รีเซต

เลขาฯยูเอ็นเศร้า โลกไร้ผู้นำร่วมมือสู้ ‘โควิด’

เลขาฯยูเอ็นเศร้า โลกไร้ผู้นำร่วมมือสู้ ‘โควิด’
มติชน
1 พฤษภาคม 2563 ( 08:41 )
86
เลขาฯยูเอ็นเศร้า โลกไร้ผู้นำร่วมมือสู้ ‘โควิด’

นายอันโตนิอู กุแตเรซ เลขาธิการสหประชาชาติ(ยูเอ็น) แสดงความเสียใจต่อการขาดภาวะผู้นำจากชาติมหาอำนาจ รวมถึงความแตกแยกที่เกิดขึ้นในประชาคมระหว่างประเทศเกี่ยวกับการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่หรือโควิด-19 ซึ่งทำให้เกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับการให้การสนับสนุนที่เพียงพอต่อประเทศยากจน

ท่าทีของนายกุแตเรซมีขึ้นหลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ ได้เริ่มต้นทำสงครามน้ำลายกับจีนในการให้สัมภาษณ์พิเศษผ่านสำนักข่าวรอยเตอร์ช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมาโดยระบุว่า เขาเชื่อมั่นว่าการรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสดังกล่าวของจีนเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า จีนจะทำทุกอย่างที่ทำได้เพื่อให้แน่ใจว่าเขาจะพ่ายแพ้การเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนพฤศจิกายนนี้

นายกุแตเรซได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับบทบาทของผู้นำโลกว่า ประชาคมระหว่างประเทศได้เกิดการแบ่งแยกขึ้นในช่วงเวลาที่มีความสำคัญยิ่งกว่าครั้งใดๆ ที่เราจะต้องร่วมมือกันเป็นหนึ่งเดียว

“มันมีการแบ่งแยกออกจากกันของบรรดาผู้นำและชาติมหาอำนาจต่างๆ ซึ่งเห็นได้จากตัวอย่างมากมายของผู้นำซึ่งขณะนี้ไม่ประสานความร่วมมือกับประเทศอื่น และเรายังได้เห็นชาติมหาอำนาจที่ไม่ได้แสดงบทบาทผู้นำอย่างที่จำเป็นต้องทำด้วย ซึ่งผมหวังว่าเราจะเอาชนะเรื่องเหล่านี้ได้ในเร็ววันมากกว่าที่จะปล่อยให้เนิ่นนานออกไป”นายกุแตเรซกล่าว

เมื่อถูกถามว่าเขาวิตกกังวลเกี่ยวกับความตึงเครียดระหว่างสหรัฐและจีนว่าจะส่งผลกระทบกับความร่วมมือระหว่างประเทศหรือไม่ นายกุแตเรซกล่าวว่า ทั้งสองประเทศถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง และในความเห็นของเขาความช่วยเหลือสนับสนุนทั้งจากจีนและสหรัฐเพื่อต่อสู้กับโควิด-19 รวมถึงทุกมิติด้านการพัฒนาในแง่ของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งเขาหวังว่าสิ่งเหล่านี้จะเป็นไปได้ในอนาคต

เลขาธิการยูเอ็นกล่าวว่า สิ่งที่เขามีความวิตกกังวลเป็นพิเศษคือการให้ความช่วยเหลือที่ไม่เพียงพอจากประชาคมระหว่างประเทศต่อประเทศกำลังพัฒนา ทั้งในแง่ของการตอบสนองต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงการจัดการกับผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมอันเนื่องมาจากประเด็นดังกล่าว พร้อมกับระบุด้วยว่า ขณะนี้ยูเอ็นได้รับเงินสนับสนุนเพียงครึ่งหนึ่งของงบประมาณที่ได้ร้องขอการสนับสนุนจากประชาคมระหว่างประเทศ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อช่วยเหลือประชากรกลุ่มที่เปราะบางที่สุด

ทั้งนี้ 15 ชาติสมาชิกของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติใช้เวลามากกว่าหนึ่งเดือน ในความพยายามที่จะเจรจาเพื่อให้ได้ข้อมติที่เน้นย้ำความจำเป็นเร่งด่วนในการประสานความร่วมมือของประเทศต่างๆ ในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา รวมถึงขอให้มีการหยุดยิงเพื่อมนุษยธรรมในพื้นที่ที่มีความขัดแย้งทั่วโลก

โดยนักการทูตในยูเอ็นระบุว่าประเด็นปัญหาของการเจรจาเพื่อให้ได้ข้อสรุปติดอยู่ที่การอ้างถึงองค์การอนามัยโลก(ฮู) ซึ่งรัฐบาลสหรัฐภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เพิ่งประกาศระงับการให้เงินสนับสนุนโดยกล่าวหาว่าฮูทำงานเข้าข้างจีน ขณะที่สหรัฐยังไม่ได้เข้าร่วมกับข้อริเริ่มของฮูเมื่อสัปดาห์ก่อน ที่ผู้นำโลกได้ร่วมกันประกาศความร่วมมือที่จะเร่งกระบวนการการทดสอบ การผลิตยา และวัคซีนต้านไวรัสโคโรนาด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง