“เอลนีโญ” อาจหวนคืนฤดูร้อน 2569 คนไทยต้องเตรียมรับมือภัยร้อน-ภัยแล้ง

เอลนีโญอาจกลับมาในฤดูร้อน 69 เตือนคนไทยเตรียมรับมือภัยร้อน และ ภัยแล้งรุนแรง
ประเทศไทยยังคงเผชิญกับสภาพอากาศที่แปรปรวนอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด รศ. ดร.วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญงานวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเกษตรโพสต์ข้อมูลจาก ศูนย์พยากรณ์อากาศระยะกลางของยุโรป (ECMWF) และ Climate Prediction Center ของสหรัฐฯ เตือนว่า
เอลนีโญอาจกลับมาในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2569 โดยแนวโน้มอุณหภูมิปี 2568 มีค่าค่อนข้างสูงกว่าค่าเฉลี่ย และหลายพื้นที่อาจเผชิญฝนทิ้งช่วงในฤดูฝนปีนี้ ก่อนเข้าสู่ฤดูแล้งที่รุนแรงขึ้นในปีหน้า
รศ. ดร.วิษณุ ได้เปิดเผยรายชื่อพื้นที่เสี่ยงภัยฝนทิ้งช่วง ฝนตกน้อยกว่าปกติ ประจำปี 2568 ทั่วประเทศ
พื้นที่เสี่ยงภัยฝนทิ้งช่วงปี 2568
มิ.ย. 68: ภาคตะวันออก ภาคใต้ทั้งสองฝั่ง ภาคตะวันตกตอนล่าง และภาคเหนือฝั่งตะวันตก (ฝนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย)
ก.ค. 68: แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ตาก กาญจนบุรี ต้องระวังฝนทิ้งช่วง
ส.ค. 68: ภาคตะวันออก ภาคกลางตอนล่าง ภาคเหนือ และตะวันตก ยังเผชิญฝนน้อยกว่าปกติ
คาดการณ์ฝนรายเดือน มิ.ย. - พ.ย. 68
ก.ย. 68: ส่วนใหญ่ฝนเท่าค่าเฉลี่ย ยกเว้นตราด จันทบุรี ภาคใต้ตะวันออก และภาคเหนือตอนล่างที่ฝนน้อย
ต.ค. - พ.ย. 68: ฝนเท่าค่าเฉลี่ยทั่วประเทศ ยกเว้นภาคใต้ที่ฝนอาจน้อยกว่าปกติ โดยเฉพาะ พัทลุง ตรัง
รศ. ดร.วิษณุ เปิดเหตุผลทำไมต้องวางแผนใช้น้ำข้ามปี
แม้ฤดูฝนปีนี้จะมีฝนใกล้เคียงค่าปกติ แต่ปัญหาฝนทิ้งช่วงจะทำให้แหล่งน้ำธรรมชาติไม่อุดมสมบูรณ์เท่าที่ควร รัฐและเกษตรกรจำเป็นต้องวางแผนบริหารจัดการน้ำล่วงหน้า เพื่อเตรียมรับมือภัยแล้งและความต้องการใช้น้ำที่อาจสูงขึ้นในปี 2569 เมื่อเอลนีโญกลับมาอีกครั้ง
สรุป: ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สภาพอากาศที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด ฝนทิ้งช่วงในปี 2568 อาจเป็นสัญญาณเตือนให้เตรียมรับมือภัยแล้งในปี 2569 จากเอลนีโญที่อาจกลับมาอย่างเต็มรูปแบบ คนไทยควรวางแผนการใช้น้ำอย่างรอบคอบ พร้อมติดตามสถานการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างต่อเนื่อง