เปิดรายละเอียด ครม.เห็นชอบลดค่าน้ำประปา-ค่าไฟฟ้า 2 เดือน
วันนี้ (5พ.ค.64) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตรการเยียวยาโควิด ลดค่าน้ำค่าไฟฟ้า หรือ มาตรการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน (ไฟฟ้าและน้ำประปา) โดยให้ความช่วยเหลือลดค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปาตามมาตรการเดิมที่ได้ดำเนินการในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม 2564 โดยให้มีผลในรอบบิล พฤษภาคม และมิถุนายน 2564
ค่าไฟฟ้า
ให้สิทธิค่าไฟฟ้าสำหรับบ้านอยู่อาศัยและ กิจการขนาดเล็ก (ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ) ดังนี้
ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน ให้สิทธิใช้ไฟฟ้าฟรี 90 หน่วยแรก
ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าเกิน 150 หน่วยต่อเดือน ให้ส่วนลดค่าไฟฟ้า ดังนี้
กรณีหน่วยการใช้ไฟฟ้าน้อยกว่าหรือเท่ากับ ใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนเมษายน 2564 ให้คิดค่าไฟฟ้าตามหน่วยการใช้ไฟฟ้าจริง
กรณีหน่วยการใช้ไฟฟ้ามากกว่าใบแจ้งค่าไฟฟ้า เดือนเมษายน 2564 ให้คิดค่าไฟฟ้าตามหน่วยการใช้ ดังนี้
สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 500 หน่วยต่อ เดือน คิดค่าไฟฟ้าเท่ากับหน่วยการใช้ไฟฟ้าของใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนเมษายน 2564
สำหรับผู้ใช้ ไฟฟ้ามากกว่า 500 หน่วยต่อเดือน แต่ไม่เกิน 5,000 หน่วยต่อเดือน ให้คิดค่าไฟฟ้าเท่ากับหน่วยการใช้ ไฟฟ้าของใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนเมษายน 2564 บวกด้วยหน่วยการใช้ไฟฟ้าที่มากกว่าหน่วยการใช้ไฟฟ้า ใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนเมษายน 2564 ในอัตราร้อยละ 50
สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้ามากกว่า 2,000 หน่วย ให้คิดค่าไฟฟ้าเท่ากับหน่วยการใช้ไฟฟ้าของใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนเมษายน 2564 บวกด้วยหน่วย การใช้ไฟฟ้าที่มากกว่าหน่วยการใช้ไฟฟ้าของใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนเมษายน 2564 ในอัตราร้อยละ 70 โดยให้เป็นส่วนลดค่าไฟฟ้าก่อนการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม
ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทกิจการขนาดเล็ก (ไม่รวมส่วน ราชการและรัฐวิสาหกิจ) ให้สิทธิใช้ไฟฟ้าฟรี 50 หน่วยแรก
ค่าน้ำประปา
ให้ลดค่าน้ำประปาลงร้อยละ 10 เฉพาะ บ้านที่อยู่อาศัย และกิจการขนาดเล็ก (ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ) สำหรับใบแจ้งหนี้ค่าน้ำประปาประจำเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน 2564
ทั้งนี้ เห็นควรให้หน่วยงานรับผิดชอบ ได้แก่ การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การประปานครหลวง และการประปาส่วนภูมิภาค ดำเนินการตามมาตรการ บรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน (ไฟฟ้าและน้ำประปา) โดยขอรับสนับสนุน แหล่งเงินเพื่อดำเนินตามมาตรการดังกล่าว ภายใต้กรอบวงเงินรวมไม่เกิน 10,000 ล้านบาท ตามขั้นตอนของพระราชกำหนดฯ ต่อไป