รีเซต

ม.ขอนแก่น จับมือ “มิส ลิลลี่” พัฒนาผลิตภัณฑ์แอนโดรกราโฟไลด์ นาโน อิมัลชัน ต้านโควิดครั้งแรกของโลก

ม.ขอนแก่น จับมือ “มิส ลิลลี่” พัฒนาผลิตภัณฑ์แอนโดรกราโฟไลด์ นาโน อิมัลชัน ต้านโควิดครั้งแรกของโลก
มติชน
24 มีนาคม 2565 ( 15:03 )
85

เมื่อวันที่ 24 มีนาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่น จับมือมิส ลิลลี่ (Miss Lily) คิดค้นเทคโนโลยีแอนโดรกราโฟไลด์ นาโน อิมัลชัน ได้เป็นครั้งแรกของโลก ซึ่งสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพสารออกฤทธิ์สำคัญในฟ้าทะลายโจร ใช้สำหรับต้านไวรัสโควิด พร้อมเร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ออกวางจำหน่ายเร็วๆ นี้

 

รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด ทำให้ชื่อของสมุนไพรฟ้าทะลายโจร กลายเป็นความหวังในการบรรเทาอาการของผู้ป่วย เพราะมีสรรพคุณที่ป้องกัน รักษาอาการหวัด และยังยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัส โดยสารสำคัญในฟ้าทะลายโจรที่ให้ฤทธิ์ป้องกันและยับยั้งเชื้อโควิดได้ก็คือ ‘แอนโดรกราโฟไลด์’ (Andrographolide) ซึ่งทุกวันนี้ สารนี้ได้รับความสนใจในระดับสากล มีการนำมาพัฒนามากยิ่งขึ้นด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ และมีงานวิจัยข้อมูลทางการแพทย์มากมายในต่างประเทศ มหาวิทยาลัยขอนแก่นเอง

 

โดยฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษาก็ได้ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสารดังกล่าวมาโดยตลอด จนล่าสุดประสบความสำเร็จในการคิดค้นแนวทางการนำสารแอนโดรกราโฟไลด์มาใช้ให้เกิดประโยชน์กับร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยอยู่ในรูปแบบนาโนอิมัลชัน (nano-emulsion)”

 

ด้าน ศ.ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา รองอธิการบดี ฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยถึงข้อมูลวิจัยว่า แอนโดรกราโฟไลด์ที่เป็นสารในกลุ่มไดเทอร์ปีนแลคโตน (Diterpene Lactone) เป็นสารออกฤทธิ์สำคัญที่พบในสมุนไพรฟ้าทะลายโจร (Andrographis paniculate) ที่มีรายงานทางวิชาการทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศว่า มีฤทธิ์ลดไข้ ต้านการอักเสบ และต้านเชื้อไวรัส เป็นสารที่ให้รสขม ปัจจุบันมีการใช้สมุนไพรฟ้าทะลายโจรจากใบ หรือส่วนอื่นๆ หรือสารสกัดหยาบในรูปยาผงแบบอัดเม็ดและแคปซูล อย่างแพร่หลายในประเทศไทย

 

อย่างไรก็ตาม การใช้ในรูปแคปซูลดังกล่าว จะมีแอนโดรกราโฟไลด์ที่เป็นสารสำคัญอยู่ประมาณ 1.38-3.21% ขึ้นกับสถานที่ปลูก และเนื่องด้วยเป็นสารที่ไม่ละลายในน้ำ จึงทำให้สารแอนโดรกราโฟไลด์ถูกดูดซึมและนำไปใช้ประโยชน์ในร่างกายได้เพียง 2.67% จึงทำให้ต้องรับประทานครั้งละ 4 แคปซูล และต่อเนื่องวันละ 4 ครั้ง รวม 12 แคปซูล/วัน หรือให้ได้ปริมาณผงยา 6,000 มิลลิกรัม/วัน ซึ่งเทียบเท่ากับสารแอน โดรกราโฟไลด์ 60 มิลลิกรัม/วัน”

“ทีมงานได้ทำการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์แอนโดรกราโฟไลด์บริสุทธ์ (>98%) ด้วยเทคโนโลยีนาโนอิมัลชัน ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดูดซึมขึ้นอีกหลายเท่า ทำให้ใช้ปริมาณเพียงเล็กน้อยแต่มีประสิทธิภาพในการทำงานในระดับสูง ลดความเสี่ยงของการรับประทานสมุนไพรในรูปปกติในปริมาณมากเกินขนาด (over dose) เป็นการนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีจากงานวิจัยมาใช้ประโยชน์และต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ในการดูแลสุขภาพของคนไทยในสถานการณ์โควิด-19 ได้อย่างแท้จริง”

ดร.นพรัตน์ อินทร์วิเศษ หัวหน้าทีมวิจัย บริษัท มิส ลิลลี่ จำกัด กล่าวว่า เทคโนโลยีนาโนอิมัลชันถูกใช้ในหลายผลิตภัณฑ์มาเป็นเวลานานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเครื่องสำอางค์ และยารักษาโรค แต่ยังไม่มีการนำสารแอนโดรกราโฟไลด์มาพัฒนาในรูปแบบนี้ ซึ่งงานวิจัยเกือบทั้งหมดเป็นการศึกษาประโยชน์ทางยาของสารแอนโดรกราโฟไลด์ในรูปแบบผง แม้การทำนาโนอิมัลชันในห้องปฏิบัติการเองก็ยังประสบกับปัญหาหลายอย่าง เช่น การทำให้อนุภาคมีขนาดเล็กกว่า 100 นาโนเมตรมีความสม่ำเสมอ

นอกจากนี้ ความคงตัว (stability) ของสารละลายก็เป็นเรื่องที่ทำได้ยากเช่นกัน ในการทดลองต้องหาชนิดสารและปริมาณที่เหมาะสม และต้องปรับความเป็นกรดด่างเพื่อให้สารไม่เกิดการออกซิเดชัน และไม่เป็นกรดมากจนเป็นอันตราย รวมถึงต้องปรุงแต่งรสชาติเพื่อลดความขมของสารแอนโดรกราโฟไลด์ และมีรสชาติที่ใช้ได้กับทุกวัย”

ที่ยากยิ่งกว่านี้คือการแปลงกระบวนการผลิตในห้องปฏิบัติการไปสู่โรงงานผลิต ซึ่งพบอุปสรรคหลายอย่างเนื่องจากเครื่องมือในห้องปฏิบัติการมีความทันสมัย และมีความคล่องตัวในการทำงานสูง ไม่ว่าจะเป็นเครื่อง high speed homogenizer หรือเครื่อง ultrasonic ที่สามารถปรับความเร็วรอบที่สูงถึง 10,000 รอบ/นาที ซึ่งทำให้การผลิตในห้องปฏิบัติการมีคุณภาพที่ดีและสม่ำเสมอ ในขณะที่เครื่องจักรในโรงงานผลิตส่วนใหญ่ในประเทศไทย ไม่สามารถผลิตสินค้าได้ตามมาตรฐานที่กำหนดไว้

“ทางมิส ลิลลี่จึงจำเป็นต้องส่งทีมวิศวกร เข้ามารับการถ่ายทอดกระบวนการผลิตจากห้องปฏิบัติการไปสู่โรงงานผลิต โดยเข้าไปให้โรงงานดัดแปลงเครื่องจักรให้สามารถผลิตสินค้าออกมาได้ตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ นี่คือสิ่งที่ยากส่วนหนึ่งของการทำงานวิจัยออกไปสู่ตลาด เพราะขาดความเชื่อมโยงงานวิจัยจากห้องปฏิบัติการไปสู่กระบวนการผลิตในโรงงาน”

หลังจากนี้ มหาวิทยาลัยขอนแก่นจะเดินหน้าความร่วมมือกับบริษัท มิส ลิลลี่ จำกัด บริษัทอีคอมเมิร์ซด้านดอกไม้แห่งแรกของประเทศไทย เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพออกสู่ตลาด โดยมุ่งเน้นในการสร้างประสบการณ์ใหม่ที่สามารถตอบโจทย์ด้านสุขภาพให้กับผู้บริโภค ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่จะพัฒนาขึ้นมานั้นจะสอดคล้องกับทิศทางความต้องการของการอุปโภคบริโภคในปัจจุบัน ซึ่งมหาวิทยาลัยฯ จะมีการแถลงข่าวในโอกาสต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง