รีเซต

ตามรอย 'มังกรจีน' ที่ปรากฏในโบราณวัตถุล้ำค่า

ตามรอย 'มังกรจีน' ที่ปรากฏในโบราณวัตถุล้ำค่า
Xinhua
10 กุมภาพันธ์ 2567 ( 18:13 )
37
ปักกิ่ง, 10 ก.พ. (ซินหัว) -- ในวัฒนธรรมจีนโบราณ "มังกร" คือสัญลักษณ์ของความน่าเกรงขาม ความแข็งแกร่ง และพลังเหนือธรรมชาติ เป็นตัวแทนของความปรารถนาให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล ตลอดจนความสงบสุขและความเจริญรุ่งเรือง หลายพันปีที่ผ่านมาความเชื่อเรื่อง "มังกร" ล้วนปรากฏอยู่ในทุกมิติของสังคมจีน โดยสะสม หล่อหลอม และสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่องมาเนิ่นนาน จนกลายเป็นวัฒนธรรมที่ลุ่มลึกและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเมื่อเราเดินเข้าสู่พิพิธภัณฑ์สักแห่งในจีน ย่อมมีโอกาสพบเห็นโบราณวัตถุที่มีองค์ประกอบของมังกร ซึ่งเป็นดังสักขีพยานว่าสายโลหิตของบรรพชนชาวจีนนั้นได้รับการสืบทอดสู่อนุชนรุ่นแล้วรุ่นเล่าโดยมิขาดสาย สำนักข่าวซินหัวชวนผู้อ่านทำความรู้จักวัตถุโบราณ 6 ชิ้น ที่ได้รับอิทธิพลจากความเชื่อเรื่องมังกรในวัฒนธรรมจีน

1.เครื่องใช้ทรงมังกรสีครามจากหลุมศพชนชั้นสูง

สิ่งประดิษฐ์โบราณรูปทรงมังกร ซึ่งประกอบขึ้นจากเทอร์คอยส์ (turquoise) หรือพลอยสีขี้นกการเวก จำนวนกว่า 2,000 ชิ้น ซึ่งจากขนาดแล้วถือเป็นโบราณวัตถุที่หาพบได้ยากในช่วงแรกเริ่มของวัฒนธรรมการประดิษฐ์วัตถุทรงมังกร เครื่องใช้นี้ถูกขุดพบเมื่อปี 2002 จากหลุมศพของชนชั้นสูงที่แหล่งโบราณคดีเอ้อร์หลี่โถว ในเมืองลั่วหยาง มณฑลเหอหนานทางตอนกลางของจีนรายงานระบุว่า โบราณวัตถุสีฟ้าแกมเขียวสดใสชิ้นนี้มีความยาวรวมกว่า 70 เซนติเมตร ปัจจุบันถูกเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑ์โบราณคดีจีนในกรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของประเทศคณะนักโบราณคดีของจีนให้ฉายาสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ว่า "มังกรแห่งจีน" (Dragon of China) เนื่องจากมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวิทยาศาสตร์เป็นอย่างมาก

2.มังกรสัมฤทธิ์ท่านั่งเท้าแตะเมฆ

มังกรสัมฤทธิ์ทำจากทองเหลืองชิ้นนี้จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์มณฑลเฮยหลงเจียง โดยจุดเด่นคืออยู่ในท่านั่ง ส่วนหัวเชิดขึ้นเล็กน้อย ปากอ้าราวกับกำลังส่งเสียงคำราม ส่วนคอยื่นไปข้างหน้าเล็กน้อย ขาหน้าฝั่งซ้ายยกขึ้น กรงเล็บแตะบนเมฆ เผยให้เห็นท่าทีและรูปลักษณ์ที่สง่างามมังกรสัมฤทธิ์ในท่านั่งชิ้นนี้เป็นหนึ่งในของใช้ของจักรพรรดิสมัยราชวงศ์จินตอนต้นและตอนกลาง มีที่มาจากชนเผ่าชาวหนี่ว์เจินทางตอนเหนือของจีนและได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมชนชั้นสูงบริเวณที่ราบภาคกลางของจีน โดยมังกรถือเป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจของกษัตริย์ที่บรรดาจักรพรรดิแห่งราชวงศ์จินต่างชื่นชอบเมื่อพิจารณารูปลักษณ์ของมังกรอย่างใกล้ชิด การสร้างสรรค์มังกรขึ้นต้องดึงจุดเด่นของสัตว์หลากหลายชนิด อาทิ นก สัตว์น้ำ และสัตว์เลื้อยคลาน อีกทั้งยังเป็นการผสานและหลอมรวมวัฒนธรรมจากหลายชาติพันธุ์เข้าไว้ด้วยกัน สะท้อนถึงการบูรณาการและความหลากหลายในสายธารแห่งอารยธรรมจีน

3. มังกรทองยาตรา

มังกรสัมฤทธิ์สมัยราชวงศ์ถัง ลำตัวทำจากสัมฤทธิ์ แต่ด้านในมีแกนเหล็กหุ้มทองแดง ส่วนพื้นผิวด้านนอกชุบทองทั้งตัว รูปร่างของมังกรเหล่านี้มีความโค้งงอ ศีรษะเชิดขึ้น มีเขาโค้งงอไปด้านหลังแนบกับส่วนหัวมังกรทองขนาดเล็ก 6 ตัวกลุ่มนี้ถูกขุดพบที่หมู่บ้านเหอเจียชุน ในเมืองซีอัน มณฑลส่านซีทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์มณฑลส่านซี โดยถูกเรียกชื่อว่า "มังกรทองยาตรา" จุดเด่นของมังกรเหล่านี้คือมีขนาดเล็ก วิจิตรประณีต และมีรูปแบบการแกะสลักที่เรียบง่าย ต่างจากมังกรทั่วไปที่มักออกแบบให้ทรงพลังน่าเกรงขามในมุมมองของชาวจีนสมัยถัง มังกรเป็นสัตว์มงคลที่สามารถเหินฟ้าได้ ผลงานมังกรที่กำลังเยื้องย่างเหล่านี้ จึงขจัดภาพลักษณ์ของมังกรบินในความคิดของผู้คน สังเกตว่ามังกรทองแต่ละตัวมีขาเรียวยาวสี่ขาที่อยู่ในท่าวิ่ง ส่วนหัวเชิดขึ้นและมองไปข้างหน้า ขณะที่บางตัวอยู่ในท่าหยุดเดิน สะท้อนถึงจิตวิญญาณแห่งความกล้าหาญของชาวจีน ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ว่ามังกรในท่าเดินนี้อาจใช้ในพิธีเซ่นไหว้เพื่อขอพรให้ฝนฟ้าตกตามฤดูกาลและบังเกิดสันติสุขในสังคมอนึ่ง มังกรในวัฒนธรรมจีนสามารถเหินฟ้า แหวกว่ายธารา และวิ่งบนพื้นดินได้ ซึ่งสอดคล้องกับอัตลักษณ์และการให้คุณค่าของชนชาติจีนที่มีความมุ่งมั่นและมองสิ่งต่างๆ ในแง่บวก

4. คันฉ่องลายมังกรเหินเวหา

มังกรในวัฒนธรรมจีนพบได้ทั้งใน ตำนานปรัมปรา เทศกาลพื้นบ้าน รูปลักษณ์และลวดลายบนวัตถุต่างๆ หนึ่งในนั้นคือกระจกลายมังกรอายุหลายพันปีที่พิพิธภัณฑ์นครซีอัน ในมณฑลส่านซี โดยเป็นลายมังกรที่โบยบินอยู่กลางเวหาและมีก้อนเมฆรายล้อม ให้ความรู้สึกสดใหม่และมีชีวิตชีวา

5. ภาพวาดมังกรพ่นน้ำ

ม้วนภาพวาดที่ใช้น้ำหมึกเขียนลงบนผ้าไหมด้านล่างนี้ เป็นรูปมังกรพ่นน้ำที่เร้นกายอยู่กลางทะเลเมฆ ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจีนในกรุงปักกิ่ง

6. พุทธศิลป์พระภิกษุขี่มังกร

ภาพวาดพระภิกษุขี่มังกรเป็นหนึ่งในจิตรกรรมฝาผนังที่พบในถ้ำหินสลักโม่เกาหมายเลข 257 ในเมืองตุนหวง มณฑลกานซู่ทางตะวันตกของประเทศ แหล่งต้นกำเนิดพุทธศิลป์ถ้ำตุนหวง โดยในภาพมีมังกรขนาดใหญ่ 500 ตัวโบยบินอบู่บนท้องฟ้า ด้านบนมังกรแบกพระภิกษุท่านหนึ่งซึ่งมีกลดอยู่เหนือศีรษะวัฒนธรรมมังกรของชนชาติจีนมีความสมบูรณ์ในตัวเองและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เจริญรุ่งเรืองโดยไม่ได้เป็นของนิกายใดนิกายหนึ่ง แสดงถึงจิตวิญญาณอันเป็นอิสระของชาวจีน ความเคารพรักที่ชาวจีนมีต่อมังกรได้สร้างความสมัครสมานสามัคคีในหมู่ชน ปัจจุบัน มังกรไม่ใช่ภาพแทนของเทพเจ้าผู้ควบคุมลมฝนฟ้าดิน หรือสัญลักษณ์ของจักรพรรดิในยุคสังคมศักดินาอีกต่อไป ชาวจีนจำนวนมากได้มอบความหมายและนัยสำคัญใหม่ๆ ให้กับมังกร ซึ่งมุ่งแสดงถึงความปรารถนาในการฟื้นฟูชาติของประชาชนชาวจีน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง