ปูตินพูดครั้งแรกถึงตาลิบัน-อัฟกาฯ จี้โลกหยุดแทรกแซงภายใน หวั่นล่มสลาย
ปูตินพูดครั้งแรกถึงตาลิบัน - เมื่อวันที่ 20 ส.ค. คอมเมียร์ซันต์ รายงานว่า ประธานาธิบดีวลาดีมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย และนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล ผู้นำเยอรมนี แถลงข่าวร่วมกัน หลังการพบปะหารือที่พระราชวังเครมลิน ในกรุงมอสโก
นับเป็นการพบปะระหว่างสองผู้นำเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดการระบาดใหญ่ของโควิด-19 และเป็นการเยือนรัสเซียครั้งสุดท้ายของนางแมร์เคิลในฐานะนายกรัฐมนตรีเยอรมนี เนื่องจากจะไม่ลงสมัครชิงตำแหน่งผู้นำประเทศในการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 26 ก.ย. 2564
สำหรับประเด็นการหารือ ก่อนหน้านี้ เครมลินระบุว่า ผู้นำรัสเซียและเยอรมนีจะหารือสถานะและมุมมองการพัฒนาความร่วมมือทวิภาคีในหลายด้าน ตลอดจนพิจารณาประเด็นเฉพาะระหว่างประเทศและระดับภูมิภาค
ส่วนฝั่งเยอรมนีระบุถึงการพบปะจะหารือการต่อสู้การระบาดใหญ่ของโควิด-19 ตลอดจนความขัดแย้งทางตะวันออกของยูเครน สถานการณ์รอบเบลารุส วิกฤตในอัฟกานิสถาน ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญในเวลานี้ ตลอดจนโครงการท่อก๊าซนอร์ด-สตรีม 2 และยูเครนในฐานะประเทศทางผ่านท่อก๊าซรัสเซีย
ประธานาธิบดีปูตินระบุถึงปัญหาในอัฟกานิสถาน เป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญในการพูดคุยกับนางแมร์เคิล โดยกล่าวว่า กลุ่มตาลิบัน ซึ่งเป็นขบวนการก่อการร้ายผิดกฎหมายในรัสเซียนั้น ควบคุมอัฟกานิสถานเกือบทั้งหมดแล้ว "นี่เป็นความจริง จากความจริงที่คุณจะต้องจัดการต่อไป"
ผู้นำรัสเซียกล่าวว่า ตอนนี้สิ่งสำคัญที่สุดคือป้องกันกลุ่มผู้ก่อการร้ายเข้าไปในประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงภายใต้คราบของผู้ลี้ภัย และว่านักรบตาลิบันประกาศยุติการสู้รบไปแล้ว เริ่มฟื้นฟูความสงบเรียบร้อยของประชาชน และยังรับประกันความปลอดภัยต่อพลเมืองและชาวต่างชาติ จึงแสดงความหวังว่า กลุ่มตาลิบันจะปฏิบัติตามพันธกรณีของตน และว่าประชาคมระหว่างประเทศและคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติต้องติดตามกระบวนการนี้
ประธานาธิบดีปูตินเรียกร้องยุติ "นโยบายขาดความรับผิดชอบในการนำค่านิยมของคนอื่นจากภายนอก" และ "ความพยายามสร้างประชาธิปไตยในประเทศอื่นตามแบบคนอื่น" โดยไม่คำนึงถึงลักษณะทางประวัติศาสตร์ ศาสนา และชาติ
ผู้นำรัสเซียยังระบุว่า การนำค่านิยมจากภายนอกเข้ามาในอัฟกานิสถานนั้นไม่สร้างสรรค์ และการทดลองเช่นนี้จะนำไปสู่การล่มสลายของรัฐเท่านั้น
ส่วนนายกรัฐมนตรีแมร์เคิลเรียกการยึดอำนาจในอัฟกานิสถานของกลุ่มตาลิบันเป็น "ช่วงเวลาแห่งความสิ้นหวัง" และขอให้รัฐบาลรัสเซียให้ความสำคัญกับประเด็นความช่วยเหลือมนุษยธรรมในการเจรจากับกลุ่มตอลิบาน
"ดิฉันขอให้ฝ่ายรัสเซียในการเจรจากับกลุ่มตอลิบานชี้ให้เห็นถึงประเด็นความช่วยเหลือมนุษยธรรมจากสหประชาชาติในอัฟกานิสถาน เพื่อให้ความช่วยเหลือมนุษยธรรมดังกล่าว ในมุมของประเทศเรา ผู้ให้ความช่วยเหลือเรา นั่นคือบุนเดสแวร์ ตำรวจสหพันธรัฐเยอรมนี พวกเขาควรสามารถเดินทางออกจากอัฟกานิสถานได้" นางอังเกลาระบุ
ก่อนหน้านี้ ระหว่างการหารือกับนางแมร์เคิล ประธานาธิบดีปูตินกล่าวว่า เยอรมนียังเป็นหนึ่งในพันธมิตรหลักของรัสเซีย
"ผมต้องการบอกว่า สหพันธรัฐเยอรมนียังเป็นหนึ่งในพันธมิตรหลักสำหรับประเทศของเรา และทั้งในยุโรปและในโลกโดยรวม รวมถึงขอบคุณความมุมานะของคุณ (นางแมร์เคิล) ในช่วง 16 ปี ในฐานะนายกรัฐมนตรีเยอรมนี ในมิติของประเทศแล้ว สหพันธรัฐเยอรมนีสำหรับประเทศเราเป็นพันธมิตรทางการค้าและเศรษฐกิจอันดับที่สองรองจากจีน" ประธานาธิบดีกล่าวในช่วงเริ่มต้นของการหารือ ตามข้อมูลของเว็บไซต์เครมลิน
ผู้นำรัสเซียระบุว่า ทั้งสองฝั่งมีประเด็นมากมายที่ต้องการอภิปรายเป็นการส่วนตัว "ผมแน่ใจว่า นี่จะไม่เป็นเพียงการเยือนอำลาที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจของคุณ (นางแมร์เคิล) ที่จะไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีเยอรมนีต่อไป แต่ยังเป็นการเยือนที่เต็มไปด้วยเนื้อหาทางธุรกิจและจริงจัง" นายปูตินกล่าว
ขณะที่นางแมร์เคิลระบุว่า ต้องการหารือกับประธานาธิบดีวลาดีมีร์ ปูติน ถึงสถานการณ์ในอัฟกานิสถาน ลัตเวีย ความสัมพันธ์ทวิภาคีของรัสเซียและเยอรมนี ตลอดจนสถานะประชาสังคมในรัสเซีย และว่าเยอรมนีมีแผนที่จะรักษาการติดต่อกับรัสเซียต่อไป "แม้ว่าพวกเราจะไม่ความเห็นไม่ตรงกันก็ตาม เป็นการดีที่เราพูดคุยซึ่งกันและกัน" นางแมร์เคิลกล่าว