ลืมว่านี่คือวงการ‘การเมือง’ไม่ใช่บริษัทเอกชน ที่เพียงแค่เก่ง หรือทำงานจริงจัง ก็เพียงพอแล้ว แต่แวดวงการเมืองมันมีกำลังภายในลึกลับซับซ้อนมากกว่านั้น และใช่ว่าเห็นดีแล้วทำได้เลย แต่ยังมีเงื่อนไขอื่นๆ มาเป็นตัวแปร ตัวสอดแทรกการตัดสินใจด้วย

รัฐมนตรีใหม่ทั้ง 2 คนจะทำงานท่ามกลางแรงเสียดทานเหล่านั้นได้มีประสิทธิภาพขนาดไหน ต้องจับตากันต่อไป??

ข่าวที่เกี่ยวข้อง