เปิดฉีดวัคซีนโควิดเด็ก 5-11 ปี ป่วย 7 กลุ่มโรค วันแรก แนะหากมีอาการหลังฉีด รีบพามา รพ.
รพ.เด็ก เปิดฉีดวัคซีนโควิดเด็ก 5-11 ปี ป่วย 7 กลุ่มโรค วันแรก จัดบรรยากาศผ่อนคลาย แต่งชุดมาสคอต-เปิดการ์ตูน แนะหากมีอาการเหล่านี้หลังฉีดรีบพามา รพ.
วันที่ 31 ม.ค.65 ที่ชั้น 12 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) มีการจัดฉีดวัคซีนโควิด 19 สำหรับเด็กอายุ 5-11 ปีที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค เป็นวันแรก โดยเป็นวัคซีนไฟเซอร์ สำหรับเด็กอายุ 5-11 ปี ขวดฝาสีส้ม ที่นำเข้ามาล็อตแรก 3 แสนโดส หลังผ่านการตรวจรับรองรุ่นการผลิตแล้วได้กระจายไปยังจุดฉีด รพ.ทั่วประเทศ
สำหรับบรรยากาศการฉีดวัคซีน มีผู้ปกครองที่สมัครใจพาเด็กมารับวัคซีนตั้งแต่เช้า ซึ่งเจ้าหน้าที่ของสถาบันฯ มีการแต่งชุดมาสคอตตัวการ์ตูนต่างๆ พร้อมเปิดการ์ตูนให้เด็กชมระหว่างรอ เพื่อสร้างความผ่อนคลายให้แก่เด็ก ไม่ให้เกิดความเครียด นอกจากนี้ ยังมีการจัดห้องฉีดวัคซีนแยกต่างหากป้องกันการมองเห็นของเด็ก เพื่อลดภาวะการเกิดอุปาทานหมู่
ส่วนขั้นตอนการเข้ารับบริการ คือ มาถึงจุดบริการเข้ารับการตรวจคัดกรอง เพื่อประเมินสภาพอาการผู้ป่วย ซึ่งข้อควรระวังที่ควรชะลอหรือเลื่อนฉีดไปก่อน คือ 1. ขณะป่วยมีไข้ ร่างกายอ่อนเพลีย ควรรักษาให้หายดีก่อน จนกว่าจะเป็นปกติ หรือ 2.เด็กที่มีโรคประจำตัวอาการรุนแรงที่อาจอันตรายถึงเสียชีวิต อาการไม่คงที่ ให้รักษาโรคประจำตัวให้ดีก่อน
หากสามารถเข้ารับการฉีดได้จะเข้าสู่ขั้นตอนการลงทะเบียน มีการเซ็นใบยินยอม จากนั้นจึงรอเข้าห้องฉีดวัคซีน และสังเกตอาการ 30 นาทีก่อนกลับบ้าน
โดยอาการหลังฉีดวัคซีนที่ควรรีบพามา รพ.ใกล้บ้านทันทีเพื่อประเมินอาการ คือ 1.กลุ่มโรคหัวใจในช่วง 2-7 วัน ได้แก่ เจ็บหน้าอก หายใจเร็ว เหนื่อยง่าย ใจสั่น ซึ่งตามสถิติมักพบในช่วงวันที่ 2 ของการฉีด แต่หากเกิดในวันแรกก็พามาได้เช่นกัน และ 2.กลุ่มอาการอื่น คือ ไข้สูงมากกว่า 39 องศาเซลเซียส ปวดหัวรุนแรง อาเจียนทานอะไรไมได้ เด็กซึมหรือไม่รู้สึกตัว
ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนโควิด 19 ในเด็กอายุ 5-11 ปี จะเริ่มจากเด็กกลุ่มที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มก่อน ได้แก่ 1.โรคอ้วน ที่มีภาวะทางเดินหายใจอุดกั้น 2.โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง รวมทั้งหอบหืดที่มีอาการปานกลางหรือรุนแรง 3.โรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง 4.โรคไตวายเรื้อรัง 5.โรคมะเร็งและภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ 6.โรคเบาหวาน และ 7.กลุ่มโรคพันธุกรรม รวมทั้งกลุ่มอาการดาวน์ เด็กที่มีภาวะบกพร่องทางระบบประสาทอย่างรุนแรง และเด็กที่มีพัฒนาการล่าช้า
ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงมีโอกาสติดเชื้อและเสียชีวิตสูง โดยจัดฉีดที่โรงพยาบาล ฉีด 2 เข็ม ห่าง 3-12 สัปดาห์ ตามดุลยพินิจของกุมารแพทย์ผู้ดูแล ซึ่งพิจารณาการฉีดให้เหมาะสมจากประวัติและอาการของผู้ป่วย
สำหรับเด็กอายุ 5-11 ปีที่ไม่มีโรคประจำตัวจะมีการจัดฉีดโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานต่อไป