รีเซต

TQR แตกไลน์ผุดบริษัทใหม่ลุยธุรกิจอบรม-เรียนรู้ออนไลน์ เติบโตดี รับเทรนด์ล้อโควิด

TQR แตกไลน์ผุดบริษัทใหม่ลุยธุรกิจอบรม-เรียนรู้ออนไลน์ เติบโตดี รับเทรนด์ล้อโควิด
มติชน
25 สิงหาคม 2564 ( 16:42 )
63

นายชนะพันธุ์ พิริยะพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ที คิว อาร์ จำกัด (มหาชน)  หรือ TQR ผู้ให้บริการนายหน้าประกันภัยต่อ (Reinsurance Broker) แบบครบวงจร เปิดเผยว่า ได้จัดตั้งบริษัท อาร์สแควร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนกับบริษัท คอร์สสแควร์ จำกัด  โดย TQR ถือหุ้นในสัดส่วน 55%  เพื่อประกอบธุรกิจให้บริการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อการศึกษา และการเรียนรู้ออนไลน์ (Online Learning Solutions) โดยมีการนำเทคโนโลยีที่สามารถระบุตัวตนผู้ใช้งานหรือ Face Detection and Face Recognition มาใช้งาน ซึ่งจะเป็นเทคโนโลยีที่สามารถช่วยในการตรวจสอบ และระบุตัวตนผู้เข้าอบรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น

 

 

 

ทั้งนี้ เทคโนโลยีดังกล่าวได้มีการนำมาพัฒนาใหม่ให้มีความเหมาะสมกับรูปแบบการใช้งานของบริษัทฯ ซึ่งอยู่ในขั้นตอนของการดำเนินการจดแจ้งลิขสิทธิ์เทคโนโลยีต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา และคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในไตรมาส 3/2564

 

 

 

“ธุรกิจใหม่ถือเป็นการต่อยอดธุรกิจนายหน้าประกันภัยต่อ โดยจะเป็นธุรกิจที่ให้บริการ และพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อการศึกษาฯ สำหรับการอบรมผ่าน web application และเทคโนโลยีช่วยวิเคราะห์พฤติกรรมการเรียนรู้ของผู้เข้าอบรม (Learner behavior) เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้ของผู้เข้าอบรมให้มากยิ่งขึ้น”

 

 

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TQR กล่าวอีกว่า บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายลูกค้ากลุ่มแรก จะเป็นกลุ่มบริษัทประกันภัยและหน่วยงานฝึกอบรมต่างๆ ที่ให้บริการจัดการอบรม ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจประกันภัย ซึ่งปัจจุบันเริ่มมีลูกค้าแสดงความสนใจแล้ว คาดว่าจะมีจำนวนผู้เข้ามาใช้งานในเทคโนโลยีใหม่ ไม่ต่ำกว่า 20,000 คน บริษัทฯคาดว่าจะสามารถรับรู้รายได้ตั้งแต่ไตรมาส 4/2564 และมั่นใจว่าธุรกิจใหม่จะช่วยสนับสนุนทั้งรายได้และกำไรให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งในระยะยาว

 

 

นางยุพเรศ พิริยะพันธุ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ที คิว อาร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TQR กล่าวว่า แนวโน้มธุรกิจให้บริการและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาฯ ยังมีโอกาสเติบโตได้ดี เนื่องจากสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย ประกอบกับองค์กร หน่วยงานต่างๆ รวมถึงผู้บริโภค มีการปรับตัวในการใช้ระบบออนไลน์ในการทำงานมากขึ้น รวมถึงการขยายตัวของอาชีพตัวแทน/ นายหน้าประกันภัยในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนผู้ถือใบอนุญาตตัวแทน/นายหน้าประกันภัยประมาณ 500,000 คน โดยการได้รับใบอนุญาตนั้น ต้องได้รับการอบรมและการสอบใบอนุญาต รวมถึงการอบรมเพื่อต่อใบอนุญาตจากสมาคมนายหน้าประกันภัยไทย หรือบริษัทประกันภัยอีกด้วย

 

 

“เรามองเห็นโอกาสการเติบโตของธุรกิจใหม่ จึงได้นำเทคโนโลยี Face Detection and Face Recognition เข้ามาใช้ในอุตสาหกรรมประกันภัย เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และในอนาคตคาดว่าจะพิจารณาขยายการให้บริการไปสู่ภาคธุรกิจอื่นๆ ที่มีความต้องการจัดการอบรมและการเรียนการสอน เช่น การอบรมการทำใบขับขี่ การเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย และการพัฒนาบุคลากรในองค์กรต่างๆ เป็นต้น ซึ่งเชื่อมั่นว่า การลงทุนในครั้งนี้ จะช่วยผลักดันผลงานให้เติบโตอย่างมั่นคง”

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง