เปิด 10 อันดับข่าวปลอม โยงหลอกออนไลน์ ดูดเงิน
นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในฐานะโฆษกกระทรวงฯ กล่าวถึงผลการมอนิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ระหว่างวันที่ 9 – 15 สิงหาคม 2567 พบข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 851,495 ข้อความ โดยมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) ทั้งสิ้น 288 ข้อความ
สำหรับช่องทางที่มีการพบเบาะแสมากที่สุด คือ ข้อความที่มาจาก Social Listening จำนวน 270 ข้อความ ตามมาด้วยการแจ้งเบาะแสผ่าน Line Official จำนวน 14 ข้อความ และผ่านช่องทาง Facebook จำนวน 4 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 168 เรื่อง และจากการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับผลการตรวจสอบกลับมาแล้ว 106 เรื่อง โดยในจำนวนนี้มีข่าวปลอมที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมออนไลน์ที่ประชาชนให้ความสนใจมากที่สุด จำนวน 10 อันดับ ได้แก่
อันดับที่ 1 : เรื่อง ธนาคารกรุงไทย สั่งยกเลิกการเช็กเครดิตบูโร หรือ แบล็กลิสต์
อันดับที่ 2 : เรื่อง ออมสินเปิดลงทะเบียนวงเงินให้ยืม ผ่านเพจ Goodlook
อันดับที่ 3 : เรื่อง การบินไทยเปิดรับสมัครพนักงานผ่านเพจ การบินไทย – รักคุณเท่าฟ้า ดอนเมือง
อันดับที่ 4 : เรื่อง เพจเฟซบุ๊ก HSH Public Company Limited เปิดให้ลงทุนหุ้นทองคำ กำกับดูแลโดย ก.ล.ต.
อันดับที่ 5 : เรื่อง แอปฯ ทางรัฐ เปิดช่องทาง TikTok ให้ติดตามข่าวสารเงินดิจิทัลวอลเล็ต
อันดับที่ 6 : เรื่อง รับสมัครงานพนักงานจองตั๋วเครื่องบิน รายได้ Part Time 400-1200 บาทต่อวัน และรายได้ Full Time 14,000-24,000 บาทต่อวัน
อันดับที่ 7 : เรื่อง PTT OR ฉลอง 1 ปี xplore wallet รับคูปองน้ำมัน 480 บาท เติมได้ทั่วประเทศไทยทุกสาขา
อันดับที่ 8 : เรื่อง กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เพิ่มเพจเฟซบุ๊ก จัดหา งานฝีมือ
อันดับที่ 9 : เรื่อง สำนักงาน ปปง. รับปรึกษาปัญหาไม่มีค่าใช้จ่าย ผ่านไลน์ ชื่อ สำนักงาน ปปง.
อันดับที่ 10 : เรื่อง ป.ป.ท. เปิดเพจเฟซบุ๊ก สำนักงานช่วยเหลือเดินเรื่องแจ้งเรื่องคดีออนไลน์พิเศษ
ทั้งนี้ข่าวปลอมที่เกี่ยวกับอาชญากรรมออนไลน์ จาก 10 อันดับ ข้างต้น ยังคงพบว่า ส่วนใหญ่เป็นข่าวที่มีการแอบอ้างถึงหน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะอันดับ 1 ที่แอบอ้างว่า ธนาคารกรุงไทย สั่งยกเลิกการเช็กเครดิตบูโร หรือ แบล็กลิสต์ นั้น ทั้งนี้ กระทรวง ดีอี ได้ประสานงานร่วมกับ ธ.กรุงไทย เพื่อตรวจสอบข้อมูลดังกล่าว พบว่า เป็นข้อมูลเท็จ ที่มีการเผยแพร่โดยบัญชี TikTok ชื่อ ghutrxsm0m3 ซึ่งบัญชีดังกล่าวไม่ใช่บัญชีของธนาคาร และธนาคารไม่ได้ปล่อยสินเชื่อผ่านช่องทางออนไลน์ใด ๆ ทั้งสิ้น ซึ่งหากหลงเชื่อโดยไม่ตรวจสอบรายละเอียดข้อเท็จจริง อาจถูกมิจฉาชีพหลอกลวงดึงข้อมูลส่วนบุคคล และอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินได้ หรือหากมีการแชร์ เผยแพร่ต่อๆกันไป อาจกระทบต่อประชาชนส่วนใหญ่ในสังคมได้” นายเวทางค์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ดีอี มีความห่วงใยประชาชน เรื่องความตระหนักรู้เท่าทันข่าวปลอมที่ถูกแพร่กระจายบนสื่อออนไลน์ โซเชียล ซึ่งหากขาดความรู้เท่าทัน ส่งต่อข้อมูลข่าวปลอม ทำให้เกิดการหลงเชื่อ สร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สิน หรือข้อมูลส่วนบุคคล และอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนในสังคมเป็นวงกว้าง ดังนั้นจึงควรตรวจสอบข้อเท็จจริงของข่าวหรือลิงก์เว็บไซต์ให้แน่ชัด โดยสามารถสอบถามผ่าน สายด่วน 1111 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง